รอดูวันที่หนี้ครัวเรือนจะระเบิด : โดยสมหมาย ภาษี

23 พ.ค. 2567 | 11:45 น.
2.3 k

ในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนพฤษภาคมนี้ นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 เป็นต้นมา คนไทยที่สนใจเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ จะได้ยินได้ฟังแต่ข่าวที่แสดงถึงความปวกเปียกอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

ในปีที่ปกติของประเทศที่ไม่ได้มีโรคร้าย ไม่ได้มีสงคราม และไม่ได้มีการประท้วงใดๆจากประชาชนเหมือนประเทศอื่นเขา ยิ่งเมื่อไปเทียบตัวเลขทางเศรษฐกิจกับประเทศระดับเดียวกันในกลุ่มอาเซียน ปรากฏชัดว่าประเทศไทย อยู่อันดับรั้งท้ายเพื่อนบ้านทุกเรื่องอะไรมันจะวิปริตได้ถึงขนาดนี้ มันมาจากใคร

เริ่มต้นจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ได้แถลงตัวเลข GDP ในไตรมาสแรก (Q1) ของปี 2567 นี้ ซึ่งปกติไตรมาสแรกถือว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดของปี กลับปรากฏว่าปีนี้ตัวเลข GDP ของไทยขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่นักวิชาการเรียกว่าปีต่อปี (% YoY) เทียบกับเวียดนามใน Q1 ปีนี้ เขาขยายตัว 5.7 % เท่ากับอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนมาเลเซีย 4.2 % เป็นต้น

และเมื่อดูตัวเลขด้านอื่นๆ ที่เป็นองค์ประกอบของ GDP เช่น การบริโภค การลงทุน การส่งออกและการท่องเที่ยว ก็พบว่าดีแค่การท่องเที่ยวอย่างเดียว ตัวที่ลดลงมากที่สุดคือการลงทุนภาครัฐ -27.7 % สภาพัฒน์จึงได้คาดการณ์ GDP ของปี 2567 ทั้งปีว่าจะโตเพียง 2.3 % เท่านั้นเอง แน่นอนที่สุดจะต้องรั้งท้ายเพื่อนบ้าน
    
 

หน่วยงานต่อมาที่ได้แถลงเมื่อต้นสัปดาห์นี้ถึงความตกต่ำและอ่อนแอของเศรษฐกิจ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปได้ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ มีเงินกองทุน (BIS Ratio) ถึง 20 % แต่อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าใน Q1 ของปีนี้ หนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์กลับเพิ่มสูงขึ้น
    
ตัวเลขที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้แถลงออกมา ซึ่งได้บ่งบอกถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยให้เห็นได้ดีที่สุด คือ ตัวเลขการพุ่งขึ้นแบบไม่หยุดยั้งของหนี้ครัวเรือน (Household Debt) ที่ได้เพิ่มขึ้นไปถึง 91.3 % ของ GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2566

หากมองย้อนหลังไป 10 ปี เมื่อปี 2556 ก่อนเกิดปฏิวัติโดย คสช. 1 ปี หนี้ครัวเรือนมีแค่ 76 % ของ GDP เท่านั้น จากนั้นก็ค่อยๆสูงขึ้นเรื่อยทุกปีโดยฝีมือของ คสช. จนแตะ 80% กว่าแล้วพุ่งอย่างรวดเร็วในช่วงการระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา จนถึง 91% ของ GDP ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยขณะนี้ กล่าวได้ว่าติดอันดับกลุ่มสูงสุด 10 ประเทศในโลกเห็นจะได้ สูงจนสภาพัฒน์ไม่อยากจะเอ่ยถึง สูงจนไม่สามารถทำให้กลับไปสู่ตัวเลขเดิมเมื่อ 10 ปี ได้อีกแล้ว

อยากถามว่าโรคร้ายของประเทศไทยตัวนี้ใครเป็นคนปล่อยให้มันแพร่สูงขึ้นมาได้ขนาดนี้ ใครมีส่วนเพิกเฉยไม่ยอมแก้หรือไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาให้ตรงจุด ใครที่ไม่สนใจแก้ไขแต่กลับเพิ่มแรงดันให้มันเพิ่มสูงขึ้นไปอีก 
 

ความจริงของการก่อกรรมให้ประชาชนย่อมปิดไม่มิดอยู่แล้ว หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้ มาจากความเลวร้ายของสองเรื่องแค่นั้น คือ เรื่องแรกการก่อหนี้ของคนไทยมีแต่สูงขึ้นทุกหัวระแหงโดยรัฐบาลใน 10 ปีที่ผ่านมาปล่อยปละละเลย และเรื่องที่สองรัฐบาลที่ผ่านมา 10 ปีไร้ความรู้ ความสามารถและขาดความจริงใจในการบริหารเศรษฐกิจให้เท่าทันเพื่อนบ้าน GDP ที่เป็นตัวไปคำนวณหนี้ครัวเรือนจึงต่ำแบบโงหัวไม่ขึ้น หนี้ครัวเรือนจึงมีแต่โตขึ้นจนน่ากลัว 

ครั้นมาดูรัฐบาลนี้ที่อะไรก็อ้างแต่ประชาชนก็ไม่น่าจะมีความสามารถมาแก้ เพราะท่านก็มัวแต่คิดและพร่ำเพ้อแต่ดิจิทัลวอลเล็ตโดยไม่คิดหามาตรการอื่นที่เป็นรูปธรรมมาทำจนจะร่วมปีอยู่แล้ว วันๆเอาแต่ พูด-พูด-พูด แต่อย่างเดียว แล้วจะไปเนรมิตให้ GDP มันผงกหัวขึ้นมาได้อย่างไรละท่าน