ให้กลับบ้านทั้งที่อาการยังน่าเป็นห่วง ฟ้อง สปสช. ขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่ม!

18 ส.ค. 2567 | 15:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2567 | 15:21 น.

ให้กลับบ้านทั้งที่อาการยังน่าเป็นห่วง ...ฟ้อง สปสช. ขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่ม! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย…นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4019

เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้าไปจนถึงขั้นมี “ระบบการแพทย์ทางไกล” (Telemedicine) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการติดต่อสื่อสารและส่งต่อข้อมูล โดยไม่จำต้องเดินทางมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลมากขึ้นก็ตาม แต่ความผิดพลาดหรือบกพร่องจากการรักษา ก็เป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ 

 

สำหรับประเทศไทยนั้นมีระบบการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาเพื่อบรรเทาความเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้บริการสาธารณสุข ซึ่งหากเข้าตามหลักเกณฑ์ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สามารถยื่นคําร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ทราบถึงความเสียหาย

โดยเงินช่วยเหลือเบื้องต้นดังกล่าว เป็นนเงินที่จ่ายให้ผู้รับบริการหรือทายาท หรือผู้อุปการะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ในกรณีผู้รับบริการหรือผู้ป่วยได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลของรัฐ หรือหน่วยบริการ โดยมิต้องรอพิสูจน์ถูกผิด และให้รวมถึงเหตุสุดวิสัยในระบบการรักษาพยาบาลด้วย แต่ต้องมิใช่เป็นความเสียหายที่เกิดจากสภาพปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือเหตุแทรกซ้อนตามปกติของโรค 

 ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้เสียหายเห็นว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ ดังเช่นอุทาหรณ์ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ ... 

เหตุของคดีนี้เกิดจาก ... บิดาและมารดาได้นำบุตรซึ่งขณะนั้นมีอายุ 6 เดือนกว่า เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเอ ในแผนกฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นไข้ เหนื่อยหอบ จนต้องได้รับออกซิเจน 

แพทย์ได้ทำการตรวจรักษาและต่อมาได้อนุญาตให้จำหน่ายตัวบุตรออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากญาติขอย้ายออก และทางโรงพยาบาลเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยมีการจ่ายยาลดไข้ ยาแก้อักเสบ และน้ำเกลือทำความสะอาดโพรงจมูก แต่ไม่ได้แจ้งให้ทราบถึงอาการของโรคที่เป็นอยู่ในขณะนั้น 

บิดาและมารดาเห็นว่า การที่โรงพยาบาลเอไม่ส่งตัวบุตรของตนไปรักษายังโรงพยาบาลอื่น แต่กลับให้กลับบ้าน ทำให้ตนต้องนำบุตรเข้ารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็ก และแพทย์ระบุว่าหัวใจรั่ว ตับโต น้ำท่วมปอด ได้ทำการรักษาและผ่าตัดหัวใจ 2 ครั้ง จนอาการดีขึ้น

จึงยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมีมติว่า การรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลทั้งสองแห่งเป็นไปตามมาตรฐาน ไม่เข้าเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ

มารดาไม่เห็นด้วยกับมติดังกล่าว จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โรงพยาบาลแพทย์เอได้ทำการรักษาพยาบาลบุตรของผู้ยื่นคำร้อง จำนวน 2 วัน และให้กลับบ้านในวันต่อมา และในวันเดียวกันผู้ป่วยได้เข้ารับบริการที่สถาบันเด็กแห่งชาติ โดยยังมีภาวะติดเชื้อ และมีความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ 

กรณีจึงถือว่าส่วนหนึ่งเป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอ และเข้าเกณฑ์การได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จึงมีมติจ่ายเงินตามความเสียหายประเภทบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จำนวน 60,000 บาท ซึ่งไม่เกินอัตราที่กำหนดตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง (3) ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2555  

บิดามารดาเห็นว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลเพิกถอนมติดังกล่าว พร้อมทั้งให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุข  (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ที่ 2 ตามลำดับ) จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ฟ้องคดี (บุตรโดยบิดามารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม) เพิ่มอีกจำนวน 100,000 บาท

คดีนี้ ... ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ความเสียหายที่เกิดแก่ผู้ฟ้องคดี มิใช่เป็นความเสียหายประเภทเสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างร้ายแรง หรือ เจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิตและมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต และมิใช่ความเสียหายประเภทสูญเสียอวัยวะ หรือ พิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ 

หากแต่เป็นความเสียหายประเภทบาดเจ็บ หรือ เจ็บป่วยต่อเนื่อง ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เกิน 100,000 บาท ตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบข้อ 8 วรรคสอง ของข้อบังคับดังกล่าว 

การที่คณะอนุกรรมการอุทธรณ์ฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วมีความเห็นว่า ความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับส่วนหนึ่งเกิดจากการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอ ส่วนการเข้ารักษาพยาบาลที่สถาบันสุขภาพเด็กนั้น เป็นอาการที่เกิดจากการดำเนินการไปตามพยาธิสภาพ หรือ เหตุแทรกซ้อนของโรคที่เป็นไปตามสภาพปกติธรรมดาของโรค 

อีกทั้งได้รักษาจนอาการดีขึ้น จึงถือว่ากรณีของผู้ฟ้องคดีเป็นความเสียหายจากการรักษาพยาบาลเพียงบางส่วน สมควรจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามความเสียหายประเภทบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง จำนวน 60,000 บาท ตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง (3) ของข้อบังคับดังกล่าว และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติเห็นชอบ อันเป็นการพิจารณาที่มีเหตุผลรับฟังได้ รวมทั้งได้คำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับตามสมควรแก่กรณีแล้ว 

ส่วนค่าเสียหายในเชิงลงโทษ นั้น ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะจ่ายได้ ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ หากแต่เป็นเรื่องที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องไปว่ากล่าวกับแพทย์หรือสถานพยาบาลที่ก่อให้เกิดความเสียหายเอง (ฟ้องต่อศาลยุติธรรม) 

ศาลปกครองสูงสุดจึงยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 298/2566) 
คดีนี้ ... ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้สิทธิทางศาลในการขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็นว่ายังไม่เป็นธรรม ซึ่งการจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าว จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมาย โดยคำนึงถึงความรุนแรงของความเสียหายและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้เสียหายประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งตามคดีดังกล่าวศาลปกครองได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดเงินช่วยเหลือมีความสมเหตุสมผลและชอบด้วยกฎหมายแล้ว  

นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ฟ้องขอรับเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากกรณีใบเลื่อยผ่าเฝือกบาดแขนบุตรสาว (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อร. 14/2566) และกรณีตรวจครรภ์ไม่พบว่าบุตรเป็นดาวน์ซินโดรม (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 12/2565) ซึ่งศาลท่านได้พิจารณาแล้วเห็นสมควรให้จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น สำหรับท่านที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ครับ ... 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)