เกษตรฯ ผนึก 9 หน่วยงานติวเข้มเกษตรกรสู้ค้าเสรี

29 ก.ย. 2564 | 12:50 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 20:18 น.

"เฉลิมชัย” แม่ทัพเกษตรฯ ดึง 9 หน่วยงาน ติวเข้มเกษตรกร เป็นแบ็กอัพสู้โลกค้าเสรี หลายมิติ ทั้งในระดับทวิภาคี -พหุภาคี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ โคเนื้อ โคนม น้ำนมดิบ ข้าว ชา กาแฟ ผัก ผลไม้

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

วันที่ 29 กันยายน 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นร่วมกัน ระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

 

โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) และหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชน รวม 9 หน่วยงาน ว่า ภาคการเกษตรบางภาคของไทย เกษตรกรยังเผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งการขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขาดความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

บรรยากาศท่ประชุม

 

 รวมไปถึงปัญหาการค้าระหว่างประเทศ จากการเจรจาการเปิดการค้าเสรี ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบทวิภาคี พหุภาคี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงปัญหาและวิกฤติเศรษฐกิจที่เกษตรกรประสบอยู่ จึงได้ดำเนินการแก้ปัญหาภาคเกษตรในหลายมิติ อาทิ สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต

 

การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพสินค้าเกษตร ขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาด เพื่อยกระดับรายได้ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญ การพัฒนาภาคเกษตรจะขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ ต้องมาจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคการเกษตรของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก

บรรยากาศการประชุม

 

“เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานต่าง ๆ ตกลงที่จะลงนามความร่วมมือกัน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาการเกษตร โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนความรู้ทางวิชาการระหว่างกัน เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมถึงร่วมกันวางแผนและพัฒนาโครงการเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาภาคเกษตรที่มีประสิทธิภาพ เกิดผลในทางปฏิบัติต่อการปรับตัวของภาคเกษตร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรได้อย่างแท้จริง โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ภาคเกษตรของไทยมีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน” ดร.เฉลิมชัย กล่าว

 

ฉันทานนท์ วรรณเขจร

 

ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุน FTA เป็นกองทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการลงนามความร่วมมือกันในวันนี้ เป็นการสร้างความร่วมมือพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าในทุกๆ กรอบการค้าเสรี ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ เช่น โคเนื้อ โคนม น้ำนมดิบ ข้าว ชา กาแฟ ผัก และ ผลไม้

 

สำหรับการลงนามข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 ชุดความร่วมมือ ประกอบด้วย ชุดที่ 1 ความร่วมมือทางด้านนโยบายและข้อมูล ประกอบด้วย 8 หน่วยงาน คือ  สศก. โดยกองทุน FTA ลงนามร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

ขั้นตอนการขอเงินกองทุนฯ

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และชุดที่ 2 ความร่วมมือด้านการปฏิบัติงานกับหน่วยงานต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 หน่วยงาน คือ สศก. โดยกองทุน FTA  ลงนามร่วมกับ สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จำกัด และ บริษัท พรีเมี่ยม บีฟ จำกัด  โดยที่ข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2565

 

“ทุกหน่วยงานภาคี จะร่วมส่งเสริม สนับสนุน แลกเปลี่ยนทั้งองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด ผ่านการจัดฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ บุคลากรภาครัฐ นอกจากนี้ จะร่วมกันวางแผนและพัฒนาโครงการเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร"

 

โดยหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นผู้เสนอโครงการ ตลอดจนสรรหา คัดเลือกเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรที่สมควรได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเข้าร่วมโครงการ ในขณะที่กองทุน FTA จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนความรู้ทางวิชาการในการเขียนโครงการ และสนับสนุนงบประมาณให้โครงการที่เสนอตามกฎ ข้อบังคับของกองทุน