พิษโควิด-19 กระทบลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ ดันหนี้ Re-entry เพิ่ม

02 ก.ค. 2564 | 13:01 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 20:32 น.

BAM ชี้โควิดรอบ 3 ดันหนี้ Re-entry เพิ่ม เดินหน้ายืดหนี้ถึงสิ้นปี 64 โอดครึ่งแรกปี รับซื้อหนี้น้อยกว่าปีก่อนครึ่งหนึ่ง แถมราคาไม่ตก เหตุุคู่แข่งเยอะ ชี้แนวโน้มเก็บหนี้ไตรมาส 2 จะดีกว่าไตรมาสแรก

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ (บสก.) หรือ BAM เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้ลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข จึงต้องกลับมาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กันต่อ (Re-entry) ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ท่องเที่ยว ร้านอาหาร อพาร์ทเม้นต์

 

ส่วนใหญ่ได้ลดหนี้ (แฮร์คัต) ไปแล้ว แต่ลูกค้ารับยอดหนี้ไม่ไหว ดังนั้นแนวทางขณะนี้ จึงยืดหนี้ออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 จากนั้นค่อยกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะอย่างโรงแรม 500 ห้อง แต่ขณะนี้มีอัตราเข้าพักไม่ถึง 1%

 

พิษโควิด-19 กระทบลูกหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ ดันหนี้  Re-entry เพิ่ม

 

สำหรับการดำเนินงานครึ่งแรกปีนี้ บสก.รับซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มาแล้วราว 1,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเจรจาอีกจำนวนมาก จากเป้าหมายที่จะรับซื้อทั้งปีอยู่ที่ 7,000-8,000 ล้านบาท โดยมองว่าเอ็นพีแอลของสถาบันการเงิน ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 มีอายุเฉลี่ย 2-3 ปี ส่วนใหญ่เป็นหนี้ไมโครเอสเอ็มอีมูลหนี้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย

“การรับซื้อหนี้ครึ่งปีแรก น้อยกว่าปีก่อน 50% แต่ราคาไม่ตก เพราะคู่แข่งเยอะ แม้ต้นทุนเราจะเพิ่มและกำไรบางลง แต่จะใช้วีธีบริหารจัดการด้วยการขายสินค้าออกให้เร็ว ซึ่งเป็นโอกาสผู้ซื้อ เพราะตอนนี้ราคาขายทรัพย์ลดลง"นายบรรยงกล่าว

 

ส่วนแนวโน้มการเรียกเก็บหนี้ไตรมาส 2 มองว่า โอกาสจะดีกว่าไตรมาสแรกที่ผ่านมา และไตรมาส 3 ควรจะดีกว่าไตรมาส 2” 

 

 สำหรับแนวทางการพักทรัพย์ พักหนี้นั้น นายบรรยงกล่าวว่า ลูกค้าบางรายไม่ต้องการโอนทรัพย์ชำระหนี้ และแนวทางโอนทรัพย์ชำระหนี้ไม่ใช่แนวทางเดียวสำหรับ

 

การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องดูกระแสเงินสดลูกค้า เพราะลูกค้าบางรายมีสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ในการดำเนินธุรกิจ (Non Core Assets) แต่บางรายก็ไม่มี Non Core Assets เช่น ที่ดินเปล่า หรือสินทรัพย์อื่นที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินธุรกิจ

 

ดังนั้น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จึงทำผสมผสานปนกันตามความต้องการของลูกหนี้กับเจ้าหนี้ที่ตรงกัน

หน้า 13  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564