“สุพัฒนพงษ์” ติดตามโครงการงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานเกาะฮั่ง-บ้านไหนหนัง

15 พ.ย. 2564 | 18:30 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2564 | 01:30 น.

สุพัฒนพงษ์ลงพื้นที่กระบี่ตรวจติดตามโครงการงบกองทุนอนุรักษ์พลังงานเกาะฮั่ง-บ้านไหนหนัง ชู 2 โครงการ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ให้ชุมชนเศรษฐกิจฐานราก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการติดตามการดำเนินโครงการด้านพลังงาน 2 โครงการ คือ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่พักอาศัย ณ เกาะฮั่ง ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณกว่า 9 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานปี 2564 เพื่อติดตั้งระบบ Solar home ขนาด 600 วัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ ให้กับชาวบ้านจำนวน 161 ครัวเรือน ที่ประสบปัญหาไม่มีไฟฟ้าใช้ 
โดยมั่นใจว่าหลังการดำเนินการโครงการแล้วเสร็จประชาชนในพื้นที่โครงการจะมีพลังงานเพียงพอในการดำเนินชีวิตประจำวัน สร้างประโยชน์ด้านการศึกษาของเยาวชน การประกอบอาชีพและการต่อยอดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สร้างงาน สร้างรายได้นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

ส่วนอีกโครงการคือโครงการเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการและจัดการพลังงานชุมชนครบวงจรในวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์บ้านไหนหนัง ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ซึ่งถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม จากงบแผ่นดินปี 2562 วงเงินประมาณ 100,000 บาท จากการใช้เทคโนโลยี โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ อาทิ ปลาแดดเดียว กะปิ ปลาเค็ม และชาใบขลู่ 

โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการแปรรูปผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์สามารถออกสู่ตลาดได้ในวงกว้าง เช่น ปลาทูสด จากเดิมจำหน่ายได้เพียงกิโลกรัมละ 20 บาท แต่หลังจากนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียวสามารถจำหน่ายได้ในราคา 130-150 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันทางกลุ่มมีรายได้จากการแปรรูปผลิตภัณฑ์จาก โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์นี้ เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000-13,000 บาท/เดือน

“นโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนพลังงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงพลังงาน จึงได้ขับเคลื่อนภาคพลังงานให้สอดรับกับนโยบายดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีพลังงานต่างๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปและการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่มรายได้ของชุมชน"
สำหรับทั้ง 2 โครงการนั้น ถือเป็นการขับเคลื่อนที่คู่ขนานกัน ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การเพิ่มศักยภาพทางด้านอาชีพ และยกระดับรายได้ครัวเรือนของคนในชุมชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนให้เข้าถึงชุมชนในพื้นที่เกาะฮั่งด้วยการมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์ ถือเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เป็นอย่างดีช่วยให้ชุมชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและมีความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันมากขึ้น ขณะเดียวกันการพัฒนาดังกล่าวก็ยังคงไว้ซึ่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดั้งเดิมของชุมชนด้วยเช่นกัน