*** ก่อนที่จะถึงวันหยุดยาว... หลังจากที่ดัชนีหุ้นไทยร่วงหนักต่อเนื่องจนแทบไม่มีใครอยากจะยุ่งกับตลาดหุ้นในช่วงปลายปี ทางฝั่งของ ก.ล.ต.ได้โชว์ผลงานชิ้นโบว์แดงส่งท้ายปี ด้วยการกล่าวโทษ ALL พร้อมทั้ง นายดุษฎี เล็กยิ้ม และ นายธนากร ธนวริทธิ์
รวมไปถึงกล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF กับพวกรวม 6 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) โดยเฉพาะในส่วนของ TSF ทาง ก.ล.ต.ได้มีการเพิ่มรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพิ่มเข้าไปอีกด้วย
ว่าแต่ทั้ง ALL และ TSF ทำไมจึงถูกทาง ก.ล.ต. กล่าวโทษ ทั้งสองบริษัทไปสร้างปัญหาอะไรไว้กันแน่!!!
เริ่มต้นจากทางฝั่งของ ALL หรือ บมจ. ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ ถ้าหากยังพอจำกันได้ก่อนหน้านี้ เจ๊เมาธ์เคยพูดถึงหุ้นตัวนี้อยู่บ่อยครั้ง จากประเด็นปัญหาการประกาศการผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 66 ก่อนที่จะลามไปถึงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,680 ล้านบาท ในช่วงกลางปี 66
ก่อนที่จะขึ้นเครื่องหมาย "SP" (Suspension) หลักทรัพย์ของ ALL ในกรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินไตรมาส 3 ปี 2566 ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด และเพิกถอนหลักทรัพย์ของ ALL จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนภายหลังเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราวในวันที่ 23 สิงหาคม-2 กันยายน 2567
กรณีล่าสุดของการกล่าวโทษต่อ บมจ. ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ALL พร้อมทั้ง นายดุษฎี เล็กยิ้ม และ นายธนากร ธนวริทธิ์ เนื่องจาก ก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า ข้อกำหนดในการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ที่ปรากฏในร่างสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ของ ALL ที่เปิดเผยไว้ในแบบ filing ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 (ร่างสัญญา) แตกต่างจากสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่ ALL ลงนาม ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 (สัญญาฉบับลงนาม) และนำส่งต่อ ก.ล.ต.
กล่าวคือ ในร่างสัญญากำหนดเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นเหตุให้สัญญาสิ้นสุดลง “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกพิทักษ์ทรัพย์” แต่ในสัญญาฉบับลงนาม กลายเป็นระบุว่า “เมื่อผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ หรือ ผู้ออกหุ้นกู้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือ ถูกพิทักษ์ทรัพย์” ซึ่งการทำหน้าที่และการสิ้นสุดหน้าที่ของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ถือเป็นข้อมูลที่มีสาระสำคัญต่อผู้ลงทุน อันมีผลต่อการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลและรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นกู้
ทั้งนี้ ในขณะเกิดเหตุ นายดุษฎี และ นายธนากร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ ALL และเป็นผู้ลงนามรับรองความถูกต้องของแบบ filing ฉบับลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 รวมทั้งเป็นผู้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ฉบับลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565
การกระทำของ ALL ดังกล่าวข้างต้น จึงเข้าข่ายปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญของแบบ filing อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนและต้องระวางโทษตามมาตรา 278 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ)
และการกระทำความผิดดังกล่าวของ ALL เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของนายดุษฎีและนายธนากร บุคคลทั้งสองดังกล่าวจึงต้องรับโทษตามมาตรา 300 ประกอบมาตรา 278 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษ ALL นายดุษฎี และ นายธนากร ต่อ บก.ปอศ. นั่นเอง...
ในส่วนของ TSF หรือ บมจ. ทรีซิกตี้ไฟว์ รายนี้ก็เป็นหุ้นอีกตัวที่ถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนไปแล้ว หลังจากที่ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมา SP กรณีไม่ส่งงบการเงินสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ก่อนที่จะเปิดให้ซื้อขายหลักทรัพย์ชั่วคราววันที่ 12 - 20 มิ.ย. 2566
ทั้งนี้ในกรณีของ TSF ทาง ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษอดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร ของ TSF กับพวกรวม 6 ราย สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับรายงานจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ในปี 2563 และได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในระหว่างปี 2560 - 2561 นายอรัญ อภิจารี ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร TSF และกรรมการ บริษัท ทีเอสเอฟ เอ็กซ์ตร้า จำกัด (บริษัทย่อย) ในขณะนั้น มีการทุจริตผ่านบริษัทย่อย
โดยการทำสัญญาติดตั้งสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์บริเวณตู้โทรศัพท์สาธารณะกับบริษัท จี.ไอ.เอส.พาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด (GISP) (สัญญาหลัก) ระบุให้บริษัทย่อยจ่ายเงินค่ารับโอนสิทธิ จำนวน 3 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนกลับไปให้ นายอรัญ
ต่อมาบริษัทย่อยทำสัญญาเพิ่มเติมจากสัญญาหลัก เพื่อจ่ายเงินค้ำประกัน จำนวน 50 ล้านบาท ให้ GISP แต่เงินดังกล่าวถูกโอนไปให้บริษัท ไลเกอร์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (Liger) และโอนต่อไปยังบุคคลอื่นอีกหลายทอดตามคำสั่งของ นายอรัญ
การกระทำของ นายอรัญ จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่โดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่ TSF และ บริษัทย่อย โดยมี (1) นางสาวมินทร์ฐิตา ปนาวัฒน์ธนยศ (2) นางสาวกาญจนกร เตชะพันธ์ (3) นางสาวโศภชา เจริญสุข (4) GISP และ (5) Liger เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุน
ก.ล.ต. จึงได้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดทั้ง 6 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
พร้อมกันนี้ ก.ล.ต.ได้รายงานการดำเนินการข้างต้นต่อ ปปง. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป เนื่องจากความผิดดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
แม้ว่าการกล่าวโทษของ ก.ล.ต. ดูเหมือนว่า จะเป็นการช้าไปบ้างเนื่องจากเป็นการกล่าวโทษบริษัทและบุคคลที่ว่า เกิดขึ้นหลังจากมีการเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนไปแล้ว...
แต่อย่างน้อยก็ยังถือว่าได้มีการดำเนินคดีตามมาในท้ายที่สุด
เป็นหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวโทษ ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับข้อหาฉกรรจ์ของ ก.ล.ต. เรื่องนี้ต้องดูกันต่อไป แต่การกล่าวโทษก็สะท้อนให้เห็น กรรรม อันเกิดจากการกระทำ จะช้าหรือเร็ว เท่านั้น เจ้าค่ะ