เมื่อตลาดทุนพังทลาย รายย่อย...ถูกบูชายัญ!!!

10 ม.ค. 2568 | 06:00 น.
2.4 k

เมื่อตลาดทุนพังทลาย รายย่อย...ถูกบูชายัญ!!! : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องที่หุ้นหลายตัวมีราคาปรับร่วงต่อเนื่องกันหลายฟลอร์ จะไม่ใช่เพียงปัญหาที่มาจากการจำนำหุ้นเพื่อนำเงินที่ได้มากวาดต้อนเพื่อทำราคาหุ้น (Conner) หรือที่เรียกว่า เงินกู้มาร์จิ้น (Margin loan) ในแบบที่หลายคนมองเพียงมิติเดียวไปซะแล้ว 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดกับกับ บมจ.อาร์เอส หรือ RS ของ เฮียฮ้อ “สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” กลับดูเหมือนว่าจะเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัญหาการพังทลายของ “ตลาดทุนไทย” จนทำให้เจ้าของกิจการทั้งหลาย จำเป็นจะต้องเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจด้วยการ “จำนำหุ้น” ซึ่งเป็นทางลัดที่ง่ายที่สุด เมื่อเข้าสู่ภาวะจวนตัวและหาทางออกไม่ได้ซะมากกว่า...

 

ว่าแต่การจำนำหุ้นเพื่อนำเงินที่ได้มากวาดต้อนเพื่อทำราคาหุ้น (Conner) กับการหาเงินไปเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ มีความแตกต่างกันอย่างไร!!!

ในกรณีของการจำนำหุ้นเพื่อนำเงินที่ได้มากวาดต้อนหุ้นเอาไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อหวังควบคุมราคาหุ้น (Conner) เรื่องนี้เจ๊เมาธ์เคยเขียนถึงมาแล้วหลายรอบว่า เป็นเกมมาร์จิ้นที่เริ่มต้นจากการที่นักลงทุนใหญ่ (จ้าว) เอาหุ้นไปค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้น เพื่อนำเงินที่ได้มากวาดซื้อหุ้น จนมีอำนาจเหนือราคาหุ้น ขณะที่เรื่องของการจำนำหุ้นเพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ ก็เป็นความชัดเจนในตัวอยู่แล้วว่า เป็นไปเพื่อนำเงินมาหมุนเวียนในธุรกิจที่ทำอยู่ 

ว่ากันตามตรง...โดยส่วนใหญ่การจำนำหุ้น จะเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่เกิดขึ้น หลังที่ช่องทางการระดมทุนอื่น ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีต้นทุนที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่เกิดจากดอกเบี้ย หรือต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ อย่างราคาหุ้น และการบังคับขายหุ้น (Force Sell) 

ถ้าหากการ “จำนำหุ้น” ถูกทำในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นกำลังเป็นขาขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็อยู่ในภาวะปกติ โดยส่วนใหญ่มักจะไม่มีปัญหา แต่หากทำในช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาลง หรือ อาจมีปัจจัยภายนอก ทำให้เป็นเหตุราคาปรับลงต่ำกว่ามูลค่าหุ้นที่ตกลงกันไว้ จะเป็นเหตุให้โบรกฯ หรือ คัสโตเดียน (Custodian) ซึ่งเป็นผู้รับฝากทรัพย์สิน หรือ หุ้นที่ว่าจำเป็นที่จะต้องป้องกันความเสียหายของตนด้วยการเรียกหลักทรัพย์เข้ามาเพิ่ม 

ถ้าหากผู้จำนองไม่สามารถหาเงิน หรือ หลักทรัพย์อื่นใดเข้ามาวางเพิ่มได้ ท้ายที่สุดที่ถูกวางจำนำก็จะถูกบังคับขาย (Force Sell) จนกลายเป็นสาเหตุ ที่ทำให้หุ้นหลายตัวมีแต่แรงขาย แต่ไม่มีแรงซื้อ จนราคาปรับร่วงต่อเนื่องกันหลายฟลอร์อย่างที่เห็น ซึ่งท้ายที่สุดกลุ่มของนักลงทุนที่เสียหายมากที่สุด จนแทบไม่แตกต่างไปจากการ “บูชายัญ” ให้กับความล้มเหลวในการดูแล “ตลาดหุ้นและตลาดทุนไทย” ก็หนีไม่พ้นไปจากนักลงทุนรายย่อยนั่นเอง

ว่าแต่ทำไมเจ๊เมาธ์ถึงมองว่า บัญหาที่เกิดขึ้นหลายตัว รวมไปถึงกับหุ้นอย่าง RS กำลังกลายเป็นกระจกที่สะท้อนไปถึงปัญหาการพังทลายของ “ตลาดทุนไทย” ???

อย่างแรก...คงต้องบอกกันก่อนว่า วัตุประสงค์หลักของการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องของการโชว์ศักยภาพของการเป็น “บริษัทมหาชน” หรือว่าจะเป็นช่องทางในการสร้างความ “รวยทางลัด” ให้กับเจ้าของบริษัท หรือ เจ้าของหุ้นแต่อย่างใด 

อย่าที่สอง...วัตถุประสงค์หลักที่แท้จริงของการระดมทุนในตลาดหุ้น คือ “การเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยปราศจากดอกเบี้ยและภาระการชำระคืนเงินต้น” รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ต้นทุนต่ำ เช่น การออกตราสารหนี้ การออกหุ้นกู้ (Bond) การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ การกู้เงินจากสถาบันการเงิน ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ รวมไปถึงการระดมทุนในแบบอื่น เช่น การออกวอแรนท์ หรือ การขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งโดยรวมแล้วจะเรียกว่า “ตลาดทุนไทย” นั่นเอง 

ดังนั้น...เมื่อกลไกของ “ตลาดทุนไทย” ซึ่งสะท้อนไปถึงความอ่อนด้อยในการบริหารจัดการแบบ “เช้าชามเย็นชาม” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่สามารถใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ตลาดหุ้นไทยซบเซาจนมีแต่ลงกับลง ปัญหาสถาบันการเงินต่างระวังตัวในการปล่อยกู้รวมไปจนถึงขั้น ไม่ยอมปล่อยเงินกู้เกิดจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ตราสารหนี้และหุ้นกู้ ก็เริ่มขาดความน่าเชื่อถือจากนักลงทุน เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีทั้งการ “ชักดาบ” เบี้ยวหนี้รวมไปถึงการขอขยายระยะเวลาของการจ่ายหนี้เพิ่มมากขึ้น ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ ก็ยังไม่นับรวมไปถึงตลาดหุ้นไอพีโอที่กว่า 80% ล้วนต่ำกว่าราคาจองซื้อจนทำให้นักลงทุนต่างผวาไม่กล้าลงทุน

สิ่งที่เจ๊เมาธ์ว่ามาทั้งหมดก็หมายถึงสภาวะที่ “ตลาดทุนไทย” กำลังประสบปัญหา “ล้มละลาย” ทางความเชื่อมั่นนั่นเอง ซึ่งถ้าหากผู้คุมกติกายังไม่มีการแก้ไข หรือแก้ไขช้าเกินไป ก็เชื่อได้ว่าอนาคตของตลาดหุ้นไทย คงจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกไม่จบสิ้นอย่างแน่นอนค่ะ