พิษค่าเงินบาทอ่อน กดนำเข้าวูบ 2 ล้านล้าน ต้นทุนพุ่ง-วงจรศก.ป่วน

24 มิ.ย. 2565 | 15:39 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2565 | 23:26 น.
1.1 k

เงินเฟ้อกดเศรษฐกิจโลกสู่ภาวะถดถอย เงินบาทอ่อนค่า 35 บาทต่อดอลลาร์ ทุบซ้ำนำเข้าสินค้าแพงขึ้น ม.หอการค้าฯ คาดส่งผลไทยนำเข้าลดลงปีนี้กว่า 2 ล้านล้านบาท สรท.ห่วงกระทบต้นทุน-ราคาสินค้าพุ่งไม่หยุดผู้บริโภครับกรรมอีกระลอกใหญ่ สายการบิน-แฟชั่นแบรนด์ โอดแบกต้นทุนอ่วม

 

 เงินบาทที่อ่อนค่ามากสุดในรอบ 5 ปี ที่ระดับมากกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ จากเงินทุนไหลออกจากตลาดทุน หลังธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี และเตรียมปรับขึ้นอีกหลายรอบ ส่งผลธนาคารกลางของชาติต่าง ๆ ได้ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตาม ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ฮังการี บราซิล ไต้หวัน และอื่น ๆ เป้าหมายหลักเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทั่วโลก

 

นอกจากนี้เงินบาทที่อ่อนค่า ยังมีแรงกดดันจากแรงขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ การเทขายทองเพื่อทำกำไรดอลลาร์ เป็นต้น การอ่อนค่าของเงินบาทในครั้งนี้แม้จะส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออกสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าถูกลง แต่อีกด้านส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องใช้เงินบาทต่อดอลลาร์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก และเพื่อขายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น

จับตานำเข้าวูบ 2 ล้านล้าน

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินบาทไทยเคยอ่อนค่ามากสุดในปี 2545 ที่ 43 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และแข็งค่ามากสุดในปี 2554 ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ปี 2564 ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 31.90 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราแลกเปลี่ยนล่าสุด ณ วันที่ 23 มิ.ย. 2565 อ่อนค่าอยู่ที่ 35.38 บาทต่อดอลลาร์

 

จากสถิติใน 20 ปีที่ผ่านมา หากเงินบาทอ่อนค่า 1% จะทำให้การนำเข้าสินค้าลดลง 2.5% หากเปรียบเทียบค่าเงินบาท ณ ปัจจุบันกับค่าเฉลี่ยปี 2564 จะอ่อนค่าลงไป 10% ซึ่งจากปี 2564 ไทยมีการนำเข้าสินค้าทุกกลุ่มจากต่างประเทศ มูลค่ากว่า 8.52 ล้านล้านบาท ภายใต้สมมุติฐานนี้ คาดในปีนี้การนำเข้าสินค้าของไทยจะลดลงจากปีที่ผ่านมากว่า 2.13 ล้านล้านบาท (ภายใต้สมมุติฐานปัจจัยอื่น ๆ คงที่)

 

อย่างไรก็ดีกรณีที่ดี หากสงครามรัสเซีย-ยูเครนสามารถคลี่คลายลงช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ จะส่งผลเศรษฐกิจ การค้าโลกกลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น การบริโภคของโลกเพิ่มขึ้น เงินเฟ้อปรับตัวลดลง การนำเข้าของไทยอาจลดลงไม่สูงถึงที่ตั้งสมมุติฐานไว้ข้างต้น แต่หากสถานการณ์ทุกอย่างยังไม่คลี่คลาย เงินบาทยังอ่อนค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์ ก็มีโอกาสสูงที่การนำเข้าสินค้าของไทยปีนี้จะลดลงในระดับดังกล่าว

 

อัทธ์  พิศาลวานิช

 

“คาดการนำเข้าในครึ่งหลังปีนี้จะชะลอตัวลงกว่าครึ่งปีแรก เหตุผลคือ 1.หากอัตราดอกเบี้ยของไทยไม่เปลี่ยนแปลง เงินไหลออก ค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่ากว่าปี 2564 และอ่อนค่ากว่าครึ่งปีแรก 2.เงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะสูงกว่าครึ่งปีแรก ส่งผลต่อกำลังซื้อและต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น และ 3.เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยชะลอตัวในครึ่งปีหลัง โดยเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ในตลาดหลักคือ สหรัฐฯ และยุโรป ที่มีสัดส่วนรวมกันประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกของไทย รวมถึงภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ผู้บริโภคกำลังซื้อลดลง ทำให้การนำเข้าชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีเงินบาทมีผลต่อการส่งออก 20% อีก 80% เป็นผลจากเศรษฐกิจโลก”

 

พิษค่าเงินบาทอ่อน กดนำเข้าวูบ 2 ล้านล้าน ต้นทุนพุ่ง-วงจรศก.ป่วน

 

นำเข้าผลิตส่งออกชะลอ

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลด้านบวกต่อภาคการส่งออกแน่นอน โดย 4 เดือนแรกปีนี้มีส่วนสำคัญช่วยให้ส่งออกไทยขยายตัว 13.7% (รูปดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่อีกด้านจะกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบที่จะนำมาเป็นสต๊อกใหม่เพื่อใช้ในการผลิต สินค้าทุนพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงสินค้าเชื้อเพลิง ที่มีต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นอาจส่งผลให้การนำเข้าชะลอตัวลง ที่ห่วงคือสินค้าที่จำหน่ายในประเทศราคาจะปรับตัวสูงขึ้นอีกหากสต๊อกวัตถุดิบเก่าหมดลง และใช้สต๊อกวัตถุดิบใหม่ที่มีต้นทุนสูงขึ้นในการผลิต

 

ชัยชาญ  เจริญสุข

 

“บาทอ่อน และเงินเฟ้อสูง ของถูกไม่มีแล้ว ขณะช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้เข้าสู่ช่วงหน้าหนาวความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นยุโรปบอยคอตน้ำมันและก๊าซจากรัสเซียจะเอาพลังงานเพิ่มจากไหน หากโอเปก หรือโอเปกพลัสไม่เพิ่มกำลังผลิต ดังนั้นจะเกิดความผันผวนด้านปริมาณ และราคาพลังงานที่จะปรับขึ้นและหากสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่คลี่คลาย โอกาสน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจสูงกว่า 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และราคาสินค้าในไทยพุ่งไม่หยุด แต่ในแง่ส่งออกยังไม่น่าห่วง คาดปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่า 5% หรืออาจขยายตัวได้สูงถึง 8%"

 

ทั้งนี้หลายกลุ่มสินค้าการส่งออกยังขยายตัวได้ดี เช่นในกลุ่มอาหาร ได้แก่ ข้าว ไก่ น้ำตาล สินค้าเกษตร เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำหลัง สินค้าอุตสาหกรรม เช่น เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งแม้เศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นอีกตลาดสำคัญเศรษฐกิจจะชะลอตัวแล้วจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น และเศรษฐกิจสหรัฐฯอีกหนึ่งตลาดหลักคาดจะชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบียเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ทำให้การนำเข้ามีแนวโน้มลดลง แต่ก็มีอีกหลายตลาดที่ผู้ประกอบการต้องเร่งขยายเพื่อมาทดแทนหลังเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ อาเซียน จีน อินเดีย ตวันออกกกลาง ”

 

ด้าน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทยังอ่อนค่าและน่าจะเป็นจุดพีคในเดือน มิ.ย และจะกลับมาอ่อนค่า 36 บาทต่อดอลลาร์ในเดือน ก.ค.หลังจากเริ่มมีรายได้จากการท่องเที่ยวกลับเข้ามา และปลายปีนี้คาดจะอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

 

สายการบินแบกอ่วมน้ำมัน

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันแม้การเปิดประเทศจะส่งผลให้ธุรกิจการบินเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น แต่สายการบินก็มีต้นทุนสูงขึ้นกว่าเดิมเพิ่มขึ้นเท่าตัวด้วยเช่นกัน จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น การอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าเช่าเครื่องบินเพิ่มขึ้น เพราะจ่ายค่าเช่าเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องใช้เงินบาทแลกมากขึ้น

