จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง มาตรการบริหารการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ได้มีมาตรการ ห้ามเผาในพื้นที่การเกษตรทุกกรณี ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2568 ถึง 31 พฤษภาคม 2568 หากเกษตรกรที่มีประวัติการเผาในช่วงเวลาดังกล่าว จะไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการสนับสนุนหรือช่วยเหลือต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ ทุกโครงการเป็นเวลา 2 ปี (ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2568 - 31 พฤษภาคม 2570) ยกเว้นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตร
นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ อุปนายกสมาคมการค้าพืชไร่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผู้ประกอบการในสมาคมฯ เห็นด้วยกับแนวทางและนโยบายในการควบคุมมลพิษจากการเผาในพื้นที่เกษตรของรัฐบาล อย่างไรก็ดีจากมาตรการของภาครัฐและผู้รับซื้อสินค้าเกษตรรายใหญ่ได้ออกมาแจ้งประกาศว่าจะไม่รับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาแปลงปลูก ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากพืชผลผลิตทางการเกษตรแต่ละรายการจะมีความแตกต่างกัน
“ยกตัวอย่างในส่วนของอ้อย มีการเผาแล้วจึงเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะฉะนั้นจะเห็นลำต้นสีดำชัดเจนว่ามาจากแปลงเผา ส่วนข้าวโพดกับข้าว จะเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อน แล้วจึงเผาไร่นาเพราะฉะนั้นการจะจำแนกว่าแปลงนี้เผาหรือไม่เผาทำได้ค่อนข้างยาก จากเป็นการตรวจสอบย้อนกลับไปถึง 4-5 เดือน ก่อนที่จะเพาะปลูก แล้วเวลาล่วงผ่านมาแล้ว เมล็ดที่นำมาขายสีก็เหมือนกันหมด ไม่มีเลยความแตกต่าง”
ดังนั้นต้องรับฟังเสียงจากเกษตรกรว่าเผาเพราะอะไร ก่อนจะประกาศทันทีว่าไม่รับซื้อ หรือห้ามรับซื้อผลผลิตจากแปลงเผา ถ้าไม่ให้เกษตรกรเผาควรจะทำอย่างไร มีวิธีการอย่างไร ตัวอย่าง นาย ก. เผาไร่ข้าวโพด ถูกขึ้นทัณฑ์บน ห้ามพ่อค้ารับซื้อผลผลิต แต่ในจังหวัดมีผู้ประกอบการ 20 ราย ทางพ่อค้าจะรู้หรือไม่ว่า นาย ก. จะไปขายที่ลานไหน หาก นาย ก. ใช้ชื่อภรรยาหรือชื่อลูกแทนก็หาไม่เจอในระบบแล้ว
นายพรเทพ กล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรควรใช้การสร้างแรงจูงใจ หรือมาตรการลงโทษ เช่น หากใครเผาปรับไร่ละ 500 บาท และไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการสนับสนุนหรือช่วยเหลือต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ แต่ถ้าแปลงใด ที่ไม่เผาให้ช่วยเหลือไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ เพื่อเป็นค่าช่วยเหลือค่าไถกลบ หรือค่าจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายตอซัง เป็นต้น ถือเป็นวิธีการใหม่ในการปรับปรุงพฤติกรรมจะดีกว่า เพราะปัญหาฝุ่น PM.2.5 ต่อให้เมืองไทยไม่เผา แต่หากประเทศเพื่อนบ้านยังเผา ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ
อนึ่ง ในปี 2568 สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้ปรับตัวเลขความต้องการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์จาก 8.9 ล้านตัน เพิ่มเป็น 9.2 ล้านตัน โดยผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในประเทศยังคงอยู่ที่ 5 ล้านตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ต้องมีการนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเพราะราคาถูกกว่า โดยราคาข้าวสาลี เดือนมกราคม CIF 7.03 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ขณะราคาข้าวโพดหน้าโรงงานอาหารสัตว์(10 ม.ค.68) เฉลี่ย 10.30-10.50 บาทต่อกก.
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,070 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568