เปิดคัมภีร์ส่งออก ฝ่าเศรษฐกิจโลกถดถอย ลุ้นตัวเลขทั้งปีโต10%

04 ก.ค. 2565 | 12:15 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2565 | 19:52 น.

ราคาพลังงาน และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ดันเงินเฟ้อ และค่าครองชีพของคนไทย และผู้บริโภคทั่วโลกพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สวนทางกำลังซื้อที่แผ่วลงในเวลานี้ มีปัจจัยหลักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ และยังไร้จุดจบ

 

จากสงครามที่ยืดเยื้อ เงินเฟ้อพุ่ง กำลังซื้อลดลง ส่งผลเศรษฐกิจโลกเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งในเวลานี้ภาคการส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ถือเป็นความหวังใหม่ที่จะมาเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ยังคงขยายตัวเป็นบวก

 

นายชัยชาญ  เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การส่งออกไทยยังขยายตัวได้ดี ตัวเลข 4 เดือนแรก รูปเงินบาทส่งออกได้ 3.18 ล้านล้านบาท ขยายตัว 24.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่คาดการณ์การส่งออกไตรมาสที่ 2 จะขยายตัวได้ที่ 3-5% (รูปดอลลาร์สหรัฐฯ) และทั้งปีนี้คาดจะขยายตัวได้ที่ 5-8% ( ณ มิ.ย.65)

 

ฝ่าพายุพลังงาน-เงินเฟ้อพุ่ง

โดยการส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงในหลายเรื่อง ที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ราคาพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ ที่ทรงตัวในระดับสูง ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าและต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ตั้งแต่ปลายไตรมาส 3 เป็นต้นไปจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวความต้องการใช้พลังงานของโลกจะเพิ่มสูงขึ้น หากปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซไม่เพิ่มมาก ราคาอาจปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยน้ำมันดิบมีโอกาสจะทะลุเหนือ 120 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในปลายปีนี้

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

ต่อมาคือ เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลกตามราคาพลังงาน และอาหาร กระทบค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ของถูกจะไม่มีอีกต่อไป สวนทางกับกำลังซื้อผู้บริโภคหดตัวลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องวัตถุดิบในการผลิตเพื่อส่งออก และเพื่อจำหน่ายในประเทศขาดแคลน และราคาผันผวน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (ไมโครชิพ) เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด รวมถึงปุ๋ย ที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายสำคัญของโลก

 

“เวลานี้สินค้าต่าง ๆ ที่ผลิตในประเทศที่เรายังไม่ขาดแคลนและต้องกักตุนเหมือนในต่างประเทศ เช่น ในสินค้าอาหาร จากส่วนใหญ่เรามีวัตถุดิบที่ผลิตได้เองในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเราต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ข้าวสาลี แป้งสาลี ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน ซึ่งตอนนี้ยังไม่ขาดแคลนมาก เพราะส่วนใหญ่ยังมีสต๊อกเก่าเหลืออยู่เกือบทุกคน แต่เวลานี้จากสงคราม ทำให้ครอปการเพาะปลูกของยูเครนหายไป  ดังนั้นห่วงโซ่อาหารของโลกอาจจะชะงักงัน และเห็นผลชัดเจนในปีหน้า และหากสภาพดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจผสมโรง โลกก็จะยิ่งขาดแคลนอาหาร”

 

เปิดคัมภีร์ส่งออก ฝ่าเศรษฐกิจโลกถดถอย ลุ้นตัวเลขทั้งปีโต10%  

 

สต๊อกเก่าหมดราคาสินค้าทะยาน

จะเห็นว่าในเวลานี้หลายประเทศจากเดิมไม่กักตุนอาหารก็เริ่มมีการกักตุน เมื่อมีการกักตุนก็จะเกิดดีมานด์หรือความต้องการแฝงขึ้นมา ขณะที่ผลผลิตพืชอาหารจะลดลงจากปุ๋ยราคาแพง ทำให้ในปีหน้าห่วงโซ่อาหารโลกจะชะงักงัน และขาดแคลนอย่างแท้จริง หากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนยังไม่ยุติ ซึ่งจากสองแรงบวกคือทิศทางราคาพลังงานและราคาอาหารที่หากยังปรับตัวสูงขึ้น จะเป็นตัวเร่งอัตราเงินเฟ้อของโลกยิ่งสูงขึ้นไปอีก ซึ่งในส่วนของประเทศไทยหากสต๊อกวัตถุดิบเก่าของผู้ประกอบการหมดลง และใช้สต๊อกวัตถุดิบใหม่ในราคาสูงขึ้น  ราคาสินค้าก็จะปรับขึ้นแน่นอน

 

“ขณะนี้เศรษฐกิจยุโรปเริ่มชะลอตัว ส่วนสหรัฐฯคาดจะเห็นการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ผลจากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเรื่อย ๆ (เป้าหมายเป็น 3.4% ภายในสิ้นปีนี้) เพื่อสกัดเงินเฟ้อ และจะมีผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เริ่มชะลอตัวลงในปลายไตรมาส 3”

 

ลุย 4 ตลาดใหญ่ลุ้นตัวเลขโต 10%

ดังนั้นผู้ส่งออกไทยต้องมองหาโอกาสตลาดอื่นมากขึ้น เช่น อาเซียน จีน อินเดีย ตะวัน ออกกลาง ที่เปิดประเทศและเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย และมีโอกาสที่จะมาชดเชยการชะลอตัวของตลาดอเมริกาและยุโรปได้ ส่วนราคาพลังงานที่ผันผวนในทิศทางขาขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุน แนวทางรับมือ เช่นการหาวิธีลดการใช้ หรือประหยัดพลังงาน การปรับเปลี่ยนรูปแบบหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์โดยการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงานมากขึ้น รถติดตั้งใช้ก๊าซแอลพีจี หรือใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น

 

นายชัยชาญ กล่าวอีกว่า จากการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี เฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ข้าว น้ำตาล ไก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ยางพารา รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลานี้ส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก ดังนั้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าทาง สรท.จะพิจารณาคาดการณ์ตัวเลขส่งออกอีกครั้งว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 10% หรือไม่