เคลียร์ชัด รฟม.แจงเงื่อนไขทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

16 มี.ค. 2565 | 18:01 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2565 | 01:05 น.
507

รฟม.เผยเงื่อนไขทีโออาร์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังไม่จบ หลังครม.ไฟเขียวจัดทำข้อตกลงคุณธรรมก่อนเปิดประมูล ลุ้นบอร์ดมาตรา 36 นัดประชุมเคาะร่างเอกสาร RFP รอบใหม่

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงกรณีการกำหนดเงื่อนไขบริษัทก่อสร้างที่จะเข้าร่วมคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) โดยจะต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินภายในประเทศ (Local Content) มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทกับทางการไทย และเปิดให้บริการแล้วเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์เข้าร่วมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ทำให้มีบริษัทก่อสร้างที่สามารถเข้าร่วมได้เพียง 2 ราย ว่า ตามที่ รฟม.ได้ออกประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ต่อมาในช่วงเดือนเมษายน 2564 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้มีการลาออกจากการเป็นกรรมการ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 คณะกรรมการ รฟม. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทดแทน 

 

 


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการนำแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมไปกำหนดใช้โดยอนุโลม สำหรับหน่วยงานของรัฐ ที่ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหรือการร่วมลงทุนภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ต้องดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวด้วย
 

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ออกประกาศ เรื่อง แนวทางปฏิบัติสำหรับการนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้กับโครงการร่วมลงทุนที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ซึ่งต่อมาในวันที่ 15 มีนาคม 2565 สคร. ได้มีหนังสือถึง รฟม. แจ้งรายชื่อผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 

 

 


“ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขด้านคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอแต่อย่างใด เนื่องจาก รฟม. อยู่ระหว่างดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (เอกสาร RFP) ครั้งใหม่ และประสานนัดหมายคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) เพื่อประชุมพิจารณาร่างประกาศเชิญชวน และร่างเอกสาร RFP ภายใต้การสังเกตการณ์ของผู้สังเกตการณ์ตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกฯ เห็นชอบประกาศเชิญชวน และเอกสาร RFP แล้ว รฟม. จะดำเนินการประกาศเชิญชวน และขายเอกสาร RFP ให้เอกชนที่สนใจต่อไป”

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)