ส่งออกข้าวปี 68 หดตัว “อียู” จ้องรีดภาษีเพิ่ม จี้ไทยเร่ง “ข้าวคาร์บอนต่ำ"

25 ม.ค. 2568 | 11:29 น.

กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์การผลิตข้าวโลก ปีการผลิต 2567/68 จะมีประมาณ 533.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 11.03 ล้านตัน หรือร้อยละ 2.11 จากปีการผลิต 2566/67 มีปริมาณ 522.65 ล้านตัน

เนื่องจากผลผลิตข้าวในประเทศผู้ผลิต เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย ปากีสถาน และบราซิล มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนการบริโภคข้าวโลกจะมีประมาณ 530.32 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.18 จากปีการผลิต 2566/67 ที่มีปริมาณ 524.16 ล้านตัน เนื่องจากการบริโภคข้าวในอินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา เนปาล และสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางกับการค้าข้าวโลกในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนจะลดลงเล็กน้อย เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าข้าว อาทิ อินโดนีเซีย อิรัก และมาเลเซีย มีแนวโน้มนำเข้าลดลง อีกทั้งประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญอย่างอินเดียมีแนวโน้มส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น จากที่อินเดียได้ยกเลิกมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวแล้ว

ส่งออกข้าวปี 68 หดตัว “อียู” จ้องรีดภาษีเพิ่ม จี้ไทยเร่ง “ข้าวคาร์บอนต่ำ\"

จากสถานการณ์การผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางกับการนำเข้าข้าวในหลายประเทศมีแนวโน้มลดลงในปีนี้ ล่าสุดส่งผลกระทบถึงราคาข้าวเปลือกในประเทศที่เกษตรกรไทยขายได้ ณ เวลานี้ เฉลี่ยที่ 6,300-7,000 บาทต่อตัน ถือเป็นราคาข้าวที่ตํ่าสุดในรอบกว่า 10 ปี กรณีดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “นายเจริญ  เหล่าธรรมทัศน์” นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ถึงแนวโน้มทิศทางการส่งออกข้าวไทยในปี 2568 (จากปี 2567 คาดจะสามารถส่งออกได้ถึง 9-10 ล้านตัน) และชาวนาไทยต้องปรับตัวอย่างไรนับจากนี้

อัปเดตการผลิต-นำเข้าข้าวโลก

นายเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่มีผลผลิตออกมามาก ไทยเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะข้าวรอบนาปรังในปีนี้ คาดผลผลิตน่าจะมากกว่าปกติ ส่วนของเวียดนามก็กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิต และคาดการณ์ผลผลิตจะดี ส่วนอินเดียได้กลับมาส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวแล้ว ซึ่งโดยปกติอินเดียส่งออกข้าวขาวประมาณ 6 ล้านตันต่อปี จากที่อินเดียงดส่งออกข้าวขาวมาตั้งแต่กลางปี 2566 ทำให้ข้าวจากอินเดียในส่วนนี้หายไปจากตลาด ส่งผลราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่ออินเดียกลับมาส่งออกข้าวขาว 5% อีกครั้ง  (ยกเลิกแบนส่งออกตั้งแต่ 22 ต.ค.67) ทำให้ตลาดค้าข้าวโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และราคาปรับตัวลดลง

ส่งออกข้าวปี 68 หดตัว “อียู” จ้องรีดภาษีเพิ่ม จี้ไทยเร่ง “ข้าวคาร์บอนต่ำ\"

 

ที่หนักกว่านั้นคือ คาดผลผลิตข้าวของอินเดียในปีนี้ จะมีปริมาณสูงถึง 119.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.10 ล้านตัน จากปีก่อนมีผลผลิตที่ 114.83 ล้านตัน ส่งผลให้อินเดียมีสต๊อกข้าวปริมาณมาก ส่วนอินโดนีเซียอีกหนึ่งประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ ประกาศในปีนี้จะไม่นำเข้าข้าว จากปีที่แล้วนำเข้า 4-5 ล้านตัน แน่นอนว่าเมื่อคนซื้อน้อยลง คนขายมีของมาก ราคาข้าวจะปรับตัวลดลงตามกลไกตลาด

