เอกชนรับมือ ศก.ถดถอย ส่งออกจ่อลดผลิต ท่องเที่ยวลุยฮาร์ดเซลล์

09 ก.ค. 2565 | 10:25 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2565 | 17:52 น.
768

เอกชนระงม ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลังอื้อ ทั้งสงครามยื้อ เงินเฟ้อ พลังงานพุ่ง โควิดสายพันธุ์ใหม่ ฉุดธุรกิจ-เศรษฐกิจไทยเดินช้า “สหรัฐฯ-ยุโรป” ศก.ถดถอย ส่งออกส่งสัญญาณลดผลิต-ปรับขึ้นราคา อสังหาฯ ผวาดอกเบี้ยขาขึ้น ค้าปลีกจี้รัฐปลุกกำลังซื้อ ท่องเที่ยวดันแผน ลุ้น 12 ล้านคน

 

เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2565 แม้จะมีข่าวดี ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน จากรู้สึกว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังสถานการณ์โควิดในประเทศปรับตัวดีขึ้น การผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้ตามปกติ และผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยได้สะดวกขึ้น

 

อย่างไรก็ดี จากดัชนีหลายรายการที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ(ต่ำกว่าระดับ 100) ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต และยังมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับภาคผลิต การค้า อสังหาฯ ค้าปลีก และท่องเที่ยวที่ออกมาประสานเสียงถึงข้อกังวลที่มีทั้งความเหมือนและต่างกัน และได้ให้ข้อเสนอแนะในการรับมือ

 

เอกชนรับมือ ศก.ถดถอย ส่งออกจ่อลดผลิต ท่องเที่ยวลุยฮาร์ดเซลล์

 

5 ปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจครึ่งหลัง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หอการค้าไทยมองปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ โดยไทยตั้งความหวังกับการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังนี้อย่างมาก ดังนั้นการควบคุมโรคโควิดจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากละเลยการควบคุมดูแลที่ดี หรือระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับการแพร่ระบาดได้ จะกระทบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

 

2.ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวสูง บั่นทอนเศรษฐกิจเดินช้า จากเป็นต้นทุนที่ทำให้ราคาสินค้าต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 3.ภาวะเงินเฟ้อที่เชื่อว่าทั้งปีนี้จะสูงกว่า 5% กดดันให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งกระทบต่อผู้ที่มีภาระหนี้ รวมถึงราคาสินค้าต่าง ๆ จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย 4.ภาวะสงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย และ 5.หนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน เป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

“ปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่ภาคเอกชนควบคุมไม่ได้ แต่ทำได้เพียงการบริหารจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้ดีที่สุด เช่น การจัดการกับต้นทุนที่สูงขึ้นจากสงครามและราคาน้ำมันทำให้วัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น จำเป็นต้องหาแหล่งซัพพลายใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง รวมถึงหาตลาดใหม่ ๆ มารองรับ  ที่หอการค้าไทยทำอยู่ เช่น การเจรจาขอซื้อปุ๋ยจากซาอุดิอาระเบีย การเปิดตลาดการค้าและการท่องเที่ยวกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอกชนทำเองโดยลำพังไม่ได้ เพราะช่วงเศรษฐกิจมีความผันผวนสูง และเปลี่ยนแปลงรวดเร็วต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนคือทางรอดของประเทศ” นายสนั่น กล่าว

 

 

ส่งสัญญาณลดผลิต-ขึ้นราคา

มุมมอง นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย 5 อันดับแรกในครึ่งหลังของปีนี้ ได้แก่ 1.สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสินค้าไทยโดยเฉพาะสินค้าเกษตร มีต้นทุนที่สูงขึ้น จากทั้งจากราคาปุ๋ย น้ำมัน และวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น 2.ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูง กระทบต้นทุนผู้ประกอบการและค่าครองชีพประชาชน

 

3.การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป(สัดส่วนรวมกัน 20% ของการส่งออกไทย) จะส่งผลต่อการส่งออกไปสองตลาดนี้ชะลอตัวลงในช่วงจากนี้ไป 4.ค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงจนถึงปีหน้า ทำให้ภาคส่งออกที่เป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีต้นทุนที่ต้องแบกรับในระดับสูง และ 5.จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่เริ่มกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

แผนรับมือต่อปัจจัยเสี่ยง ข้างต้น เช่น ด้านพลังงาน รัฐควรขยายมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันต่อไปอีก เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ผลิตและประชาชน ผู้ผลิตอาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าขั้นสุดท้าย เพื่อไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นฝ่ายเดียว และระยะสั้น ผู้ประกอบการอาจต้องปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อไม่ให้กระทบสัดส่วนการใช้น้ำมันในการผลิต ด้านอาหาร หากสถานการณ์ต้นทุนสูงยังไม่คลี่คลาย ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องผลักภาระให้ผู้บริโภค หรืออาจส่งออกสินค้าเกษตรลดลงเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ”

 

อสังหาฯผวาดอกเบี้ยขาขึ้น

ด้าน นายมีศักดิ์​ ชุนหรักษ์โชติ​ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ ผู้ประกอบการกำลังเผชิญกับ “สมการ” ความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น จากแรงกดดันทางเศรษฐกิจหลายตัว โดยเฉพาะปัจจัยเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนไหลออก และแก้ปัญหาเงินบาทอ่อนค่า

 

ทั้งนี้ความน่ากังวลอยู่ที่ การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ มีความต่างกันอยู่ โดยเฟดพยายามลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากมีการอัดเม็ดเงินเข้าระบบเป็นจำนวนมาก แต่ไทยภาวะเศรษฐกิจไม่ได้ร้อนแรงเช่นนั้น แถมชะลอตัวด้วยซ้ำ