 

รวมไปถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอากาศยาน จากเดิมอยู่ที่ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ได้ขยับขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ที่ 170 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรลแล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้สายการบินมีค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนน้ำมันที่คิดเป็นสัดส่วน 50% ของต้นทุนเพิ่มขึ้น

 

พิษค่าเงินบาทอ่อน กดนำเข้าวูบ 2 ล้านล้าน ต้นทุนพุ่ง-วงจรศก.ป่วน

 

“แม้สายการบินจะสามารถคิดค่าธรรมเนียมน้ำมัน (Fuel Surcharge) กับผู้โดยสารได้ แต่ก็ยังตามไม่ทันกับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะตอนที่เราขายตั๋วล่วงหน้าเมื่อ 1-2 เดือนก่อนตอนนั้นน้ำมันอยู่อีกราคา พอผู้โดยสารจะเดินทางน้ำมันปรับขึ้นไปอีก เราก็ยังต้องแบกรับการขาดทุนจากช่องว่างตรงนี้อยู่ อย่างไรก็ดีแม้สายการบินจะมีต้นทุนต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นแต่จะไปผลักภาระให้กับผู้บริโภคทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยแวดล้อมจากสภาพตลาดหลังโควิด-19 ที่กลับมาได้ยังไม่เหมือนเดิม รวมถึงผู้บริโภคเองก็มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นด้วย” นายธรรศพลฐ์ กล่าว

 

แฟชั่นแบรนด์ดังยันไม่ขึ้นราคา

นายธนพงษ์  จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์จากต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ แพนดอร่า (Pandora) มารีเมกโกะ (Marimekko) แคท คิดสตัน (Cath Kidston) และ หาญ (HARNN) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้สวิงมาก และมีผลต่อธุรกิจโดยตรง  เมื่อค่าเงินบาทอ่อนก็ดีต่อการส่งออก แต่การนำเข้าลำบาก ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้บาลานซ์  ขณะที่ผู้ประกอบการนำเข้าเอง ต้องป้องกันไม่ให้กระทบ ซึ่งเราเองคุยกับต้นทางว่า จะไม่ให้กระทบกับราคาสินค้าที่จำหน่ายในปัจจุบัน แม้ต้นทุนจะสูงขึ้น

 

“อัตราแลกเปลี่ยนที่สวิงอยู่ในขณะนี้ และสูงกว่า 35 บาทต่อดอลลาร์ส่งผลกระทบพอควร หากจะให้ดีค่าบาทควรอยู่ที่ 33-34 บาทต่อดอลลาร์ ยืนยันว่าแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ที่วางจำหน่ายในขณะนี้จะยังไม่มีการปรับขึ้นราคา  ซึ่งบริษัทต่างชาติก็เข้าใจ ขณะที่มีเพียงแบรนด์แพนดอร่า ที่ปรับขึ้นราคาครั้งแรกในรอบ 10 ปี ไปเมื่อ 2 เดือนก่อน เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะค่าโลจิสติกส์”

 

ด้าน นายระบิล สิริมนกุล ผู้อํานวยการฝ่ายการตลาด  บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จํากัด กล่าวว่า ต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นได้แก่ แพ็คเกจจิ้ง การขนส่ง และวัตถุดิบ เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้ซัพพลายจากฝั่งยุโรปช็อตและใช้เวลานานขึ้นในการขนส่ง ส่วนใหญ่ศรีจันทร์กรุ๊ปจะนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นยุโรป และอเมริกา จากเงินบาทที่อ่อนค่าทำให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบสูงขึ้น บริษัทพยายามตรึงราคาไว้ ขณะที่แบรนด์คู่แข่งใหญ่ ๆ ก็ทยอยปรับขึ้นราคา จากเดิมที่เราเคยแพงกว่า ตอนนี้เราถูกกว่าเขามาก หากมองอีกมุมก็จะเป็นโอกาสทางการค้า

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3795 วันที่ 26-29 มิถุนายน 2565