E-money Cryptocurrency E-currency ความเหมือนที่แตกต่าง

20 พ.ย. 2563 | 13:45 น.
1.8 k

“เงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-money” หรือ “สกุลเงินดิจิทัล หรือ E-currency” หรืออีกคำหนึ่งอย่าง “คริปโตเคอร์เรนซี หรือ Cryptocurrency” แตกต่างกันอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ

ช่วงนี้ในหน้าสื่อ มีคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันโผล่ขึ้นมาให้สับสน อย่างคำว่า “เงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-money” หรือ “สกุลเงินดิจิทัล หรือ E-currency” บ้าง หรืออีกคำหนึ่งอย่าง “คริปโตเคอร์เรนซี หรือ Cryptocurrency” เชื่อว่า คำเหล่านี้ น่าจะสร้างความสับสนแก่ท่านทั้งหลายไม่มากก็น้อย วันนี้ “ภุชงค์ ธีรนันทราพร” สถาบันคุ้มครองเงินฝาก จะมีคำตอบ

 

1.E-money คือ เงินทั่วไปของเราๆ แต่ถูกแปลงรูปเปลี่ยนร่างให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์แล้วบันทึกมูลค่าในโลกดิจิทัล ซึ่งเป็นไปตามความหมายกฎหมายไทยและการตีความของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยการใช้งาน E-money จะใช้ผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ แอพพลิเคชั่นต่างๆ

 

ประการสำคัญของ E-money คือ มูลค่าของมัน เมื่อออกมาแล้วต้องคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่อเปลี่ยนรูป E-money ให้เป็น แบงก์หรือเหรียญ มูลค่า 20 บาท ก็คือ 20 บาทเท่าเดิม นั่นเป็นเพราะ E-money ก็คือเงินสดในรูปแบบดิจิทัลนั่นแหละ

 

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายเจ้าและให้บริการในหลายรูปแบบ โดยผู้ที่จะให้บริการ E-money ต้องได้รับอนุญาตจากธปท. ตามพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 เมื่อเราอยากจะใช้งาน E-money ก็เพียงแค่เติมเงินบาทเข้าไปในระบบของผู้ให้บริการ โดยผู้ให้บริการจะรับเงินบาทไว้แล้วบันทึกมูลค่าเงินที่เติมลงไปในสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รูปแบบของบัตร บาร์โค้ด หรือแอพพลิเคชั่น เพื่อให้เราไปใช้งานต่อไป

E-money Cryptocurrency E-currency ความเหมือนที่แตกต่าง

2.Cryptocurrency คือ เงินสกุลใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกดิจิทัล ซึ่งในโลกนี้ มีชื่อสกุลเงินดิจิทัลแบบนี้เยอะมาก หากจะยกตัวอย่างที่คุ้นชื่อ ก็อย่างเช่น บิตคอย (Bitcion) หรือ อีเธอเลียม (Ethereum)

 

สิ่งที่ Cryptocurrency แตกต่างจาก E-money ประการแรก มูลค่าของมันไม่คงที่ จะแปรเปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด ตัวอย่างเช่น บิตคอย ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 330,000 บาท ต่อ 1 บิตคอย

 

ประการถัดมา ผู้ออก Cryptocurrency เป็นได้ทั้งรัฐและเอกชน แต่โดยทั่วไปในปัจจุบัน เอกชนเป็นผู้สร้าง Cryptocurrency ของตัวเองขึ้นมาใช้งานภายในกลุ่มของตัวเอง และด้วยเหตุผลที่เอกชนสร้างสกุลเงินเหล่านี้ขึ้นมาด้วยตัวเอง ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศไม่ยอมรับ Cryptocurrency จนกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

 

ประการสุดท้าย Cryptocurrency ในสังคมไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ตามพระราชกำหนดการประกอบธธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เอกชนของไทยที่จะออก Cryptocurrency จะต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก่อน ปัจจุบันไทยมีผู้ออก Cryptocurrency แล้ว 2 รายได้แก่ บริษัท คอยส์ ทีเอช จำกัด ใช้ชื่อว่า Coins TH กับ บริษัท บิทาซซ่า จำกัด ใช้ชื่อว่า Bitazza

3. E-currency คือ เงินสกุลใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นบนโลกดิจิทัล โดยเนื้อแท้แล้ว E-currency ก็คือ Cryptocurrency แบบหนึ่ง แต่บริบทของสังคมไทย คำว่า E-currency จะใช้เฉพาะกับ Cryptocurrency ที่รัฐบาลหรือธนาคารกลางของแต่ละประเทศเป็นผู้ออก ถ้าหากจะเปรียบเทียบกับของที่ใกล้เคียงกันก็อาจเปรียบได้กับพันธบัตรรัฐบาล หรือพันธบัตรธปท. ซึ่งอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ไม่มีดอกเบี้ย

 

สิ่งที่ E-currency แตกต่างจาก Cryptocurrency คือ มูลค่าของ E-currency จะคงที่เสมอและไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ธปท. ออก E-currency ในโครงการอินทนนท์ มูลค่าของ E-currency นั้นอาจจะเป็น 1 ล้านบาทต่อ 1 E-currency ก็ได้ แต่มูลค่านี้จะตายตัวไม่เปลี่ยนแปลง

 

ประการถัดมา ผู้ออก E-currency มักจะเป็นรัฐบาลหรือธนาคารกลางของ ส่วนผู้ใช้งานจะเป็นไปตามผู้ออกกำหนด เช่น ธปท. ออก E-currency ปัจจุบันในขั้นทดลองและจำกัดผู้ใช้งานเฉพาะธนาคารพาณิชย์กับบริษัทเอกชนรายใหญ่เท่านั้น หรือจีน ซึ่งอยู่ในขั้นทดลองเช่นกัน แต่จุดประสงค์ต้องการให้ประชาชนใช้งานได้ทั่วไป

ประการสุดท้าย ไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่ออกมากำกับดูแลโดยตรง แต่เป็นเพราะผู้ออกเป็นรัฐ จึงสามารถสร้างความมั่นคงและมีความเชื่อมั่นกับผู้ที่ใช้งาน E-currency ได้โดยสภาพ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด่วน แบงก์ชาติออกมาตรการสกัดเก็งกำไรบาท

ธ.ก.ส.เริ่มจ่ายเงินประกันข้าวโพดแล้ววันนี้ 637.90 ล้านบาท

บล.ทิสโก้มองระยะสั้น หุ้นไทยขึ้นได้จำกัด

AQUA ชูดอกเบี้ย 5.75% ระดม 1,000 ล้าน

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,628 วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563