 

มีศักดิ์  ชุนหรักษ์โชติ

 

“ประเมินว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบในภาคอสังหาฯ ทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้พัฒนา โดยเฉพาะความเข้มงวดเรื่องการขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการ อีกทั้งทราบว่า เร็ว ๆ นี้ อสังหาฯ มีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระหลายราย จึงอาจได้เห็นภาพการทยอยออกหุ้นกู้เสนอดอกเบี้ยสูงเพื่อนำมาจ่ายทบกลายเป็น ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น สมทบต้นทุนเรื่องราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งน่าจะยังเป็นปัญหาไปอีกอย่างตํ่า 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง โดยจะผันผวนตามราคานํ้ามัน”

 

อย่างไรก็ตาม สัญญาณบวกการทำธุรกิจขณะนี้ ยังพอมี จากภาคส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นพระเอกฟื้นเศรษฐกิจได้ดี และเนื่องจากเศรษฐกิจไทย มีการฟื้นตัวแบบ "K-Shaped" ทำให้ฐานลูกค้าของธุรกิจอสังหาฯ บ้านระดับกลาง-บน ยังไปได้ สะท้อนจากยอดขายช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ส่วนระดับล่าง มีกับดักปัญหาเรื่องรายได้ และหนี้ครัวเรือน ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากภาคธนาคารได้ เป็นต้น

 

ค้าปลีกจี้รัฐปลุกกำลังซื้อ

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) ในเดือน มิ.ย. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม สะท้อนให้เห็นว่ามีความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ย ขณะเดียวกันจะเห็นว่าผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายอย่างเร่งด่วน

 

ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายในการกระตุ้นการจับจ่าย ไม่ว่าจะเป็นโครงการช้อปดีมีคืน, เมืองปลอดภาษี ฯลฯ เพื่อให้ผู้มีกำลังซื้อออกมาใช้จ่ายแทนที่จะไปใช้จ่ายในต่างประเทศ รวมทั้งรัฐต้องมีมาตรการกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อควบคุมราคาสินค้า ลดภาระค่าครองชีพของผู้บริโภค รวมไปถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โครงการต่าง ๆ เพื่อให้มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการอย่างเป็นรูปธรรม

 

ฉัตรชัย  ตวงรัตนพันธ์

 

อย่างไรก็ดี ทิศทางค้าปลีกในครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟู แต่ก็ยังคงมีความเปราะบาง จากยังเผชิญกับ 5 มรสุมเศรษฐกิจ ได้แก่ ดอกเบี้ยขาขึ้น, ภาวะหนี้ครัวเรือน, ราคาน้ำมัน, โควิด -19 และสงคราม และการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก

 

ท่องเที่ยวยังหวัง 12 ล้านคน

ขณะภาคท่องเที่ยวที่เป็นอีกความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากช่วงครึ่งแรกของปีนี้ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว 2 ล้านคน โดยการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่ 1 ก.ค.65 จะส่งผลดีอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเพิ่มเป็น 2.5-3 หมื่นคนต่อเดือน ซึ่งในไตรมาส 3 ปีนี้น่าจะเดินทางเข้าไทย 1 ล้านคนต่อเดือน และไตรมาส 4 น่าจะลุ้นเข้าไทย 1.5 ล้านคนต่อเดือน ทำให้ปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)หวังนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 10 ล้านคน จากเป้าหมายการท่องเที่ยวในปีนี้ที่ ททท.ตั้งเป้าจะสร้างรายได้รวม 1.5 ล้านล้านบาท

 

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ ไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.มองว่าหากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนร่วมกันออกแบบเครื่องมือพิเศษแบบ Booster Shot เพื่อผลักดันให้การท่องเที่ยวฟื้นเศรษฐกิจ ก็น่าจะช่วยกันผลักดันให้ต่างชาติเที่ยวไทยได้ถึง 12 ล้านคนในสิ้นปีนี้ตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้ เพื่อรักษาการจ้างงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน

 

ชำนาญ  ศรีสวัสดิ์

 

แต่โจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรากำลังต่อสู้กับ 3 สงคราม ได้แก่ 1.สงครามโควิด-19 ที่เรากำลังจะก้าวสู่ชัยชนะให้ได้ 2.สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันทุกชนิดแพงขึ้น เงินเฟ้อสูงขึ้น 3.สงครามช่วงชิงนักท่องเที่ยว(Tourism War Game) ที่หลายประเทศเห็นตรงกันว่าการท่องเที่ยวคือกลไกในการฟื้นประเทศที่ดีที่สุด รวดเร็ว ใช้ทุนน้อย และกระจายรายได้สู่ประชาชนได้มากที่สุด จึงเร่งออกกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาแข่งกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

 

ดังนั้นการจะให้ได้ตามเป้าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เช่น กระทรวงวัฒนธรรมมาช่วยเรื่อง Soft Power เติมเสน่ห์ให้กับการท่องเที่ยว กระทรวงการคลังมาช่วยเรื่อง Soft Loan ช่วยเติมทุน กระทรวงแรงงานมาช่วยสร้าง Soft Skill เติมความรู้ กระทรวงดิจิทัลฯมาช่วยเรื่องพัฒนา Software / Platform / Big Data เติมสมอง ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ททท. และ สทท. ต้องจับมือกันทำ Hard sell เพื่อเติมลูกค้า

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3799 วันที่ 10 -13 กรกฎาคม 2565