ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ประกาศไม่ซื้อข้าวโพดจากแปลงเผา ช่วยรัฐแก้ PM2.5

31 ต.ค. 2567 | 19:09 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ต.ค. 2567 | 19:18 น.

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย-สมาคมภาคปศุสัตว์ หนุนนโยบายรัฐ แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ประกาศไม่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดอาหารสัตว์จากแปลงเผาทั้งในและต่างประเทศ มุ่งการผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม สร้างตลาดยั่งยืน อ้อนรัฐขอนำเข้าข้าวโพดจากประเทศที่สาม ห่างไกลหมอกควัน

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสมาคมภาคปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนภาคธุรกิจต่อเนื่องตลอดห่วงโซ่ปศุสัตว์ พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจอาหารสัตว์และสมาคมภาคปศุสัตว์ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง  และได้ทำหนังสือสนับสนุนนโยบายดังกล่าว โดยไม่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มาจากแปลงเผา ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมขอเข้าพบหารือนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เพื่อร่วมหาแนวทางการดำเนินการร่วมกัน

ปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศขาดแคลนอยู่ประมาณปีละ 4 ล้านตัน ทางออกในเรื่องนี้ ต้องขอให้รัฐบาลจัดหาวัตถุดิบส่วนขาดมาทดแทน ด้วยการเปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศที่สาม หรือปลดมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ออก เพื่อให้สามารถนำเข้ามาเติมเต็มจำนวนที่ขาด ซึ่งเป็นประเทศห่างไกลและไม่ส่งผลกระทบกับการเกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดน

ขณะที่หากรัฐบาลยังคงมาตรการควบคุมการนำเข้าตามเดิม ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถแก้ปัญหาการเผาแปลงได้อย่างเต็มที่ ยังอาจเกิดผลกระทบการต่อการผลิตอาหารสัตว์และภาคการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และจะบานปลายถึงขั้นขาดความมั่นคงทางอาหารในสินค้าปศุสัตว์ และยังกระทบการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่มีมูลค่ากว่าปีละ 2 แสนล้านบาทได้

ทั้งนี้ ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จะใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์มีปริมาณลดลง เพราะต้องลดการซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มาจากการรุกป่าและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผ่านการเผา การดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลนี้ จะทำให้ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศหายไปประมาณ 5 แสนตัน เช่นเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่มีหลักฐานแสดงว่าปลอดการเผาและรุกป่าจะไม่สามารถนำเข้ามาได้ มีปริมาณนำเข้าเฉลี่ยปีละ 1.5 ล้านตัน ก็จะหายไปด้วย

เท่ากับว่า ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งระบบจะหายไปรวม 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องทั้งซัพพลายเชน ทั้งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ รวมถึงภาคการส่งออก อย่างเช่นไก่เนื้อ หากสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดมีจำนวนน้อย จะทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กระทบขีดความสามารถทางการแข่งขันที่ลดลง

นายพรศิลป์ กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่เพียงตอบโจทย์การค้าโลกสมัยใหม่ที่เรียกร้องการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยังส่งผลกับการพัฒนาการผลิตปศุสัตว์คาร์บอนต่ำ ที่นำไปสู่การแข่งขันระดับโลกได้อีกด้วย ซึ่งภาคธุรกิจอาหารสัตว์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เข้าสู่ระบบ “สีเขียว” มาอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯส่วนหนึ่งได้ดำเนินการประกาศไม่รับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการเผาแปลงปลูกแล้ว