อัปเดตความเคลื่อนไหวนับตั้งแต่สำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) ได้บังคับให้ผู้ประกอบการส่งออกทุเรียนทุกล็อตที่นำเข้าจีนทุกด่าน จะต้องมีใบรับรอง (test report) ไม่มีสาร “Basic Yellow 2” หรือในวงการรเรียกสารตัวนี้ว่า “บีวาย-ทู” โดยมีบังคับใช้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2568 เป็นต้นมา ล่าสุดห้องปฏิบัติการในประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก เพื่อจะช่วยกันแก้ปัญหาการส่งออกทุเรียน ก่อนที่ผลผลิตล็อตใหญ่จะออกมาช่วงกลางปีนี้
นายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของรัฐเปิดดำเนินงานมานานกว่า 21 ปี มีเครื่องมือและระบบมาตรฐานสากล เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ความเคลื่อนไหวห้องปฏิบัติการในประเทศไทยในเวลานี้มีความตื่นตัวที่จะช่วยเหลือในการตรวจสอบทุเรียนไทยก่อนส่งออกไปขายที่ประเทศจีนที่เป็นตลาดใหญ่สุด ไม่ให้เกิดการสะดุด ล่าสุดทางเซ็นทรัลแล็บไทย ได้หัวเชื้อ“บีวาย-ทู” ที่ได้รับมาตรฐานและมีใบรับรองแล้วมาจากบริษัทพันธมิตรจากต่างประเทศ เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 14 มกราคม ที่ผ่านมา
“ทางเซ็นทรัลแล็บได้สินค้ามาเร็ว และได้รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตรรับทราบแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมการ ขั้นตอนการทำงาน (flow chart)เพื่อนำเสนออธิบดี และทางอธิบดีฯจะแจ้งให้ทางจีนรับทราบ เพื่อให้รับรองห้องปฏิบัติการของไทย หากทางจีนให้ความเห็นชอบแล้ว ก็พร้อมที่จะเปิดให้บริการได้ทันที ส่วนราคาและค่าใช้จ่ายกำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกรมวิชาการเกษตร”
ขณะที่แหล่งข่าวกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เป็นประธานในการประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการทดสอบสาร Basic Yellow 2 ในทุเรียนสดเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่สามารถดำเนินการทดสอบสาร Basic Yellow 2 ได้มีจำนวน 6 ห้องปฏิบัติการ และอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพิ่มเติมอีก 18 ห้องปฏิบัติการ รวมทั้งสิ้น 24 ห้องปฏิบัติการ
โดยจะมีกระบวนการสุ่มตัวอย่างทุเรียนสดเพื่อทดสอบสาร Basic Yellow 2 จำนวน 5 ผล ต่อ Shipment ก่อนส่งออก เป้าหมายเพื่อยกระดับความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียนสด ส่งเสริมภาพลักษณ์ของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก และรองรับการเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีนอย่างยั่งยืน
ด้านนางภูษณิศา ธานี หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี ได้แจ้งถึงผู้ประกอบการผู้ส่งออกทุเรียนถึงความคืบหน้าการตรวจสาร Basic Yellow 2 จะมีการนำร่องในวันที่ 17 หรือ วันที่ 20 มกราคม ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และขั้นตอนที่ 2 จะมีการตรวจสุ่มตรวจทุเรียนจากล้ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้เข้าไปสุ่มตรวจ (มีด่านตรวจพืช, เจ้าหน้าที่ สวพ. ,เจ้าหน้าที่ห้องแล็บเอกชนเข้าร่วมด้วย) ตามขั้นตอน หลังจากนั้นล้งต้องส่งตัวอย่างผลทุเรียนเข้าตรวจสอบในห้องแล็บเพื่อผ่านการรับรอง
นายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย กล่าวว่า ถึง “บีวายทู” หรือ Basic Yellow 2 ว่า ไม่ใช่เป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่จะไปขอนำเข้าและขึ้นทะเบียน โดยธุรกิจจะสินค้าให้กับเกษตรกรเป็นหลัก ซึ่งในร้านค้าปัจจัยการเกษตรก็ไม่มีจำหน่ายสารตัวนี้ด้วย จากการถามผู้รู้ทราบว่าสารตัวนี้ผู้ประกอบการใช้ก่อนที่จะส่งออก จึงไม่ทราบแน่ชัดว่านำเข้ามาใช้ในประเทศไทยได้อย่างไร
อนึ่ง “Basic Yellow 2" หรือที่เรียกกันในทางวิทยาศาสตร์ว่า C.I. Basic Yellow 2 เป็นสีย้อมประเภทหนึ่งที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การย้อมผ้า การย้อมกระดาษ หนัง และบางครั้งถูกใช้ในอุตสาหกรรมสีและสารเคลือบพื้นผิว เป็นผงสีเหลืองสดที่ละลายได้ในนํ้า มีคุณสมบัติเรืองแสงเล็กน้อย จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,063 วันที่ 19 - 22 มกราคม พ.ศ. 2568