KEY
POINTS
ด้านความเสี่ยงใหม่ในยุค AI ครองโลก ในปี 2024 AI กลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การพัฒนา AI อย่างรวดเร็วได้สร้างความเสี่ยงใหม่ เช่น การใช้ Generative AI ในการสร้างข้อมูลเท็จและเนื้อหาที่บิดเบือน ความสามารถในการสร้างภาพ เสียง และวิดีโอที่เหมือนจริงทำให้เกิดความยากลำบากในการแยกแยะข้อมูลจริงและปลอม ข้อมูลบิดเบือนและการแบ่งขั้วทางสังคม ยังคงเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่โลกต้องเผชิญในระยะ 2 ปีข้างหน้า การเผยแพร่ข้อมูลเท็จอย่างรวดเร็วผ่านสื่อออนไลน์ได้ลดความเชื่อมั่นในระบบการเมืองและการปกครองทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ เช่น การสอดแนมและการโจมตีทางไซเบอร์ ยังเป็นปัจจัยที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและทำลายความไว้วางใจระหว่างองค์กรและรัฐบาล
สังคมสูงวัย กำลังกลายเป็นความท้าทายสำคัญในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่นและเยอรมนี ที่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน การเพิ่มภาระงบประมาณบำนาญ และระบบสุขภาพที่ต้องรองรับผู้สูงอายุในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน การลดลงของประชากรวัยทำงานส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความต้องการด้านการดูแลระยะยาวและบุคลากรทางการแพทย์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้จะเผชิญความท้าทาย แต่สังคมสูงวัยยังเปิดโอกาสให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีดูแลสุขภาพ ระบบอัตโนมัติ และการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคม แนวทางการปรับตัวที่สำคัญคือการส่งเสริม Active Ageing การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และการใช้แรงงานจากผู้อพยพเพื่อลดผลกระทบเชิงลบในระยะยาว
ปี 2025 คือจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความเสี่ยงที่ซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ รายงาน Global Risks Report 2025 โดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงในหลายมิติ ตั้งแต่สงครามระหว่างรัฐ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไปจนถึงการแพร่กระจายข้อมูลผิด ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสังคมและเศรษฐกิจโลก
รายงานฉบับนี้ซึ่งจัดทำขึ้นจากการสำรวจความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญกว่า 900 คนทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า ความเสี่ยงในระยะสั้น (ปี 2025) ส่วนใหญ่มุ่งไปที่ความขัดแย้งและภัยธรรมชาติ ขณะที่ในระยะยาว (10 ปีข้างหน้า) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ซับซ้อน
โลกในปี 2025 กำลังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงที่สะสมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภูมิรัฐศาสตร์ สภาพอากาศ และเศรษฐกิจ รายงาน Global Risks Report 2025 ระบุว่า "สงครามระหว่างรัฐ" ได้กลายเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลกในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 8 ในปีก่อนหน้า เหตุการณ์สำคัญ เช่น การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสถานการณ์รุนแรงในซูดาน ได้ตอกย้ำความเปราะบางของสันติภาพโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 23% เลือกสงครามระหว่างรัฐ รวมถึงสงครามตัวแทน (Proxy Wars) สงครามกลางเมือง การรัฐประหาร และการก่อการร้าย เป็นความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดสำหรับปี 2025
ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปี 2025 ไม่ได้อยู่ในอันดับต้นเหมือนในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจ (Geoeconomic Confrontation) เช่น การคว่ำบาตร การกีดกันทางการค้า และการจำกัดทรัพยากรที่สำคัญ ซึ่งอยู่ในอันดับที่สาม ยังคงเพิ่มความเสี่ยงต่อระบบการค้าโลก แม้อัตราเงินเฟ้อโลกจะลดลงจนเหลือ 3.5% ในปี 2024 แต่ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่น ภาวะถดถอย ยังคงเพิ่มขึ้นในอันดับความเสี่ยงระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญบางคนเตือนว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ยุคแห่งความตึงเครียดทางการค้าและการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์
