จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่น ความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล สากล ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ 1500 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2100 เมกะเฮิรตซ์ 2300 เมกะเฮิรตซ์ และ 26 กิกะเฮิรตซ์ ในเว็บไซต์แล้ว
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานรายงานว่า กสทช. เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดี 6 กุมภาพันธ์ 2568 กสทช. จะจัดประชาพิจารณ์อีกครั้ง เนื่องจากเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2568 ที่ประชุมมี (ร่าง) มติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) สำนักงาน กสทช. คาดว่าการประมูลที่จะเกิดขึ้นประมาณปลายไตรมาส 1/2568 หรือในช่วงกลางเดือนเม.ย.2568 นี้
สำหรับวิธีการประมูล และเงื่อนไขในการเข้าร่วมประมูลทั้ง 6 คลื่นความถี่ย่าน จะกำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่แบบ Simultaneous Ascending Clock Auction ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ (Allocation Stage) และขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ (Assignment Stage) ผู้เข้าร่วมการประมูลต้องเสนอจำนวนคลื่นความถี่ ณ ราคาประมูลในแต่ละรอบ โดยราคาชุดคลื่นความถี่จะเพิ่มขึ้นทุกชุดของแต่ละย่านความถี่
เนื่องจากคลื่นความถี่ในปี 2568 จำนวน 3 คลื่น ได้แก่ คลื่น 850 MHz คลื่น 2100 MHz และ คลื่น 2300 MHz ที่อยู่กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน ) หรือ เอ็นที จะสิ้นสุดการให้บริการ 3 สิงหาคม 2568 ต้องคืนคลื่นกลับมาให้ กสทช.จัดสรรใหม่ โดยอนุกรรมการทั้งด้านเทคนิคและด้านเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์เรื่องเทคนิคและรูปแบบการประมูลรวมถึงราคาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านี้ นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ บอร์ด กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากการหารือกับเอกชนมีความต้องการใช้งานในคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHzต่อเนื่อง และเห็นด้วยที่จะนำมาประมูลก่อน เพราะได้ลงทุนอุปกรณ์ต่างๆ ไปแล้ว ซึ่งได้ใช้งานมาเพียง 3-5 ปีเท่านั้น และเมื่อดูงบประมาณการเงินของเอกชนน่าจะมีความพร้อมด้านการเงินในปี 2569 จากภาระการจ่ายค่าใบอนุญาตจะลดลง และการลงทุนในคลื่นดังกล่าว ไม่ต้องลงทุนใหม่ทั้งหมด.