กรมปศุสัตว์ ไขข้อข้องใจทำไม "เชือดสุกร" ต้องส่งโรงฆ่าสัตว์

02 ต.ค. 2564 | 10:34 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2564 | 17:46 น.
1.4 k

"สรวิศ ธานีโต" อธิบดีกรมปศุสัตว์ ไขข้อข้องใจทำไม ประชาชน "เชือดสุกร" ต้องส่งโรงฆ่าสัตว์ ยันปฎิบัติ ตาม พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อ  การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำกับดูแลเรื่องโรงฆ่าสัตว์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เนื่องจากโรงฆ่าสัตว์เป็นสถานที่ผลิตเนื้อสัตว์ก่อนจำหน่ายถึงผู้บริโภคจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำกับดูแลให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์มีชีวิต มีความสะอาดในกระบวนการผลิตและมีสวัสดิภาพสัตว์ และที่สำคัญต้องมีการตรวจสุขภาพสัตว์ก่อนฆ่าและเนื้อสัตว์หลังฆ่า

 

กรมปศุสัตว์ ไขข้อข้องใจทำไม \"เชือดสุกร\" ต้องส่งโรงฆ่าสัตว์

โดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ การสัตวแพทย์ หรือผู้ที่ได้รับการอบรมจากสัตวแพทยสภาหรือกรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) นอกจากนี้โรงฆ่าสัตว์ยังมีกฎหมายกำกับดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้สร้างเหตุเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนข้างเคียง เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พระราชบัญญัติผังเมือง เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เนื้อสัตว์ที่มาจากโรงฆ่าที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ไม่ได้ผ่านการตรวจโรคมาก่อน และผ่านกระบวนการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้มีความเสี่ยงที่เนื้อสัตว์ถูกชำแหละแล้วไปวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคปนเปื้อนเชื้อโรคสูง อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคระบาดที่สำคัญ หรืออันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน และยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

โดยการฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์มีความผิดตามมาตรา 15 แห่ง พรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 คือประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษตามมาตรา 31 แห่ง พรบ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 คือฆ่าสัตว์โดยไม่แจ้งการฆ่าต่อพนักงานท้องถิ่น ซึ่งมีโทษปรับตามรายตัว สุกร ตัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาท

 

กรมปศุสัตว์ ไขข้อข้องใจทำไม \"เชือดสุกร\" ต้องส่งโรงฆ่าสัตว์

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อเป็นการส่งเสริมโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยสามารถสังเกตตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ว่านำเนื้อสัตว์มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้อนุญาตตามกฎหมาย

 

 “กรมปศุสัตว์ขอยืนยันประชาชนสามารถเชือดหมูของตนเองเพื่อจำหน่ายได้ แต่ต้องทำที่โรงฆ่าสัตว์    ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยปัจจุบันกฎหมายที่กำกับดูแลการเชือดสัตว์เพื่อการจำหน่ายของประเทศไทยคือ พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้การฆ่าสัตว์ต้องกระทำในโรงฆ่าสัตว์เท่านั้น ดังนั้น การเชือดสุกรเพื่อจำหน่ายที่บ้านตนเองไม่ว่าสุกรนั้นจะเป็นสุกรที่เลี้ยงเองหรือว่าสุกรที่มาจากบริษัทจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย”