ก.พ.ร. ชงปรับโครงสร้างบอร์ด "สถานบันเทิงครบวงจร" ตั้งสนง.ต้องคุ้มค่า

18 ม.ค. 2568 | 14:26 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ม.ค. 2568 | 14:32 น.

สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอแนะ ร่าง พ.ร.บ. "สถานบันเทิงครบวงจร" ต้องปรับโครงสร้างบอร์ดเท่าที่จำเป็น ดึงคนรู้จริงนั่งผู้ทรงคุณวุฒิ ตั้งสำนักงานต้องคุ้มค่า ปรับกฎหมายให้สอดคล้อง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า น.ส.อ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้เสนอความเห็นประกอบการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจ สถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ..... ซึ่งผ่านการเห็นชอบในกลักกการจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไปก่อนหน้านี้ โดย ก.พ.ร. พิจารณาแล้ว เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ ออกตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่มนุษย์สร้างขึ้น 

โดยสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) เป็นส่วนประกอบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษี ขณะเดียวกันต้องพิจารณาถึงผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะธุรกิจกาสิโนซึ่งยังคงมีความเห็นต่างในสังคม 

ดังนั้นการดำเนินนโยบายในเรื่องนี้จึงจำเป็นต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนถึงขอบเขตการดำเนินการตามนโยบายมิได้มุ่งเน้นเฉพาะการประกอบธุรกิจกาสิโน โดยจะเป็นการดึงเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่จากต่างประเทศ มีพื้นที่จัดกิจกรรมระดับโลก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการท่องเที่ยวในภูมิภาค 

รวมทั้งควรต้องติดตามและประเมินผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรซึ่งเป็นนโยบายใหม่เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ใน ระยะต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของบทบัญญัติตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. มีข้อสังเกตดังนี้

1. กลไกคณะกรรมการตามร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ....

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดให้มีระบบคณะกรรมการ 2 ระดับ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร และคณะกรรมการบริหาร ซึ่งตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 77 กำหนดให้มีระบบคณะกรรมการในกฎหมายเท่าที่จำเป็น 

ประกอบกับการดำเนินการการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรในต่างประเทศกำหนดให้มีคณะกรรมการคณะเดียว ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมการกำกับดูแลในกิจกรรมอื่นด้วย เช่น ลอตเตอรี่ การพนัน จึงเห็นควรพิจารณาทบทวนให้กำหนดระบบคณะกรรมการเท่าที่จำเป็น 

กรณีมีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีคณะกรรมการสองระดับ ทั้งคณะกรรมการนโยบายฯ และคณะกรรมการบริหาร เห็นควรพิจารณาปรับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในเชิงปฏิบัติ ตามที่ได้กำหนดไว้ในร่างมาตรา 11 (9) (11) และ (14) เช่น การกำหนดวันเวลาเปิดปิด และสถานที่ตั้งของสถานบริการให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารแทน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและไม่เป็นภาระของคณะกรรมการนโยบายที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ 

ทั้งนี้ เห็นควรกำหนดหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายฯ เพิ่มเติม ให้มีการประเมินผลกระทบจากการดำเนินนโยบาย ภายในระยะเวลา 5 ปีแรก ครอบคลุมการประเมินผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารตามร่างมาตรา 15 ซึ่งกำหนดกรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 11 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 3 คน ด้านเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย หรือสังคม ซึ่งการดำเนินนโยบายเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้มีความรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพ 

จึงเห็นควรเพิ่มเติมจำนวนผู้ทรงคุณวุฒิให้สมดุลกับกรรมการโดยตำแหน่ง และให้คณะกรรมการนโยบายกำหนดเพิ่มเติมสาขาของผู้ทรงคุณวุฒิได้นอกเหนือจากสาขาดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้รองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวหรือหมุดหมายใหม่ในอนาคตเพิ่มเติมด้วย

นอกจากนี้ เพื่อให้การได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการบริหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการของสำนักงานจึงควรกำหนดเรื่องกระบวนการสรรหาตำแหน่งเหล่านี้ไว้ในกฎหมายด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นที่ยอมรับของสังคม

2. การจัดตั้งสำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร

ตามร่างมาตรา 20 เพื่อทำหน้าที่ ในการกำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และสนับสนุนสถานบันเทิงครบวงจรนั้น เนื่องจากเป็นสำนักงานที่จัดตั้งขึ้นใหม่ จึงเห็นควรพิจารณาถึงศักยภาพและความคุ้มค่าเป็นสำคัญ โดยร่างมาตรา 20 วรรคสองกำหนดให้สำนักงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น 

ควรปรับเป็น “สำนักงานมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น” เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการตีความประเภท หรือสถานะของหน่วยงาน และควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าในการจัดตั้งสำนักงานสาขาหรือตัวแทนตามที่กำหนดไว้ในร่างมาตรา 21 

โดยควรพิจารณานำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับ ดูแล ควบคุมสถานประกอบการแทนการจัดตั้งสำนักงานสาขาในพื้นที่ 

นอกจากนี้ ควรพิจารณากำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานให้สอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการบริหารที่นำมากำหนดให้ดำเนินการแทนคณะกรรมการนโยบายด้วยแล้ว

รวมทั้งควรพิจารณาเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจในการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจร ในร่างมาตรา 22 (1) เพื่อให้สำนักงานสามารถกำกับ ดูแล ควบคุมสถานประกอบการให้เท่าทันธุรกิจประเภทนี้ซึ่งมีความเป็นพลวัตรสูง

3. การอนุมัติ อนุญาต

ตามร่างมาตรา 43 และมาตรา 44 ควรดำเนินการให้สอดคล้องตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งร่างมาตรา 43 วรรคสอง ที่กำหนดให้สำนักงานตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนของคำขอ 

รวมทั้งให้สำนักงานแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายใน 15 วันนับแต่วันยื่นคำขอ และร่างมาตรา 44 วรรคสาม ที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจพิจารณา เมื่อได้รับคำขอแล้วเห็นว่าคำขอไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไขพร้อมกำหนดระยะเวลาแก้ไขมายังสำนักงาน ซึ่งการกำหนดแนวทางเช่นว่านี้ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ 

จึงเห็นควรให้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติและใช้ระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารที่ล่าช้าเกินสมควร

4. การกำหนดเกี่ยวกับระยะเวลาการเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร

ตามร่างมาตรา 46 วรรคสอง และการกำหนดระยะเวลาของใบอนุญาตตามร่าง มาตรา 49 เห็นควรพิจารณากำหนดระยะเวลาของทั้งสองมาตราให้สอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้นักลงทุนเกิดความสับสน และรักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมการลงทุนและความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจ

5. เนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับสถานบันเทิงครบวงจรมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

จึงเห็นควรพิจารณาการกำหนดบทลงโทษ ผลที่ได้รับจากการกระทำความผิดให้มีความสอดคล้องกันกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชน 

นอกจากนี้ ควรพิจารณากำหนดโทษปรับตามร่าง มาตรา 61 และมาตรา 62 ให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบทางลบต่อสังคมจากการดำเนินการธุรกิจกาสิโน