ก.ล.ต.ลงโทษผู้สอบบัญชี เหตุทำหน้าที่บกพร่องอย่างรุนแรง!

02 ก.ค. 2566 | 09:30 น.
7.0 k

ก.ล.ต.ลงโทษผู้สอบบัญชี เหตุทำหน้าที่บกพร่องอย่างรุนแรง! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3900

ผู้สอบบัญชี หรือ Auditor คือ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยผู้สอบบัญชีจะมีหลายประเภท ... และเชื่อว่าหลายท่านอาจเคยตั้งเป้าหมายที่อยากจะเป็นผู้สอบบัญชี เนื่องจากเป็นวิชาชีพอิสระที่มีรายได้ดี และมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อข้อมูลที่กิจการต่าง ๆ เปิดเผยตามกฎหมาย อันมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน 

วันนี้ ... จะมากล่าวถึงผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้ผู้สอบบัญชีของกิจการในตลาดทุน ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

 

โดย ก.ล.ต. จะติดตามดูแลคุณภาพและมาตรฐานการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีในตลาดทุน ทั้งคุณภาพในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีแต่ละราย และคุณภาพของสำนักงานสอบบัญชีที่ผู้สอบบัญชีสังกัดด้วย ซึ่งในการทำหน้าที่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำงวดการบัญชีนั้น หากผู้สอบบัญชีคนใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก.ล.ต.มีอำนาจที่จะพักการให้ความเห็นชอบ หรือ พักการทำหน้าที่ รวมทั้งเพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีคนนั้น แล้วแต่กรณีได้ 

ถึงตรงนี้ ... แน่นอนว่านายปกครองมีคดีปกครองเกี่ยวกับผู้สอบบัญชีในตลาดทุนมาพูดคุยกัน โดยเป็นเรื่องของผู้สอบบัญชีรายหนึ่ง ที่ถูก ก.ล.ต. มีคำสั่งพักการทำหน้าที่ หรือ พักการให้ความเห็นชอบ เพราะเหตุว่าบกพร่องในการตรวจสอบและให้ความเห็นในการสอบบัญชีของบริษัทสองแห่งอย่างร้ายแรง ซึ่งเรื่องราวของคดีจะเป็นอย่างไร และมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สอบบัญชีควรเป็นเช่นไร ไปติดตามกันเลยครับ ... 

เรื่องมีอยู่ว่า ... ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สอบบัญชีที่ ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบให้สามารถสอบบัญชีและลงลายมือชื่อในรายงานของผู้สอบบัญชี เพื่อแสดงความเห็นในการสอบบัญชีของนิติบุคค ลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ถูก ก.ล.ต. สั่งลงโทษพักการทำหน้าที่ เป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมีข้อบกพร่องในการตรวจสอบงบการเงินของบริษัท A และ บริษัท C ที่อาจเป็นเหตุให้ผู้ใช้ข้อมูลจากงบการเงินดังกล่าวเข้าใจผิดในสาระสำคัญ  

รวมทั้งบกพร่องในขั้นตอนที่ควรจะสามารถตรวจพบการทุจริตของบริษัทได้ เพราะผู้สอบบัญชี คือ ผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลในเชิงลึกของบริษัทที่ทำการตรวจสอบ ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้อง ก.ล.ต. คณะกรรมการ ก.ล.ต. และเลขาธิการ ก.ล.ต. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1- ที่ 3 ตามลำดับ) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ดังกล่าว 

มาดูกันว่า ... คำสั่งของ ก.ล.ต. ที่ให้พักการให้ความเห็นชอบผู้ฟ้องคดีจากการเป็นผู้สอบบัญชีในการลงลายมือชื่อในรายงานของผู้สอบบัญชีเป็นเวลา 2 ปี และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีของบริษัท A พบว่า ผู้ฟ้องคดีตั้งค่าหนี้เผื่อจะสูญในหนี้ของบริษัท B ต่ำเกินไป ซึ่งเป็นการพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัท B ได้กู้ยืมเงินจากบริษัท A และมีปัญหาการชำระหนี้คืน ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้ถึงสองครั้ง  แต่บริษัท B ก็ไม่สามารถชำระหนี้ได้  

อีกทั้งข้อมูลตามงบการเงินก็แสดงให้เห็นว่า บริษัท B มีฐานะการเงินและผลประกอบการที่ไม่ดี โดยงบการเงินแสดงผลขาดทุนเกินทุน และไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าบริษัท B จะสามารถหาแหล่งทุนอื่นมาจ่ายชำระหนี้ให้แก่บริษัท A ได้ 

จึงถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานสอบบัญชีโดยยังไม่ได้หาหลักฐานที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อให้สามารถสรุปความเห็นตามหน้าที่ของตนได้อย่างสมเหตุสมผล โดยเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับงบการเงิน ซึ่งมีสาระสำคัญ ผู้ฟ้องคดีควรพยายามหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เพียงพอและเหมาะสม เพื่อขจัดข้อสงสัยดังกล่าวให้หมดไป 

โดยหากไม่สามารถหาหลักฐานได้ ผู้ฟ้องคดีควรแสดงความเห็นต่องบการเงินอย่างมีเงื่อนไข หรือไม่แสดงความเห็น แล้วแต่กรณี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการสอบบัญชี การที่ผู้ฟ้องคดีมีความเห็น อย่างไม่มีเงื่อนไข ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทำหน้าที่สอบบัญชีของบริษัท A บกพร่อง  

                         ก.ล.ต.ลงโทษผู้สอบบัญชี เหตุทำหน้าที่บกพร่องอย่างรุนแรง!

ส่วนกรณีของบริษัท C พบว่า ผู้ฟ้องคดีตรวจสอบบัญชีบกพร่องหลายประการ อีกทั้งเมื่อผู้ฟ้องคดีมีข้อจำกัดในการตรวจนับรถยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าคงเหลือที่มีผลสำคัญต่องบการเงิน โดยไม่ได้ตรวจนับรถยนต์ที่เก็บไว้ในท่าเรือ (ต่อเนื่อง 3 ปี) และผู้ช่วยปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดี ไม่สามารถตรวจสอบเลขเครื่องยนต์ในคลังสินค้าบางแห่งได้ 

โดยผู้ฟ้องคดีรับฟังและเชื่อยอดสินค้าคงเหลือตามคำยืนยันของชิปปิ้ง ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่บริษัท C และได้ลงลายมือชื่อในงบการเงินของบริษัท C โดยมีความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งการที่มีข้อจำกัดในการตรวจสอบความมีอยู่จริงของสินค้าคงเหลือ ถือว่าถูกจำกัดขอบเขตงานตรวจสอบ ซึ่งต้องแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขหรือไม่แสดงความเห็นตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการสอบบัญชี จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานและมีข้อบกพร่อง 

ทั้งนี้ ข้อบกพร่องดังกล่าวมีผลทำให้ประชาชนทั่วไป ที่ใช้ข้อมูลจากงบการเงินของบริษัททั้งสองได้รับข้อมูลฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดการเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ที่อาจเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของผู้ฟ้องคดีได้  

อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงบทบาทที่สำคัญของผู้สอบบัญชี ซึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีต่าง ๆ และความสำคัญของงบการเงินของบริษัทที่เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำคัญ สำหรับนักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การสอบบัญชีที่บกพร่องของผู้ฟ้องคดี จึงถือได้ว่ามีลักษณะรุนแรง ที่จะถูกลงโทษพักการให้ความเห็นชอบตามประกาศ ก.ล.ต. ว่าด้วยการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชี 

ดังนั้น คำสั่งของ ก.ล.ต. ที่ให้ลงโทษพักการให้ความเห็นชอบผู้ฟ้องคดีจากการเป็นผู้สอบบัญชีเป็นเวลา 2 ปี และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 1076/2565) 

คดีดังกล่าว … ถือเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้สอบบัญชีได้เป็นอย่างดี ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ ตามหลักเกณฑ์และประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยหากมีกรณีที่ไม่สามารถขจัดความสงสัย หรือ ยังมีข้อสงสัยในการตรวจสอบ และไม่สามารถหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ควรต้องแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขหรือไม่แสดงความเห็น   

ทั้งนี้ หากผู้สอบบัญชีบกพร่องในหน้าที่ หรือ มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ หรือ ประกาศของสมาคม ซึ่งมีลักษณะรุนแรง หรือ ร้ายแรง หรือมีเหตุดังกล่าวเกิดซ้ำขึ้นอีกภายในช่วงสองปีใด ๆ หรือ เป็นเหตุให้ผู้สอบบัญชีอยู่ระหว่างการถูกหน่วยงานอื่นเพิกถอนใบอนุญาต ไม่ยอมรับ หรือ ไม่รับรองให้ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ก็อาจถูก ก.ล.ต. สั่งพัก หรือ เพิกถอนการให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีได้ ... ซึ่งนอกจากจะเกิดความเสียหายต่อตนเองในการประกอบวิชาชีพแล้ว ยังอาจเกิดความเสียหายต่อประชาชนทั่วไป ที่ใช้ข้อมูลจากงบการเงินและผลการดำเนินงานที่ไม่ถูกต้องดังกล่าวด้วยนะครับ ! 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)