‘ไก่ตาย’ เพราะงดจ่ายไฟ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลใด?

26 เม.ย. 2567 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :26 เม.ย. 2567 | 12:29 น.
1.1 k

‘ไก่ตาย’ เพราะงดจ่ายไฟ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลใด? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,986 หน้า 5 วันที่ 25 - 27 เมษายน 2567

ปัญหาหรือข้อขัดข้องเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า … เป็นเรื่องใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้เสมอ และเมื่อมีข้อพิพาทหรือเกิดความเสียหายขึ้นแก่ผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งประสงค์จะฟ้องคดีต่อศาล ก็อาจเกิดคำถามตามมาว่าจะต้องฟ้องที่ศาลใด ระหว่างศาลปกครอง กับ ศาลยุติธรรม

ทั้งนี้ เพราะแม้การไฟฟ้าฯ จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่ก็มีอำนาจหน้าที่ทั้งที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองและการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ ทำให้ปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอาจมีทั้งที่เป็นคดีปกครอง (อยู่ในอำนาจศาลปกครอง) และที่เป็นคดีแพ่ง (อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม) 

 

 

 

วันนี้ ... นายปกครองก็ได้นำตัวอย่างข้อพิพาทเรื่องหนึ่งมานำเสนอ โดยเป็นกรณีเจ้าของฟาร์มไก่เนื้อแห่งหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เหตุเพราะไก่ที่ ตนเลี้ยงไว้ในฟาร์มได้ตายลงเนื่องจากการไฟฟ้าฯ งดจ่ายกระแสไฟฟ้าโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบก่อน

มีประเด็นน่าสนใจว่า ... ข้อพิพาทอันเกิดจากการที่การไฟฟ้าฯ งดจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นเหตุให้ไก่ที่เอกชนเลี้ยงไว้ตาย ถือเป็นคดีปกครองหรือไม่ และเป็นคดีพิพาทประเภทใด? อันส่งผลต่อเรื่องเขตอำนาจศาลในการยื่นฟ้องคดี บทความนี้ ... มีคำตอบมาเฉลยครับ

 

มูลเหตุของคดีพิพาทเกิดจาก ... ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อ (ผู้ซื้อไฟฟ้า) ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาฯ (ผู้ขายไฟฟ้า)  อยู่มาวันหนึ่ง ... การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาฯ ได้ทำการดับกระแสไฟฟ้าตั้งแต่เวลา 10.00 นาฬิกา ถึงเวลา 15.00 นาฬิกา โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบตามสัญญาในข้อ 2.5 ซึ่งกำหนดให้

“กรณีที่ผู้ขายเห็นเป็นการจำเป็น หรือสมควรจะหยุด หรือลดการส่งพลังงานไฟฟ้า เพื่อปฏิบัติงานตามแผนเป็นการชั่วคราว ผู้ขายจะแจ้งวันเวลาดับไฟฟ้าให้แก่ผู้ซื้อทราบทางสื่อมวลชน หรือเครื่องขยายเสียง หรือปิดประกาศให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยสามวันทำการ ก่อนการดับไฟหรือเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรฐานคุณภาพการให้บริการที่ผู้ขายประกาศใช้ในขณะนั้น เว้นแต่ในกรณีฉุกเฉิน” อันเป็นเหตุให้ไก่ที่ผู้ฟ้องคดีเลี้ยงอยู่ในฟาร์มตายจำนวนกว่า 7 พันตัว

เจ้าของฟาร์มได้มีหนังสือแจ้งให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาฯ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนกว่า 7 แสนบาท เมื่อไม่มีการชดใช้จึงได้ยื่นฟ้องผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาฯ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดฯ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 - ที่ 3 ตามลำดับ) ต่อศาลปกครอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ผิดสัญญา และให้ร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ตน

ต่อมา ... ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา เพราะเห็นว่ามิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุด

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า ข้อพิพาทดังกล่าวเป็นคดีปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่? และผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลาหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีพิพาทนี้สืบเนื่องมาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แม้ว่าการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง

แต่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในกิจการส่วนตัวโดยเฉพาะของผู้ฟ้องคดี โดยไม่มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค

สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญามุ่งผูกพันบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคอันมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่ง (ไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง)

ทั้งนี้ เมื่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีอำนาจกระทำการต่างๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ คือ ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง หรือ ที่เป็นประโยชน์แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

อันถือได้ว่ากิจการตามวัตถุประสงค์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นการจัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งนอกจากจะต้องดำเนินการให้มีความปลอดภัยแล้ว ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจึงมีหน้าที่ในการดำเนินการจัดส่งพลังงานไฟฟ้าตามที่กฎหมายกำหนด

‘ไก่ตาย’ เพราะงดจ่ายไฟ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ศาลใด?

 

การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องโดยอ้างว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาฯ ได้ทำการดับกระแสไฟฟ้า เป็นเหตุให้ไก่บางส่วนที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์มตาย และมีคำขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

แต่โดยที่มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการ ฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี เมื่อกระแสไฟฟ้าได้ดับในวันที่ 16 มีนาคม 2564 เป็นเหตุให้พัดลมดูดอากาศไม่ทำงาน โรงเรือนมีอุณหภูมิประมาณ 38-40 องศาเซลเซียส

ประกอบกับมีแก๊สแอมโมเนียที่ใช้รองพื้นแกลบ มีกลิ่นกระจายระอุขึ้นมา ทำให้ไก่ที่เลี้ยงอยู่ในฟาร์มตายจำนวนกว่า 7 พันตัว ผู้ฟ้องคดีจึงย่อมรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนับแต่วันดังกล่าว

ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 จึงพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1820/2566)

สรุปได้ว่า ... สัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนหรือผู้ซื้อไฟฟ้าได้มาซึ่งกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในกิจการส่วนตัวของตน หรือไว้ใช้ภายในอาคารบ้านเรือน มิได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง โดยเป็นการดำเนินธุรกิจในเชิงพาณิชย์ของการไฟฟ้าฯ

เช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายทั่วไปที่คู่สัญญามุ่งผูกพันบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค ซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่ง (อยู่ในอำนาจศาล ยุติธรรม) ดังในคดีพิพาทที่การไฟฟ้าฯ ได้ทำการถอดมิเตอร์ไฟฟ้าเนื่องจากผู้อยู่อาศัยค้างชำระค่าไฟฟ้า ถือเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าซึ่งเป็นสัญญาทางแพ่งที่ผู้เสียหายต้องฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรม (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 962/2565) 

ส่วนข้อพิพาทในคดีนี้ … เป็นกรณีที่การไฟฟ้าฯ งดจ่ายกระแสไฟฟ้าโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้เอกชน คือ เจ้าของฟาร์มไก่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเข้าลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิด อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

กล่าวคือ หน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะโดยการจัดส่งพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก อันอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งจะต้องยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี... นั่นเองครับ 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง 1355)