ก่อนหน้านี้กระแสข่าวระบุ ทรัมป์เตรียมลงนามในคำสั่งบริหารมากกว่า 200 ฉบับในวันแรก เพื่อทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ครอบคลุมเรื่องความมั่นคงชายแดน การเนรเทศผู้อพยพครั้งใหญ่ การยกเลิกหลายโครงการที่รัฐบาลชุดก่อนได้ริเริ่มไว้ การเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซ รวมถึงนโยบายอื่น ๆ เช่น การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเพื่อลดการขาดดุลการค้า ทั้งสินค้าจากจีน เม็กซิโก แคนาดา และจากประเทศอื่น ๆ ที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ของไทยชี้ว่า มีสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงที่อาจถูกสหรัฐพิจารณาใช้มาตรการทางภาษีประมาณ 29 กลุ่มสินค้า เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับไทยมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2566)
เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, เครื่องโทรศัพท์มือถือ,ไดโอด ทรานซิสเตอร์,โซลาร์เซลล์, ยางนอกชนิดอัดลมที่เป็นของใหม่, หม้อแปลงไฟฟ้า, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์, วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณและส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีรายการกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่อาจมีความเสี่ยงถูกเก็บภาษี อาทิ เครื่องจักรไฟฟ้า ตู้เย็นตู้แช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์จากไม้ รวมถึงสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปบางรายการ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มีหลายเรื่องที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะดำเนินการ ซึ่งมีความย้อนแย้งหรือตรงกันข้ามกับที่อดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ดำเนินการมาอย่างสิ้นเชิง
ตัวอย่างเช่น ทรัมป์สนับสนุนให้มีการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale oil & shale gas) หรือพลังงานจากฟอสซิลที่สร้างมลพิษมากเพื่อให้ได้พลังงานราคาถูก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สหรัฐ โดยไม่ให้ความสำคัญในเรื่องพลังงานสะอาด หรือลดโลกร้อนเหมือนในสมัยไบเดน
“ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงทั่วโลกที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่เรื่องของ Net Zero มีโรดแม็ปที่ชัดเจน และมีการเข้าร่วมการประชุมความตกลงปารีสใน COP ต่าง ๆ ล่าสุดก็คือ COP29 โรดแม็ปเหล่านี้ ทุกประเทศจะทำอย่างไร จะเดินต่ออย่างไร หากพี่ใหญ่คือสหรัฐไม่เดินหน้าต่อ”
ล่าสุดธนาคารชั้นนำของสหรัฐ 7 แห่ง ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของโลกได้ถอนตัวออกจากกลุ่มพันธมิตรธนาคารสุทธิศูนย์ ( Net Zero Bank Alliance : NZBA) ซึ่งเป็นกลุ่มกำหนดเป้าหมายสุทธิเป็นศูนย์ของอุตสาหกรรมการธนาคารระดับโลกแล้ว และถึงแม้จะมีธนาคารที่เป็นพันธมิตรอีก 100 กว่าประเทศยังไม่ถอนตัว แต่ทุกคนก็งงไปหมดว่าทำไมจึงถอนตัว จากเมื่อก่อนสหรัฐเป็นตัวตั้งตัวตี
ขณะเดียวกันก็มีความย้อนแย้ง จากโดนัลด์ ทรัมป์ มีคู่หู และเป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญคือ อีลอน มัสก์ ซึ่งถือเป็นบิดาแห่งพลังงานสะอาด และให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมาก เรื่องเหล่านี้จะไปกันอย่างไร ถือเป็นความย้อนแย้งที่ทุกคนเฝ้าจับตาดู
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีความย้อนแย้ง กรณีที่ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 60-100% สินค้าจากเม็กซิโก และแคนาดา 25% และสินค้าจากประเทศอื่น ๆ 10-20% ขณะที่ในหลายสินค้า สหรัฐยังไม่สามารถผลิตสินค้าเหล่านั้นได้เลย ซึ่งการขึ้นภาษีนำเข้าจะส่งผลทำให้สินค้าทั้งหลายแพงขึ้น และก็จะทำให้ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐ ที่เวลานี้ยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ 2% อยู่ที่ระดับ 2.7-2.8%
การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐสูงขึ้นเป็น 3% หากเป็นเช่นนั้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ก็อาจจะลดลงไม่ได้อีก และอาจต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด และจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมหาศาล สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกคนมองว่าเป็นความย้อนแย้ง
“การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายหรือแลนด์สไลด์ สาเหตุหนึ่งคือ ปัญหาที่เกิดในสมัยไบเดน ที่มีภาวะเงินเฟ้อสูงมาก ข้าวของแพง และคนก็หวังให้ทรัมป์ เข้ามาบริหารจัดการแก้ไขปัญหานี้ แต่ทรัมป์มา แล้วจะยิ่งส่งผลทำให้สินค้าต่าง ๆ ที่นำเข้าแพงขึ้น ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งเราก็อยากจะดูและเฝ้าติดตามว่าเขาจะทำอย่างไร”
อย่างไรก็ดีส่งที่โจ ไบเดน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่(ทรัมป์ 2.0) เห็นตรงกันคือ มองจีนเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่ง ดังนั้นจึงยังดำรงในเรื่องการทำสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยีกับจีน
โดยในด้านการค้าทรัมป์ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ 60-100% ซึ่งจะส่งผลกระทบกับไทยและอาเซียนคือ สินค้าจีนที่ถูกสหรัฐตั้งกำแพงภาษีจะไหลบ่าทะลักมาที่ไทยและในอาเซียนมากขึ้นกว่าในสมัยไบเดน หากรัฐบาลไทยไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ดีพอและได้ผล จะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยต้องปิดตัวมากขึ้น
ขณะที่สงครามทางด้านเทคโนโลยี คาดจะมีความรุนแรงมากขึ้นเพราะทรัมป์ และไบเดน ไม่ยอมให้มีการส่งออกเทคโนโลยีสำคัญ ๆ ของสหรัฐ มีการจำกัดในเรื่องชิป หรือเซมิคอนดักเตอร์ รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือทางเทคโนโลยีทุกอย่าง จะมีการปิดล้อมเพื่อไม่ให้จีนเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเมื่อทรัมป์เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ในแต่ละประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นจะมีพัฒนาการไปอย่างไร