รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (6)

21 ก.พ. 2568 | 06:00 น.

รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (6) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4072  

เล่ามาถึงตรงนี้ ผมคิดว่า “คอเซรามิก” อาจสนใจอยากไปส่องเซรามิกคุณภาพ และไป “ตามรอย” ที่เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นกันบ้างแล้ว แต่หากสาระในบทความหลายตอนก่อนหน้านี้ ยังไม่อาจทำให้ท่านผู้อ่านตัดสินใจได้ ผมก็ต้องขอขยายไปสู่ประเด็นการต่อยอดด้านการท่องเที่ยวผ่าน “การพัฒนากลุ่มเมือง” กันดูครับ ...

การพัฒนาความเป็นเมืองหลวงด้านเซรามิกของจิ่งเต๋อเจิ้น มิได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่เกิดขึ้นควบคู่กับการยกระดับด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อประสานประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิดที่ผมเรียกว่า “เก่งแล้วต่อยอด”  

ในด้านหนึ่ง การวางรากฐานทางเศรษฐกิจ การสร้างเมืองใหม่ การบูรณะโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก และอื่นๆ ล้วนอาศัยเครื่องเคลือบดินเผาเป็น “แกนกลาง” ทำให้นักท่องเที่ยวที่มีโอกาสไปเยือนจิ่งเต๋อเจิ้นได้ซึมซับ เพลิดเพลิน และจับจ่าย “สุดยอดโอทอป” ของเมืองไปเป็นของฝากของที่ระลึก            

ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการเพิ่มอุปสงค์จากภายนอกเชิงคุณภาพ ผ่านตลาดนักท่องเที่ยวที่ปีๆ หนึ่งหลั่งไหลไปเยือนจิ่งเต๋อเจิ้นมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องในยุคหลังโควิด ผมประเมินว่า ในปี 2024 จิ่งเต๋อเจิ้น น่าจะมีนักท่องเที่ยวไปแวะเวียน และจับจ่ายใช้สอยสินค้ารวมราว 100 ล้านคน

แต่สิ่งดีๆ ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เพราะในทางปฏิบัติองค์กรภาครัฐและเอกชนในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น ลงทุนพัฒนา “การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” โดยเดินหน้าทำหลายสิ่งก่อนหลังอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง  

นอกเหนือจากการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิก และทรัพยากรมนุษย์ ที่ผมเกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้ว รัฐบาลและองค์กรท้องถิ่นก็ยกระดับสถานที่ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และ สิ่งอำนวยความสะดวกอาจถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา 

อาทิ พิพิธภัณฑ์เตาเผาโบราณในย่านเมืองเก่า ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5A (สูงสุดของจีน) นัยว่าเป็นบ้านเศรษฐีเดิม ตระกูลเศรษฐีนี้มั่งคั่งจากธุรกิจเครื่องเคลือบดินเผา และรายล้อมด้วยหมู่บ้านเครื่องเคลือบดินเผาแต่ครั้งโบราณกาล 

                       รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (6)

เพียงแค่ก้าวแรกที่เดินเข้าไปก็จินตนาการต่อได้ว่า เจ้าของบ้านนี้ต้องมีฐานะดีจริงๆ เพราะมีพื้นที่ใหญ่โตมโหฬาร พื้นที่ด้านซ้ายยังคงจุดปั้น เตาเผาโบราณ และอื่นๆ เป็นจุดเรียนรู้เพื่อไว้เตือนจิตใจคนในวงการยุคหลัง 

แถมพื้นที่ตอนในด้านขวายังทำเวิ้งใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ และร้านจำหน่ายเซรามิกหลากชนิดให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม และซื้อหากลับไปตกแต่งบ้านและเป็นของฝาก พื้นที่ส่วนหลังนี้ถูกออกแบบและก่อสร้างเป็นอาคารอิฐชั้นเดียวสไตล์จีนโบราณ โดยเป็นโครงการความร่วมมือกับบริษัทออกแบบชั้นนำจากปักกิ่ง 

รัฐบาลท้องถิ่นยังก่อสร้างพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่ล้ำสมัยในย่านเมืองใหม่ เพียงแค่การออกแบบและตกแต่งอาคารภายนอก ก็น่าจะทำให้ท่านผู้อ่านลุ่มหลงในเสน่ห์ของเซรามิกกันแล้ว และหากท่านผู้อ่านแวะเวียนไป ก็อย่าพลาดโอกาสถ่ายรูปกับชามเซรามิกที่ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นที่ระลึกกันครับ

นอกจากนี้ จิ่งเต๋อเจิ้นยังมีสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 3A และ 4A อีกหลายสิบแห่ง ซึ่งหลายสถานที่ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงและขยายพื้นที่เพื่อยกระดับสู่ 5A 

นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และเสริมสร้างการออกและพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกผ่านการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงแล้ว จิ่งเต๋อเจิ้นยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมแหล่านั้น ไปอีกระดับหนึ่งอย่างสร้างสรรค์

อาทิ การเต้นรำพอร์ซเลน ดนตรีพอร์ซเลน กำแพงและถนนเซรามิก รวมทั้งยังใช้ทรัพยากรด้ารการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ในการพัฒนากิจกรรมสุดพิเศษในวันหยุดและทัวร์ประสบการณ์เครื่องลายคราม

โดยที่เมืองแห่งนี้ยังคงผลิตเครื่องเคลือบดินเผาอยู่ในปัจจุบัน  รัฐบาล และ องค์กรเอกชน จึงใส่ใจกับการพัฒนา “ปลายน้ำ” โดยจัดตั้งและขยายช่องทางจัดจำหน่ายในหลายระดับ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ โดยพยายามมุ่งเป้าไปที่การจัดกิจกรรมพิเศษที่มีอิทธิพลในระดับนานาชาติ

ยกตัวอย่างเช่น งานแสดงสินค้า China Jingdezhen International Ceramic Expo ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับแต่ปี 2004 งานนี้มุ่งเน้นการพัฒนาแบบบูรณาการด้านการค้า การลงทุน และวัฒนธรรมควบคู่กันไป และได้กลายมาเป็นเวทีสำคัญ ในการจัดแสดงเครื่องเคลือบดินเผาชั้นนำของโลก

งานนี้มีขนาดพื้นที่และจำนวนผู้จัดแสดงสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของผู้จัดงานระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา งานนี้ดึงดูดบริษัทต่างประเทศราว 2,500 ราย จากเกือบ 50 ประเทศและภูมิภาค ครอบคลุมแบรนด์เซรามิกจากแบรนด์นานาชาตินับ 10 ประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อิตาลี เยอรมนี และ สหรัฐฯ และผลิตภัณฑ์คุณภาพดีของผู้ผลิตและสตูดิโอท้องถิ่น

ที่ผมชื่นชอบมากก็คือ การจัดสรรพื้นที่พิเศษสำหรับการจัดแสดงสินค้านวัตกรรม เพื่อให้ศิลปินและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ท้องถิ่นมีช่องทางในการนำเสนอสินค้าที่สร้างสรรค์ขึ้นสู่สายตาชาวโลก 

                  รู้จัก “จิ่งเต๋อเจิ้น” เมืองหลวงแห่งเซรามิก (6)

นอกเหนือจากงานแสดงสินค้าดังกล่าว ก็ยังมีการจัดกิจกรรมสำคัญมากมายในรูปของการประชุม เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมและนวัตกรรมเซรามิก และนิทรรศการศิลปะ อาทิ เทศกาลวัฒนธรรมชา เทศกาลท่องเที่ยว และ นิทรรศการเครื่องปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม

นอกจากการสร้างอุปสงค์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว กิจกรรมเหล่านี้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำผลงานศิลปะไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ ที่มีกลิ่นอายด้านศิลปะวัฒนธรรมมาจัดแสดง จนทำให้งานเหล่านี้เป็นเวทีพิเศษที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ผลิตท้องถิ่นพัฒนา และนำเสนอสินค้ารูปแบบใหม่ที่มีกลิ่นอายทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์

ไม่ว่าจะเป็นงานเซรามิกถ้วยโถโอชาม เครื่องประดับ และของขวัญของตกแต่งบ้าน ที่รังสรรค์โดยนักออกแบบเก่าและใหม่ จีน และเทศ ซึ่งช่วยเชื่อมโยงและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ และวิถีชีวิตระหว่างนักออกแบบจากรุ่นสู่รุ่น และระหว่างชาวจีนและต่างชาติ 

สิ่งเหล่านี้ ยังช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเซรามิกของจิ่งเต๋อเจิ้น มีความคิดสร้างสรรค์ หลากหลายทางวัฒนธรรม และมีอิทธิพลในระดับโลกมากขึ้น และเชื่อมโยงเข้ากับการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ส่งผลให้เมืองจิ่งเต๋อเจิ้นกลายเป็นศูนย์กลางของ “เซรามิกสร้างสรรค์” ในที่สุด

อีกตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสในการทำเงินให้กับคนในอุตสาหกรรม ภาครัฐและเอกชนท้องถิ่น ก็จัดพื้นที่สำหรับการนำเสนอแทบจะตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 18.00-22.00 น. ของวันหยุด นักท่องเที่ยวสามารถออกมาเดินช้อปปิ้งสินค้าเซรามิก ที่ไม่ซ้ำแบบกันในบริเวณ “ตลาดกลางคืน”  

ย่านชุมชนของเมืองจะมีผู้ประกอบการน้อยใหญ่นับร้อยราย นำผลงานเซรามิกที่ไม่ซ้ำแบบ มาจัดแสดงสินค้าตามทางเท้าของถนนสายหลัก ถนนคนเดินในย่านเมืองใหม่ และเวิ้งร้านจำหน่ายเซรามิกให้ผู้คนได้เพลิดเพลินอย่างเต็มอิ่ม ทั้งแบบเสียและไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู

ผมขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่เป็น “คอเซรามิก” และชื่นชอบการสะสม ยอมสแกนจ่ายค่าบัตรผ่านประตูราว 150 บาท เข้าไปพื้นที่ตอนในเลยครับ รับรองว่าท่านจะได้สัมผัสและได้ชิ้นงานเซรามิกของ “จิ่งเต๋อเจิ้น” กลับมาเป็นของฝากของที่ระลึกอย่างแน่นอน

ยังมีเคล็ดลับการพัฒนาอีกหลายส่วน แต่ขอชวนกันไปคุยกันต่อในตอนหน้าครับ ...

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน, อุปนายกและเลขาธิการสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน