นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว หรือชาวนา ได้ร้องเรียนมายังสมาคมว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากปัญหาราคาข้าวเปลือกในเวลานี้ตกต่ำต่อเนื่อง อีกทั้งยังประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต และมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ชาวนามีปัญหาภาระหนี้สิน และได้รับความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจในวงกว้าง หากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ โดยที่รัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาใด ๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมของประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ชาวนาได้เรียกร้องใน 2 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่ 1. ขอให้รัฐบาลดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยกำหนดราคาประกันรายได้ที่ 11,000 บาทต่อต้น และ กำหนดปริมาณรับประกันราคาไม่เกิน 50 ตันต่อรายหรือดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในราคา 11,000 บาทต่อตัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา และยังทำให้มีรายได้ที่มั่นคงและสามารถดำรงชีพได้อย่างยั่งยืน โดยไม่กระทบต่อกลไกทางการตลาดของการส่งออกข้าวไทย
2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาเกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลาก โดยจัดสรรเงินชดเชยจำนวน 300 บาทต่อไร่ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือนในแต่ละปี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเป็นพื้นที่รับน้ำของจังหวัด ในช่วงฤดูฝน ที่ต้องมีต้นทุนการยังชีพที่สูงขึ้นเมื่อต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่กับภาวะน้ำท่วมขังยาวนานถึง 2 - 3 เดือนในทุก ๆ ปี และ 3.เรื่องเผาตอซัง ที่เกษตรกรที่มีประวัติการเผา จะถูกตัดงบการช่วยเหลือไร่ละ 1,000 ขอให้ยกเลิกข้อนี้
ในทุกเรื่องที่กล่าวมา สมาคมฯรับเรื่องที่จะไปเจรจากับรัฐบาลต่อไป โดยเรื่องเร่งด่วน ที่ได้เจรจาเบื้องต้นแล้วกับอธิบดีกรมการค้าภายใน ที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว คือการเปิดจุดรับซื้อข้าว แล้วเชื่อมโรงสีในโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อกข้าวที่กำลังดำเนินอยู่ให้มาซื้อข้าวโดยตรง ส่วนราคาตั้งจุดรับซื้อข้าวจะต้องมากำหนดว่าเป็นเท่าไร โดยให้ตั้งคณะอนุกรรมการ คล้ายกับประกันรายได้ข้าว เพื่อประกาศราคารับซื้อต่อไป ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา ยังไม่ได้ข้อสรุป
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า สมาคมไม่ได้นิ่งนอนใจในความเดือดร้อนของชาวนา ได้ประสานกับทางรัฐบาลตลอดเวลา โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหาทางออกโดยเร็ว ทั้งนี้จะใช้การเจรจาก่อนเป็นลำดับแรก ซึ่งขอให้พี่น้องชาวนาวางใจว่า การขับเคลื่อนนโยบายของสมาคมที่มีสมาชิกทั่วประเทศ จะไม่ตกเป็นเครื่องมือการเมือง เพราะสามารถทำงานได้กับทุกพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือพรคฝ่ายค้าน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวนาเป็นหลัก
นายปราโมทย์ กล่าวอีกว่า ในพื้นที่หนองจอก กรุงเทพมหานคร ได้ปรับเปลี่ยนจากการทำนาปรัง มาเป็นการปลูกพืชหลังนา ได้แก่ แตงโม และแคนตาลูป ซึ่งได้ผลผลิตที่ดี และราคาดี พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ชมสวน และเก็บผลผลิตเอง ที่สำคัญทำให้ที่นาได้พักฟื้น เพิ่มความสมบูรณ์ เพื่อรอฤดูฝนที่จะมาประมาณกลางเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ เพื่อที่จะปลูกข้าวฤดูนาปีต่อไป
"ที่ผ่านมาทางกรุงเทพฯ และสภาเกษตรกรจังหวัดกรุงเทพฯ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ ผลักดันสร้างการรับรู้ในวงกว้าง ช่วยเป็นช่องทางให้แหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตรเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ ดังนั้นในปีถัดไปอยากจะรณรงค์ให้ชาวนาหันมาปลูกพืชหลังนากันมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ"