อาเซียน’ ถกเข้ม สรุปแผนงานด้านเศรษฐกิจ ลุยเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา

01 มี.ค. 2565 | 15:26 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มี.ค. 2565 | 22:29 น.

อาเซียน ถกเข้ม สรุปแผนงานด้านเศรษฐกิจ ลุยเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา นัดแรก เม.ย.นี้ เริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน และทบทวน FTA อาเซียน-อินเดีย พร้อมสรุปแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจให้สำเร็จในปีนี้

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (SEOM) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ระหว่างวันที่ 21-22 และ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าประเด็นสำคัญ อาทิ การให้สัตยาบันพิธีสารแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 4 ซึ่งปัจจุบันอาเซียน 8 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันแล้ว เหลือเพียงกัมพูชา และสปป.ลาว การให้สัตยาบันพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งปัจจุบันอาเซียน 7 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันแล้ว เหลือเพียงบรูไนฯ กัมพูชา และอินโดนีเซีย และการให้สัตยาบันข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ โดยอาเซียน 2 ประเทศ คือ ไทย และเวียดนาม ได้ให้สัตยาบันแล้ว

นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

โดยที่ประชุมยังได้ติดตามการดำเนินแผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอาเซียนหลังโควิด-19 โดยเฉพาะการขยายอายุบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างอาเซียน ที่จะไม่จำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็นในช่วงโควิด อาทิ อาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่ง MOU จะหมดอายุในเดือน พ.ย. 2565 โดยอาเซียนอยู่ระหว่างประเมินประโยชน์และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาขยายเวลาบังคับใช้ MOU ต่อไป

 

 

อาเซียน’ ถกเข้ม สรุปแผนงานด้านเศรษฐกิจ  ลุยเจรจา FTA อาเซียน-แคนาดา

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันกำหนดแผนการประชุมกับประเทศคู่เจรจาสำคัญของอาเซียน โดยจะเริ่มประชุมคณะเจรจาจัดทำ FTA อาเซียน-แคนาดา รอบแรก ภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 ปี และเห็นชอบให้เสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ในเดือน มี.ค.นี้ ตกลงเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA) ให้ทันสมัยมากขึ้น และเห็นชอบให้เริ่มการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย ในปีนี้ เพื่อขยายโอกาสการค้าระหว่างอาเซียนกับอินเดียเพิ่มขึ้น

“ที่ประชุมได้ข้อสรุปเรื่องแผนการทำงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียนที่จะดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ ตามที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนเสนอ ซึ่งประกอบด้วย 4 ด้าน 19 ประเด็น ได้แก่ (1) การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี อาทิ การพัฒนาระบบนิเวศสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น (Startups) ด้านดิจิทัล (2) การลดช่องว่างการพัฒนาเพื่อความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน อาทิ แผนการดำเนินการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

(3) การส่งเสริมการบูรณาการและความสามารถในการแข่งขันที่มากขึ้นของอาเซียน อาทิ การเริ่มเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน และ (4) การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลกเพื่อการเติบโตและการพัฒนา อาทิ การสรุปการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และการมีผลใช้บังคับของความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กับทุกประเทศ”

ทั้งนี้ ในปี 2564 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 110,799 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.1% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 65,015 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 17.2% สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอาหารเลี้ยงสัตว์ และไทยนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,784 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 16.9% สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