ยิ่งไปกว่านั้นความเสี่ยงที่เกี่ยวกับ การกระจุกตัวของทรัพยากรสำคัญ เช่น แร่หายากที่จำเป็นต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลายเป็นความท้าทายที่ส่งผลต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมและความมั่นคงของประเทศ
ขณะเดียวกัน เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง (Extreme Weather Events) เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และไฟป่า ยังคงเป็นภัยอันดับสอง โดยปี 2024 ได้สร้างสถิติใหม่ในฐานะปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 14% มองว่าเป็นปัจจัยที่อาจนำไปสู่วิกฤตระดับโลกในปีนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2024 เช่น คลื่นความร้อนในเอเชีย น้ำท่วมในบราซิลและยุโรป ไฟป่าในแคนาดา และพายุเฮอริเคนเฮลีนในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ มลพิษ เช่น พลาสติกและสารพิษในอากาศ น้ำ และดิน ได้รับการจัดอันดับให้เป็นความเสี่ยงสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่มองว่ามลพิษเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศในอนาคต ในระยะยาว ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบมหาศาลในอีก 10 ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม โลกอาจเข้าสู่ภาวะ "จุดที่ไม่มีวันหวนกลับ" ซึ่ง WEF ชี้ว่าหากไม่มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน สิ่งเหล่านี้จะกระทบทั้งความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ และเศรษฐกิจ
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความเสี่ยงระดับโลกในปัจจุบันคือ ข้อมูลเท็จและข้อมูลบิดเบือน (Misinformation and Disinformation) ซึ่งอยู่ในอันดับที่สี่ การแพร่กระจายข้อมูลเท็จอย่างรวดเร็วผ่านโซเชียลมีเดียได้สร้างความเข้าใจผิดในประเด็นสำคัญ ตั้งแต่การเลือกตั้งไปจนถึงสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ยิ่งไปกว่านั้น ในอีก 2 ปีข้างหน้า ความเสี่ยงด้านข้อมูลบิดเบือนถูกจัดอันดับเป็นอันดับหนึ่ง ของความเสี่ยงในระยะสั้นถึงระยะกลาง เนื่องจากการใช้เทคโนโลยี AI และโซเชียลมีเดียในการสร้างเนื้อหาที่ผิดและบิดเบือนในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทางการเมือง การเลือกตั้ง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ การแบ่งแยกทางสังคม (Societal Polarization) ยังคงทวีความรุนแรง ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 5 โดยเฉพาะในประเทศที่ประสบปัญหาความไม่เท่าเทียมทางรายได้และความขัดแย้งทางการเมืองที่ไม่ได้รับการแก้ไข การขาดความไว้วางใจในระบบการปกครอง การลดทอนสิทธิมนุษยชน และความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมเปราะบางและเสี่ยงต่อความแตกแยกมากขึ้น ความเสี่ยงนี้ไม่เพียงกระทบต่อความมั่นคงในประเทศ แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการอ่อนแอของระบบนานาชาติ
แม้ความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 2024 แต่ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Downturn) ยังคงอยู่ในอันดับที่หก ของความเสี่ยงระดับโลก ซึ่งเกิดจากการลดบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ ในการจัดการความขัดแย้งระดับโลก ตัวอย่างเช่น การรุกรานยูเครนโดยรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ หรือความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันที่เสี่ยงต่อการปะทุ แนวโน้มนี้ยังส่งผลให้เกิดการตัดสินใจฝ่ายเดียวในหลายประเทศ เช่น การเพิ่มงบประมาณทางการทหารแทนการลงทุนในสังคม การเผชิญหน้าด้วยกำลังแทนการเจรจา ซึ่งอาจขยายวงความขัดแย้งไปในระดับที่กว้างขึ้น
การชะลอตัวของเศรษฐกิจส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มอายุต่ำกว่า 30 ปีมองว่าความเสี่ยงนี้อยู่ในอันดับที่ 3 ของปัญหาสำคัญ ความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจทำให้หลายประเทศต้องเผชิญกับความยากลำบากในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 10 ของความเสี่ยง