ทั่วโลกจับตามองสถานการณ์การเมืองโลก วันที่ 20 มกราคม 2025 เมื่อ "โดนัลด์ ทรัมป์" จะเข้าสู่พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง “ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา” และกลับสู่ทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง พร้อมกับขับเคลื่อนนโยบายหลายอย่าง โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนไปทั้งโลกอย่างแน่นอนในไม่ช้านี้
ล่าสุด นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มองสถานการณ์เศรษฐกิจหลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ เข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะกรณีแนวทางการขึ้นภาษีประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งประเมินว่า แนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจะมีการประกาศขึ้นภาษีไปก่อน จากนั้นจึงจะเปิดโอกาสให้มีการเจรจากับสหรัฐฯ ในลำดับถัดไป
ทั้งนี้ในแนวทางการเจรจานั้น ที่ผ่านมามีข้อเสนอของภาคเอกชน เสนอให้รัฐบาลตั้งทีมไปเจรจากับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ โดย สศช. มองว่า แนวทางการเจรจาที่เหมาะสม คืออาจต้องให้รัฐบาลไทย ใช้กลไกความร่วมมือของอาเซียน เปิดเวทีเจรจากับสหรัฐฯ เพราะหากไทยไปเจรจากับสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวอำนาจต่อรองอาจจะไม่พอ แต่หากร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ในฐานะของภูมิภาคแบบนี้โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จมากกว่า
“ในรายละเอียดการเจรจาจะมีข้อแลกเปลี่ยนอย่างไร เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้า หรือวิธีการอื่น ๆ เป็นรายละเอียดที่จะมีการคุยกันในขั้นตอนต่อมา แต่ในขั้นตอนการเจรจานั้นการรวมกลุ่มกันไปเจรจาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพราะหากไปเจรจาประเทศเดียวโอกาสสำเร็จอาจน้อยเนื่องจากประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็ก”
ก่อนหน้านี้ สศช. ได้ประเมินการดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้ารอบใหม่ของสหรัฐฯ คาดการณ์จะสามารถดำเนินการได้ผ่าน 4 แนวทางหลัก ประกอบด้วย
1. การดำเนินการผ่านมาตรการ 201 แห่ง พ.ร.บ. การค้า 2517 ว่าด้วยมาตรการกำหนดการปกป้องภายในประเทศเป็นการชั่วคราว เช่น การเพิ่มภาษีนำเข้า เมื่อมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากที่เป็นสาเหตุสำคัญของความเสียหายร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ (Safeguard) โดยมีผู้รับผิดชอบ คือ คณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ (U.S. International Trade Commission: ITC) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้รัฐบาลกลาง
2. การดำเนินการผ่านมาตรการ 301 ว่าด้วยมาตรการจัดการกับการละเมิดข้อตกลงการค้า หรือการกระทำนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากต่างประเทศ โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบ คือ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR)
3. การดำเนินการผ่านมาตรา 232 ว่าด้วยการจัดการกับการละเมิดข้อตกลงการค้า หรือการกระทำนโยบาย หรือแนวปฏิบัติที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ โดยมีผู้รับผิดชอบคือ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่ง 2 ช่องทางนี้ถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร
4. การออกกฎหมายเพื่อยกเลิกหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation Treatment: MFN) ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ท้าทายต่อระบบการค้าระหว่างประเทศโดยรวม โดยช่องทางการออกกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ในกรณีทั่วไปคาดว่ากระบวนการในการดำเนินการในการขึ้นภาษีน่าเข้าสินค้าจากจีน และประเทศอื่น ๆ ทั้ง 4 แนวทางจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการด่าเนินการไม่ต่ำกว่าอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนจะมีผลบังคับใช้
ส่วนประเด็นการที่มีบริษัทจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยเพิ่มโดยไปจดทะเบียนในสิงคโปร์ แล้วเข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยมีการขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นั้น เลขาฯ สศช. เห็นว่า ลักษณะนี้เป็นบริษัทจากจีนที่ย้ายการผลิตออกจากจีน เพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี จึงไปจดทะเบียนบริษัทอย่างถูกต้องที่สิงคโปร์เป็นบริษัทสัญชาติสิงคโปร์ก่อนที่จะเข้ามาลงทุนในไทย หากสหรัฐฯ ตรวจสอบจริงๆจะรู้ได้ว่าเป็นบริษัทจากจีน ซึ่งก็มีโอกาสที่จะถูกมาตรการทางภาษีได้เช่นกัน
“แนวทางที่ควรดำเนินการคือ เมื่อบริษัทต่างชาติเข้ามาขอบีโอไอจากไทย ก็ควรมีกลไกให้บริษัทไทยถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเหล่านั้น เพื่อให้เป็นบริษัทไทย โดยอาจให้สิทธิประโยชน์เพิ่มในส่วนที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีเทคโนโลยี หรือองค์ความรู้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ประเทศไทยต้องการให้เข้ามาลงทุนในไทยและจดทะเบียนเป็นบริษัทไทย"