*** หลังจากที่ผ่านมาเจ๊มักจะพูดถึงเพียงผลกระทบที่เกิดจากการถูกบังคับขาย (Force Sell) ซึ่งมีสาเหตุมาจากการตึ๊งหุ้น หรือ การจำนำหุ้น (Margin Loan) วันนี้เจ๊เมาธ์อยากจะเล่าให้ฟังถึงมุมมองที่มาจากนักทำหุ้น (MM : Market Maker) ที่เจ๊เมาธ์รู้จักและคุ้นเคยหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นกับตลาดเกิดใหม่ที่ไร้พัฒนาการ ...ให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าประเทศรอบข้าง
อย่างเช่น ตลาดหุ้นไทย ที่ในขณะที่หลายปีที่ผ่านมาผู้คุมกติกา แทบจะไม่เคยแก้ไข หรือ สร้างมาตรการในการป้องกัน เพราะมาตรการต่างๆ ที่เห็นมักจะเป็นมาตรการ “ตามแก้” จนทำให้ตลาดหุ้นไทย กลายเป็นตลาดที่เดิมตามหลังในทุกปัญหาอยู่ตลอดเวลา
ว่าแต่วิธีคิดในเรื่องของการจำนำหุ้นที่ว่ามีอะไรบ้าง!!!
เรื่องที่แรก... เป็นเรื่องที่นักลงทุนส่วนใหญ่จะรู้กันอยู่แล้ว
แต่ล่าสุดก็น่าจะชัดเจนมากขึ้น เพราะมีหุ้นหลายตัวที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น MORE YGG SCM หรือ หุ้นตัวอื่นอีกหลายตัว ซึ่งเรื่องของ “เกมมาร์จิ้น” ที่ว่า จะเริ่มต้นจากความต้องการเงิน เพื่อที่จะ “ทำราคาหุ้น” ด้วยการนำหุ้นที่มีในมือไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น (Margin Loan) เพื่อนำเงินไปกว้านซื้อหุ้น จนสามารถควบคุมราคาหุ้นตัวนนั้นได้ในลักษณะของการทำ Conner
ภายหลักจากที่ทำราคาหุ้นได้ในที่ต้องการ (ราคาเป้าหมาย) จ้าวเหล่านี้ก็จะมีการโรยขายหุ้นออกมาเพื่อทำกำไร ส่วนที่ว่าจะ “ออกของ” แรงมาก หรือน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ก็แล้วแต่รูปแบบของจ้าวเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วกรณีนี้ ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ก็มักจะเกิดขึ้นกับกลุ่มของนักลงทุนที่นิยมถือแช่เอาไว้นานๆ หรือ ที่มักจะเรียกกันว่า “ลุกช้าจ่ายรอบวง” นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุแทรกซ้อนก่อนเวลา จนทำให้หุ้นเหล่านั้นอาจเกิดอาการ “ฝีแตก” หรืออาจมีปัจจัยภายนอกที่ทำให้หุ้นตัวนั้นหมดความน่าเชื่อถือ จนเป็นเหตุให้โบรกฯ ที่รับจำนำหุ้นต้องเรียกหลักทรัพย์ที่ค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นเพิ่ม หรือไม่ก็บังคับขายหุ้น (Force Sell) เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะลามมาถึงตัว กรณีนี้ผู้ที่บาดเจ็บอาจไม่ได้มีแค่นักลงทุน แต่อาจจะหมายรวมไปถึงจ้าวด้วยก็เป็นได้
อย่างที่สอง... เป็นเรื่องของการ “ตั้งใจโกง” ในเกมจำนำหุ้น ด้วยการนำหุ้นที่มีในมือไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น (Margin Loan) เช่นเดียวกับกรณีที่สอง เพียงแต่เกมนี้ผู้ทำ เอาหุ้นไปจำนำ “ไม่มีแนวคิดที่จะไถ่ถอน” หลักทรัพย์ (หุ้น) ที่จำนำไว้ตั้งแต่แรก ประมาณว่าต้องการออกของ (Exit) เพื่อเอาเงินเข้าตัวทั้งหมด
แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะราคาหุ้นที่ว่านั้น ถูกดันราคาขึ้นไปมีมูลค่าสูงมาก จนเจ้าของหุ้นพอใจแล้ว ซึ่งหากคิดจากมูลค่าหุ้นที่จะเอาไปจำนำ กับมูลค่าหุ้นที่จะลดลงหากต้องการขายของทั้งหมด ก็จะพบว่า ค่าความถดถอย (Dilution Effect) ที่เกิดขึ้นจะอยู่ในมูลค่าที่ใกล้เคียง ซึ่งกรณีนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เกิดขึ้นมาจากเจ้าของบริษัทตัวจริง แต่อาจเกิดจากญาติพี่น้อง...พ่อแม่ หรือเพื่อนที่ได้หุ้นล็อตใหญ่ๆ มาตั้งแต่เริ่มแรกจากเจ้าของหุ้น
โดยคนเหล่านี้จะมองเรื่องเงินเพียงอย่าง แต่เรื่องอื่นไม่สน...ไม่สนแม้กระทั้งว่าจะถูกโบรกฯ ฟ้องเรียกหลักทรัพย์ในอนคตเพราะได้เงินไปแล้ว อย่างอื่นค่อยว่ากัน
ท้ายที่สุด เรื่องที่สามเป็นเรื่อง “โหดร้าย” มากกว่าสองกรณีแรก เพราะเป็นความ “ตั้งใจทุบหุ้นของตัวเอง” นั่นเอง
การทุบหุ้นของตัวเองในช่วงเริ่มแรก จะไม่ต่างไปจากวิธีการจำนำหุ้นในแบบแรกและแบบที่สอง โดยส่วนที่จะแตกต่างไปคือ “เกมการเงิน” ที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากที่ถูกบังคับขาย (Force Sell) หลักทรัพย์ (หุ้น) ซึ่งนำไปวางค้ำประกันประกันบัญชีมาร์จิ้น (Margin Loan) ภายหลังจากที่ถูกบังคับขาย
กรณีนี้ จ้าว หรือ ผู้ที่จำนำหุ้นจะรอให้ราคาหุ้นที่ถูกบังคับขาย ร่วงลงไปอยู่ในจุดที่มีราคาต่ำที่สุด ก่อนที่จะเข้าไปช้อนซื้อกลับคืนในจำนวนที่วางแผนเอาไว้ก่อน
แน่นอนว่า เรื่องนี้มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับวิธีการ "การขายชอร์ตหุ้น" แต่จะแตกต่างออกไป เพราะในวิธีการ "การขายชอร์ตหุ้น" โดยปกติส่วนใหญ่จะเกิดจากการคนทำหุ้น ไปยืมหุ้นออกไปจากโบรกฯ หรือ คัสโตเดียน เพื่อนำหุ้นไปชอร์ต ก่อนจะนำหุ้นมาคืน และกินส่วนต่างที่ได้จากราคา
แต่กรณีของการ “ทุบหุ้นตัวเอง” ก็คือเกิดจาก “การชอร์ตหุ้นด้วยตัวของเจ้าของหุ้นโดยตรง” โดยส่วนหนึ่งคือ การ “กินเงินส่วนต่าง” ที่บริหารได้ด้วยตัวเอง
ขณะที่อีกส่วนก็จะเป็นการนำเงินที่ได้ เข้าเก็บหุ้นที่ถูกบังคับขาย ซึ่งก็อาจกระทำโดยการใช้ “นอร์มินี” ทำหน้าที่เป็นผู้เก็บหุ้นเข้าพอร์ตไว้ก่อนที่จะคืนกับให้เจ้าตัวในภายหลัง
ก็เล่าให้ฟังกันแค่ “พอหอมปากหอมคอ” เพราะเรื่องแบบนี้ยังมีอีกเยอะ ...เอาเป็นว่าเจ๊เมาธ์จะค่อยๆ เอามาเล่าให้ฟังเป็นขั้นเป็นตอนไปก็แล้วกันนะคะ อย่าลืมติดตามกันด้วยหละ อิอิอิ!!!