“น้ำในเขื่อนของไทยในปีนี้ โดยเฉลี่ยมีปริมาณนํ้าที่ดี ชาวนาพื้นที่เขตชลประทานปลูกข้าวเพิ่ม เวลานี้ราคาข้าวสารในประเทศได้กลับไปอยู่ในระดับปกติที่ซื้อขายกันอยู่ที่ 13,000-14,000 บาทต่อตัน และราคาข้าวขาว 5% ส่งออกอยู่ที่กว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ซึ่งต้องรอดูความต้องการของตลาดว่าจะเป็นอย่างไรนับจากนี้ จากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีทองของการส่งออกข้าวไทย หลังอินเดียงดส่งออกข้าวขาว ราคาข้าวขาว 5% ส่งออกของไทยขายได้ระดับ 500-600 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน”

ส่วนกรณีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ในส่วนของสินค้าข้าวหากมีการขึ้นภาษีก็คงไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบกัน เพราะทั้งอินเดีย และเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญก็เกินดุลการค้ากับสหรัฐทั้งนั้น

 

ปัญหาพันธุ์ข้าว-น้ำขวางทาง

นายเจริญ กล่าวอีกว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยในปัจจุบัน มีปัญหา 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ 1.พันธุ์ข้าว ไม่มีพันธุ์ข้าวต้นทุนตํ่า ให้ผลผลิตต่อไร่สูง และไม่มีพันธุ์ข้าวพื้นนิ่มใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ที่ปลูกอยู่เป็นข้าวพื้นแข็ง ดังนั้นโจทย์คือ จะต้องมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนตํ่า ถึงจะแข่งตลาดได้ วันนี้ผลผลิตข้าวเปลือกของชาวนาไทยเฉลี่ย 450 กิโลกรัมต่อไร่ เวียดนาม 800 กิโลกรัมต่อไร่ ดังนั้นราคาข้าวไทยแข่งขันยากขึ้น เพราะผลผลิตต่ำ ต้นทุนสูง ชาวนาต้องพึ่งรัฐบาลที่ใช้เงินอุดหนุนทุกปี

 2. เรื่องน้ำ ชาวนาในพื้นที่ชลประทานมีเพียง 20% จะทำอย่างไรให้ชาวนามีน้ำใช้ทำนา หรือใช้เพื่อการเกษตรอื่นๆ ตลอดทั้งปี ยกตัวอย่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ซึ่งเป็นพื้นที่ใหญ่สุดในการทำนา ประมาณ 35 ล้านไร่ หากสามารถปลูกข้าวนาปรังได้อีกครอป จะช่วยทำให้มีข้าวส่งออกได้อีกหลายล้านตัน เฉลี่ยต้นทุนการผลิตจะต่ำลง หากทำ 2 อย่างข้างต้นได้ เชื่อว่าปัญหาอุตสาหกรรมข้าวไทยจะดีขึ้น และมีความมั่นคงทั้งรายได้และการส่งออก

 

อียูรีดภาษี-จี้เร่งข้าวคาร์บอนต่ำ

อีกหนึ่งเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยต้องเร่งทำอย่างจริงจัง คือ การผลิตข้าวคาร์บอนตํ่า ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดพื้นที่เป้าหมาย เพราะในอนาคตอีก 2 ปีข้างหน้าจะเป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ทำให้ข้าวไทยขายยากขึ้น และจะถูกเก็บภาษีคาร์บอนที่สูงขึ้น เวลานี้สหภาพยุโรป หรืออียู ที่เป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญของข้าวไทย ได้เริ่มส่งสัญญาณมาแล้วว่าในปี 2570 ถ้าไม่มีข้าวคาร์บอนต่ำขาย จะต้องเสียภาษีนำเข้าประมาณ 200 ยูโรต่อตัน ทำให้ไทยยิ่งเสียเปรียบคู่แข่งขัน (ปัจจุบันเวียดนามที่มีเอฟทีเอกับอียู ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าข้าว ส่วนไทยเสียอยู่ที่ 140 ยูโรต่อตัน)

ทำนาคาร์บอนต่ำ

ดังนั้นในเรื่องข้าวคาร์บอนตํ่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย จะต้องเร่งดำเนินการให้เป็นมาตรฐานและมีความต่อเนื่องในทุกรัฐบาล ที่ผ่านมาข้าวที่ไทยส่งออกไปตลาดอียูส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ เกรดพรีเมียม เฉลี่ยปีละกว่า 2 แสนตัน รวมทั้งข้าวอินทรีย์ หากไทยทำข้าวคาร์บอนตํ่าสำเร็จ ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะขยายตลาดการส่งออกไปยังตลาดอียู และตลาดอื่นๆ ได้อีกมาก

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,065 วันที่ 26 - 29 มกราคม พ.ศ. 2568