รถไฟวิ่งไม่ตรงเวลาฟ้องศาลปกครองให้รฟท.แก้ไขปัญหาได้หรือไม่?

25 ก.ค. 2567 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ค. 2567 | 14:06 น.
678

รถไฟวิ่งไม่ตรงเวลาฟ้องศาลปกครองให้รฟท.แก้ไขปัญหาได้หรือไม่? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4012

“หากมีรถไฟบนฟ้า ขบวนนึงวิ่งไปทั่วสุริยะ มันก็คงจะดีนะ ไปด้วยกันเถอะที่รัก ...” เสียงเพลงสุดฮิตในช่วงนี้ดังขึ้นจากมือถือของคนข้าง ๆ ปลุกผมขึ้นจากภวังค์ ขณะนั่งสัปหงกระหว่างรอขบวนรถไฟบนดินอยู่นาน ไม่แน่ใจว่าเกิดเหตุขัดข้องอะไรหรือไม่ พลันชำเลืองมองนาฬิกาบอก เวลา 09.31 น. ทำให้คิดขึ้นได้ว่า วันนี้คงจะไปทำธุระช้ากว่ากำหนดเสียแล้วครับ ... 

เชื่อว่าหลายท่านอาจเคยประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้ ในการเดินทางโดยใช้บริการขนส่งสาธารณะ ที่บางคราก็ล่าช้าไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุ ระบบขัดข้อง อุปกรณ์ชำรุด หรือแม้กระทั่งจำนวนรถโดยสารที่ไม่เพียงต่อการให้บริการ ซึ่งบางกรณีได้มีการร้องเรียนต่อภาครัฐเพื่อให้แก้ไขปัญหาและพัฒนาการบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

แต่หากร้องเรียนไปแล้วไร้เสียงตอบรับ หรือ ยังไม่ได้รับการแก้ไข เรื่องราวก็อาจขึ้นสู่ศาลได้ เฉกเช่นคดีที่นำมาฝากทุกท่านในวันนี้ กรณีผู้ที่ประสบปัญหาความล่าช้าในการเดินทางโดยรถไฟ เนื่องจากการเดินรถที่ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา แม้หน่วยงานจะรับทราบปัญหาจากการร้องเรียนแล้ว แต่ผู้ใช้บริการรายนี้เห็นว่ายังไม่มีการแก้ไข เช่นนี้ จะถือเป็นคดีปกครองที่ฟ้องต่อศาลปกครองได้หรือไม่? 

นายปกครองขอพาทุกท่านกระโดดขึ้นรถไฟขบวนหน้า ที่กำลังจะมาถึง เพื่อไปหาคำตอบด้วยกันครับ ! ปู๊น ... ปู๊น … ปู๊น ...

เรื่องมีอยู่ว่า ... การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ปรับเปลี่ยนการเดินรถไฟทางไกลจากทางระดับดินมาเป็นทางยกระดับ ทำให้นายดีย์ผู้ใช้บริการรถไฟ มีความจำเป็นต้องขึ้นรถไฟทางไกล จากสถานีบางปะอินไปยังสถานีดอนเมือง และต่อรถไฟชานเมืองสายสีแดงจากสถานีดอนเมืองไปยังสถานีอื่นเพื่อไปทำงาน ซึ่ง นายดีย์ พบปัญหาความล่าช้าในการเดินทางโดยรถไฟทางไกลหลายครั้ง ส่งผลให้ไม่สามารถเดินทางมาทันขบวนรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้ตามกำหนดเวลา และต้องเสียเวลาในการรอคอยขบวนรถถัดไป 

นายดีย์ได้แจ้งปัญหาให้ รฟท. ทราบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงได้ร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ซึ่ง รฟท. แจ้งว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการหยุดรอทางขบวนรถ หรือ หยุดรอทางที่เป็นการจราจรพิเศษ ระบบอาณัติสัญญาณ หรือเส้นทางชำรุด ขบวนรถมีไม่เพียงพอ และการเกิดอุบัติเหตุ 

แต่ นายดีย์ เห็นว่า รฟท. มิได้หาทางปรับปรุงแก้ไขแต่อย่างใด อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ จึงยื่นฟ้อง รฟท. ต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้ รฟท. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการที่จะปรับปรุงแก้ไข หรือ ทำให้การเดินรถไฟทางไกลมีความตรงต่อเวลา ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน

ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่า การให้ รฟท. ออกหลักเกณฑ์ วิธีการที่จะปรับปรุงแก้ไขการเดินรถไฟ เป็นคำขอที่ให้ศาลก้าวล่วงเข้าไปใช้อำนาจบริหาร ซึ่งโดยสภาพแล้วเป็นดุลพินิจของฝ่ายปกครอง ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม ศาลย่อมไม่อาจกำหนดคำบังคับให้ได้ ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล 

นายดีย์ ไม่รีรอรีบยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด

เรื่องนี้ ... ศาลปกครองสูงสุดท่านเห็นว่า รฟท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีหน้าที่จัดระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัย การใช้รถไฟ บริการ และความสะดวกต่าง ๆ ของกิจการรถไฟ และรับขนส่งคนโดยสาร รวมถึงควบคุมดูแล และวางข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของ รฟท. 

เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ใช้บริการรถไฟทางไกล และอ้างว่าได้รับความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากความล่าช้าและไม่ตรงตามเวลา และได้แจ้งเรื่องไปยัง รฟท. รวมถึงร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 

และคำขอตามฟ้องเป็นคำขอที่ให้ รฟท. ปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด อันเป็นคำบังคับที่ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดได้ ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (2) 

ประกอบกับคดีประเภทนี้ ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการตามขั้นตอน หรือ วิธีการแก้ไขความเดือดร้อน หรือ เสียหายไว้โดยเฉพาะก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน

การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุพิพาทหลายครั้ง ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 และต่อมาได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินหลายฉบับ

โดยปรากฏข้อเท็จจริงในหนังสือร้องเรียนลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 ว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการโดยสารรถไฟ ขบวน 302 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 เนื่องจากมีความล่าช้า จึงถือว่าวันดังกล่าว เป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นอย่างช้า  

ดังนั้น การที่นำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้ หรือ ควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้นแล้ว 

                           รถไฟวิ่งไม่ตรงเวลาฟ้องศาลปกครองให้รฟท.แก้ไขปัญหาได้หรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดจึงกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 232/2567)

คดีนี้ ... เป็นอีกหนึ่งคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยให้เกิดความชัดเจน ในเรื่องความเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรณีที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการให้บริการขนส่งสาธารณะ  

นอกจากนี้ ยังปรากฏคำวินิจฉัยของศาลในหลายกรณี อาทิ กรณีปัญหาเกี่ยวกับระบบชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1837/2566) กรณีติดตั้งลิฟต์ผู้พิการในสถานีรถไฟฟ้า และเรียกค่าเสียหายจากเหตุติดตั้งลิฟต์ดังกล่าวล่าช้า (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 650/2557 

และที่ อร. 101/2564) กรณีปิดป้ายโฆษณาบนหน้าต่างรถไฟบดบังทัศนียภาพ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 231/2550) ซึ่งในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว ศาลได้วางหลักและแนวทางการให้บริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ รวมทั้งได้แก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี 

สำหรับผลของคดีที่ได้นำมาเล่าให้ฟังในคราวนี้ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว จะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามกันต่อไปครับ ... 

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)