“โอกาส-ความหวัง” เด็กจบใหม่ในตลาดแรงงาน

19 ก.พ. 2568 | 15:15 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.พ. 2568 | 15:27 น.

ทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ประกาศรับสมัครงาน สำรวจโอกาสของเด็กจบใหม่ พบ ตลาดงานส่วนใหญ่เน้นรับคนมีประสบการณ์ 1-2 ปี ส่วนผู้ไม่มีประสบการณ์ เปิดรับเพียง 22% ส่วนใหญ่เป็นงานพื้นฐาน

ทีม Big Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดผลวิเคราะห์สถานะความต้องการแรงงาน และทักษะของแรงงานที่นายจ้างต้องการใน “โครงการพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Large Language Models (LLMs) เพื่อการใช้ประโยชน์ในการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงฯ” สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)

“โอกาส-ความหวัง” เด็กจบใหม่ในตลาดแรงงาน

โดยทำการรวบรวมประกาศรับสมัครงานออนไลน์จาก 23 เว็บไซต์รับสมัครงานในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 (1 ต.ค. – 31 ธ.ค.)

คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์ความต้องการด้านประสบการณ์ทำงานของผู้สมัคร ที่ระบุในประกาศรับสมัครงานออนไลน์ โดยเน้นไปที่ความท้าทายของผู้สมัครงานที่เพิ่งสำเร็จการศึกษา โดยคณะผู้วิจัยได้จำแนกประกาศรับสมัครงานออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่ไม่ต้องการประสบการณ์หรือ อาจจะเรียกว่าเป็นตำแหน่งระดับ entry-level ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ผู้สำเร็จการศึกษาใหม่สามารถสมัครได้ (2) กลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปีหรืออาจเรียกว่าเป็นตำแหน่งงานตำแหน่งระดับ junior ซึ่งต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์มาบ้าง และ (3) กลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่สูงกว่าระดับ junior

ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้แยกรวมประกาศงานที่ระบุว่าต้องการประสบการณ์แต่ไม่ได้ระบุจำนวนปีไว้ในกลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปีด้วย เนื่องจากเห็นว่า หากนายจ้างต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำมากกว่า 2 ปี ก็ควรระบุจำนวนปีของประสบการณ์ขั้นต่ำไว้ชัดเจน

ในภาพรวม มีประกาศรับสมัครงานออนไลน์ที่จัดเก็บมาได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จำนวน 221,339 ตำแหน่ง และเมื่อจำแนกตำแหน่งงานเป็น 3 กลุ่ม ดังที่ได้อธิบายไปในข้างต้น พบว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่เป็นระดับ junior (กลุ่มที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี) โดยมีจำนวนมากถึง 84,669 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 38.3% ของประกาศฯ ทั้งหมด (ในจำนวนนี้มาจากประกาศรับสมัครที่ระบุว่าต้องการประสบการณ์แต่ไม่ได้ระบุจำนวนปีจำนวน 18,385 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 21.7% ของประกาศรับสมัครงานออนไลน์ในกลุ่มนี้)

“โอกาส-ความหวัง” เด็กจบใหม่ในตลาดแรงงาน

รองลงมาคือตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 54,877 ตำแหน่ง (24.8%) และตำแหน่งงานระดับ entry-level ที่ไม่ต้องการประสบการณ์ 49,366 ตำแหน่ง (22.3%) นอกจากนั้น ยังมีตำแหน่งงานประกาศที่ไม่ระบุความต้องการประสบการณ์อีกจำนวน 32,427 ตำแหน่ง (14.7%)จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า แม้จะมีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน 49,366 ตำแหน่ง (22.3%) แต่ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในประกาศรับสมัครออนไลน์ก็ยังต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงาน โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ทำงานถึง 139,546 ตำแหน่ง (63.1%) ซึ่งสะท้อนว่าตำแหน่งงานส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีความรู้ ทักษะ และความเข้าใจในการทำงานจริง

อย่างไรก็ตามความต้องการดังกล่าวไม่ได้เหมือนกันหมดในทุกระดับการศึกษาหรือในทุกรายกลุ่มอาชีพ โดยเมื่อพิจารณาความต้องการด้านประสบการณ์โดยจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าตำแหน่งงานที่ต้องการผู้มีระดับการศึกษาสูงมีแนวโน้มที่จะต้องการประสบการณ์ทำงานสูงขึ้นด้วย ดังนี้

ในตำแหน่งงานระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นงานที่ใช้ทักษะความรู้หรือเป็นทักษะอาชีพสูง ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กว่า 78.6% เป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ โดยมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี จำนวน 43,003 ตำแหน่ง (คิดเป็น 40.0% ของตำแหน่งงานระดับปริญญาตรี) และมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป จำนวน 41,517 ตำแหน่ง (38.6%) ในขณะที่มีตำแหน่งระดับ entry-level เพียง 18,022 ตำแหน่ง (16.8%) ดังที่แสดงในภาพประกอบที่ 2

ในตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษาทั้ง ปวช. และ ปวส. ซึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ต้องใช้ทักษะอาชีพ พบว่ามีความต้องการประสบการณ์ต่ำกว่าในระดับปริญญาตรี โดยประมาณครึ่งหนึ่งเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี (6,434 ตำแหน่งในระดับ ปวช. หรือคิดเป็น 48.3% ของตำแหน่งงาน ปวช. ทั้งหมด และ 11,524 ตำแหน่งในระดับ ปวส. หรือคิดเป็นสัดส่วน 51.4%) ในขณะเดียวกัน ตำแหน่งงานในระดับอาชีวศึกษาที่ไม่ต้องการประสบการณ์มีสัดส่วนสูงกว่าตำแหน่งงานในระดับปริญญาตรีที่ไม่ต้องการประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญ โดยในระดับ ปวช. มีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน 32.4% และในระดับ ปวส. มีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน 28.0% ซึ่งสูงกว่าในระดับปริญญาตรี ซึ่งมีสัดส่วนตำแหน่งงานระดับปริญญาตรีที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานเพียง 16.8% นอกจากนั้น ในระดับอาชีวศึกษา มีความต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ขึ้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปเพียง 7.3% ในระดับ ปวช. และ 11.9% ในระดับ ปวส. ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนงานในระดับปริญญาตรีที่ต้องการประสบการณ์ขึ้นต่ำ 3 ปี ขึ้นไป (38.6%)

ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีตำแหน่งงานเปิดใหม่จำนวน 17,230 ตำแหน่ง (7.8% ของประกาศทั้งหมด) ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ไม่ต้องการประสบการณ์ จำนวน 10,192 ตำแหน่ง (59.2% ของประกาศฯ ในระดับ ม.6) ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าทั้งระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษามาก ในขณะที่มีตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์ 3 ปีขึ้นไปเพียง 4.4% เท่านั้น โดยงานในกลุ่มนี้มักเป็นงานที่เป็นงานที่เน้นทักษะพื้นฐาน เช่น งานบริการ พนักงานขับรถ พนักงานคลังสินค้า หรืองานที่ใช้แรงงานทั่วไปอื่น ๆ

“โอกาส-ความหวัง” เด็กจบใหม่ในตลาดแรงงาน

เมื่อพิจารณาความต้องการด้านประสบการณ์โดยจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่าสามารถแบ่งกลุ่มอาชีพได้ 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

กลุ่มแรก คือกลุ่มอาชีพที่มีความต้องการประสบการณ์สูง โดยเฉพาะงานด้านการจัดการ ซึ่งมีตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปสูงถึง 19,143 ตำแหน่ง หรือคิดเป็นสัดส่วน 56.1% และมีสัดส่วนตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานเพียง 8.7% เท่านั้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสัดส่วนตำแหน่งงานระดับ entry-level น้อย แต่ก็อาจจะไม่ได้หมายความว่างานในกลุ่มอาชีพนี้จะมีปัญหาในการรับคน เพราะอาจรับคนที่สามารถย้ายข้ามสายงานได้ เช่น จากวิศวกรที่มีประสบการณ์สูงมาเป็นผู้จัดการ เป็นต้น ซึ่งจะต่างจากงานวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป  ในทำนองเดียวกัน งานด้านกฎหมายก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยมีความต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปสูงถึง 45.3% และมีตำแหน่งงานไม่ต้องการประสบการณ์ทำงานเพียง 12.7% ดังที่แสดงในภาพประกอบที่ 3

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มวิชาชีพที่ต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะทาง ได้แก่ งานธุรกิจและการเงิน งานด้านคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ และงานด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม กลุ่มอาชีพนี้มีสัดส่วนของตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์สูง กล่าวคือ มีสัดส่วนตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี ประมาณ 36-40% และมีสัดส่วนของตำแหน่งที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปประมาณ 33-35% ในขณะที่มีตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการประสบการณ์ค่อนข้างน้อย (ประมาณ 15-18%) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ไม่สามารถหางานในกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ได้

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มอาชีพที่มีการเปิดรับผู้ไม่มีประสบการณ์ในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะงานด้านสนับสนุนงานออฟฟิศและงานธุรการ (32.8%) งานด้านการขาย (32.1%) และงานด้านการติดตั้ง การบำรุงรักษา และการซ่อมแซม (30.2%) นอกจากนี้ แม้ในตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ ก็จะพบว่ากลุ่มอาชีพเหล่านี้มีส่วนใหญ่ต้องการประสบการณ์ขึ้นต่ำ 1-2 ปี (ประมาณ 41-44% ของตำแหน่งงานในกลุ่มอาชีพทั้งหมด) และมีความต้องการผู้มีประสบการณ์ขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไปเพียง 8-13% นอกจากกลุ่มอาชีพที่กล่าวไปที่มีจำนวนตำแหน่งงานเปิดรับจำนวนมาก ยังพบแบบแผนที่คล้ายกันในกลุ่มอาชีพด้านการเตรียมอาหารและการบริการ การขนส่ง การผลิต และกลุ่มอาชีพงานบริการอื่นๆ ด้วย

“โอกาส-ความหวัง” เด็กจบใหม่ในตลาดแรงงาน

จากการวิเคราะห์พบว่ามีแบบแผนในการต้องการประสบการณ์ของผู้สมัครงานดังนี้

ประการแรก ในด้านระดับการศึกษา พบว่าตำแหน่งงานที่ต้องการผู้สมัครที่มีระดับการศึกษาสูงมักจะมาพร้อมความต้องการต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำที่สูงควบคู่กันไปด้วย โดยตำแหน่งงานสำหรับระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ต้องการผู้มีประสบการณ์ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป (78.6%) และเกือบ 40% ต้องการประสบการขั้นต่ำ 3 ปีขึ้นไป ในขณะที่ตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษา แม้ว่าส่วนใหญ่ต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ แต่เกือบทั้งหมดเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี นอกจากนั้น ตำแหน่งงานระดับอาชีวศึกษาก็ยังเปิดรับผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในสัดส่วนสูงกว่าในระดับปริญญาตรีมากด้วย ส่วนตำแหน่งงานระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนใหญ่เป็นงานระดับเริ่มต้นที่ไม่ต้องการประสบการณ์ทำงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ระดับการศึกษาไม่ได้เป็นสิ่งทดแทน (substitute) ของประสบการณ์ทำงาน แต่เป็นสิ่งหนุนเสริมซึ่งกันและกัน (compliment)

ประการที่สอง ตำแหน่งงานวิชาชีพและมีเส้นทางอาชีพ (career path) ที่ดี เช่น งานด้านการเงิน คอมพิวเตอร์ วิศวกรรม และอาจจะรวมถึงงานด้านกฎหมาย มักต้องการผู้สมัครที่มีประสบการณ์ทำงานมาบ้าง โดยมีตำแหน่งงานสำหรับผู้เริ่มอาชีพไม่มากนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาไม่สามารถป้อนคนเข้าสู่ตลาดแรงงานเนื่องจากมีความต้องการรับผู้สมัครงานที่สำเร็จการศึกษาใหม่ไม่มาก และเมื่อผู้สมัครงานไม่มีโอกาสในการทำงาน ก็จะไม่มีประสบการณ์ไปสมัครงาน ส่วนงานที่มีสัดส่วนการรับผู้ไม่มีประสบการณ์นั้นมักเป็นงานพื้นฐาน หรือเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะความรู้สูงมากนัก เช่น งานด้านการขาย งานการผลิต และงานบริการต่างๆ