ฟ้าวันใหม่ของการบินไทย...กับวันที่เอื้องหลวงไม่ใช่ของรัฐ

29 พ.ย. 2567 | 06:00 น.
2.2 k

ฟ้าวันใหม่ของการบินไทย...กับวันที่เอื้องหลวงไม่ใช่ของรัฐ : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์ ฐานเศรษฐกิจออนไลน์

*** เวลาผ่านไปแล้ว 3 ปีกว่าๆ นับตั้งแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบให้ บมจ.การบินไทย (THAI) เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 มาจนถึงวันนี้ เมื่อมีผลการดำเนินงานเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทาง จนมีแนวโน้มว่า ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568 จะสามารถยกเลิกแผนฟื้นฟู และกลับเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องนี้ทำให้ “การบินไทย” ที่กลับมา “เนื้อหอม” ก็เริ่มได้รับความสนใจ...จนตอนนี้ไม่ว่าจะเป็น มด ผึ้ง หรือ แม้กระทั่ง “แมลงวัน” ก็เริ่มกลับมาไต่ กลับมาตอม “การบินไทย” รอบใหม่กันอีกครั้ง

ล่าสุด มีการประชุมเจ้าหนี้ในวันที่ 29 พ.ย. 67 ซึ่งเป็นการเลื่อนจากกำหนดเดิมคือวันที่ 8 พ.ย. ภายหลังจากที่ กระทรวงการคลังในฐานะเจ้าหนี้ และในฐานะที่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ได้เสนอให้เพิ่มผู้บริหารแผนจำนวน 2 ราย คือ นายปัญญา ชูพานิช และ นายพลจักร นิ่มวัฒนา

 

โดยเหตุผลของการเลื่อนประชุม ก็เป็นเพราะว่าเจ้าหนี้รายอื่น รวมไปถึงฝ่ายผู้บริหารแผนฯ เกิดความรู้สึกไม่เชื่อใจ เพราะมองว่าผู้เชี่ยวชาญที่กระทรวงการคลังเสนอ อาจจะเป็นคนของ “ฝ่ายการเมือง” มากกว่าคนของคลัง 

อย่างไรก็ตาม... นอกจากวาระเร่งด่วนในเรื่องเพิ่มผู้บริหารแผนอีก 2 ราย ในวาระการประชุมอีก 2 วาระที่เหลือทั้ง “การลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม” และ “การขอจ่ายเงินปันผล” โดยเฉพาะในเรื่องของการลดพาร์เพื่อล้างขาดทุนสะสม ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด

เนื่องจากขั้นตอนถัดต่อไป ก็คือ “การแปลงหนี้เป็นทุน” รวมไปถึงการ “ขายหุ้นเพิ่มทุน” ซึ่งเจ๊เมาธ์มองว่า เรื่องนี้จะทำให้ “การบินไทย” เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกตลอดกาล... 

การขายหุ้นเพิ่มทุนของ “การบินไทย” ในครั้งนี้ประกอบไปด้วยหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ที่จะขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทย ก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานของบริษัทฯ และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ในราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 6-12 ธ.ค. 2567 โดยคาดว่าที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) น่าจะเป็น บล.เกียรตินาคินภัทร

ภายหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้น จะทำให้โครงสร้างการถือหุ้นของ “การบินไทย” เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 47.9%, รัฐวิสาหกิจ 2.1%, กองทุนวายุภักษ์ 7.6%, ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 42.4% เปลี่ยนมาเป็นโครงสร้างใหม่ที่มีกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 33.4%, รัฐวิสาหกิจ 4.1%, กองทุนวายุภักษ์ 2.8%, ผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) 2.8%, เจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ 44.3% และผู้ถือหุ้นเดิมก่อนปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานและบุคคลในวงจำกัด ที่จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ 12.6%

ว่าแต่ภายหลังการปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ...จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับ “การบินไทย” ตามมาบ้าง!!! 

อย่างแรก จากเดิมที่เคยเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งแต่เดิมภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 50% (กระทรวงการคลังถือหุ้น 47.9% และรัฐวิสาหกิจ 2.1%) เมื่อสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังและรัฐวิสาหกิจลดลง มาเหลือไม่ถึง 40% จะทำให้ “การบินไทย” กลายสภาพมาเป็น “บริษัทเอกชนเต็มตัว” 

อย่างที่สอง เมื่อสัดส่วนการถือหุ้นใหม่ มีทางฝั่งของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ถือหุ้นอยู่มากถึง 44.3% รวมหุ้นของกระทรวงการคลัง และ รัฐวิสาหกิจ ที่มีอยู่ราว 40% อาจทำให้ “การบินไทย” มีปัญหาใหม่ในเรื่องของสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ก็เป็นไปได้

อย่างที่สาม ด้วยสัดส่วนของผู้ถือหุ้นเดิม ก่อนปรับโครงสร้างเงินทุน พนักงานและบุคคลในวงจำกัดที่มีจำนวนเพียง 12.6% รวมกันกับผู้ถือหุ้นอื่นๆ (เดิม) ที่มีอยู่เพียง 2.8% จะทำให้กลุ่มของนักลงทุนเหล่านี้ กลายสภาพมาเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ที่สิทธิ์และเสียงในการร่วมกำกับดูแลกิจการแทบจะไม่มี ขณะเดียวกันเมื่อ “การบินไทย” กลายสภาพมาเป็นบริษัทที่มี Free Float ต่ำมาก อาจมีผลต่อการ “ปั่น” ราคาหุ้นของบริษัทได้ในอนาคตก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ว่าเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นกับ “การบินไทย” เป็นเรื่องดีหรือร้าย เพราะถึงแม้ว่าจะมีบางบริษัทที่ได้ไปต่อ แต่ก็อย่าได้ลืมว่า บริษัทที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น “แต่ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่” มีอีกหลายบริษัทที่แทบจะไม่ทำกำไร รวมไปถึงสร้างความเสียหายจากผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ทำงานไม่เป็นมาแล้วหลายแห่ง และยิ่งเป็นบริษัทที่เป็นดั่ง “เหมืองทอง” ซึ่งถูกจับจ้องคอยมองหาแต่ผลประโยชน์ อย่าง “การบินไทย” ก็ยิ่งต้องช่วยกับจับตาดูให้ดีเจ้าค่ะ