ถูกตัดไฟ : เมื่อไม่จ่าย จึงไม่ต่อ ก็ไม่ผิด!

29 เม.ย. 2566 | 09:09 น.
1.6 k

ถูกตัดไฟ : เมื่อไม่จ่าย จึงไม่ต่อ ก็ไม่ผิด! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง
 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,883 หน้า 5 วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม 2566

อากาศร้อนๆ อย่างนี้ หลายบ้านเป็นห่วงเรื่องค่าไฟที่เพิ่มมากขึ้นจากเครื่องปรับอากาศ  โดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่อุณหภูมิร้อนระอุ จนถึงขั้นเป็นลมเป็นแล้งได้หากอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว และที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก คือ อาการฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด ที่อาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้  

ทั้งนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ... “ไฟฟ้า” ถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ซึ่งกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล แม้ปัจจุบันจะยังไม่อาจให้บริการครอบคลุมได้ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ แต่ก็มีการขยายบริการไปสู่ชนบทมากยิ่งขึ้น

สำหรับอุทาหรณ์ที่นำมาคุยกันในวันนี้ เป็นกรณีผู้อยู่อาศัยในบ้านคนเดิมไม่ชำระค่าไฟฟ้าจนถูกตัดไฟ และผู้อยู่อาศัยคนใหม่ได้ยื่นคำขอเปลี่ยนผู้ใช้ไฟฟ้ามาเป็นชื่อตนเอง และขอให้ต่อ หรือ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้บ้านดังกล่าว แต่ไม่แน่ใจว่าเพราะเหตุอันใด จึงค้างชำระค่าบริการไฟฟ้า จนถูกตัดการใช้ไฟฟ้าอีกครั้ง !

 

เรื่องนี้ ... ผู้ขอใช้ไฟฟ้าคนใหม่เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับช่วงเวลาการต่อและตัดไฟในบ้านของตน จึงนำคดีมาฟ้องศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายในช่วง เวลาที่ถูกตัดไฟและต้องไปอาศัยอยู่ที่อื่น สุดท้ายแล้วความจริงเป็นเช่นไร ติดตามได้จากคำวินิจฉัยของศาลครับ... 

เรื่องราวของคดีมีอยู่ว่า ... ผู้ขอใช้ไฟฟ้าคนเดิมได้ค้างชำระค่าใช้ไฟฟ้าเกินกว่า 6 เดือน จึงถูกตัดไฟ จากนั้นผู้อยู่อาศัยคนใหม่ ซึ่งก็คือ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนผู้ใช้ไฟฟ้ามาเป็นชื่อตน พร้อมกับทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้านครหลวง โดยชำระเงินเรียบร้อย

เจ้าหน้าที่จึงทำการต่อกระแสไฟฟ้าในบ้านดังกล่าว และต่อมาได้ออกใบแจ้งหนี้เดือนใหม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้ชำระจึงมีหนังสือเตือน และสุดท้ายเจ้าหน้าที่ได้มาทำการตัดการใช้ไฟฟ้าบ้านหลังดังกล่าวอีกครั้ง !! 

 

 

ถูกตัดไฟ : เมื่อไม่จ่าย  จึงไม่ต่อ ก็ไม่ผิด!

 

 

ครั้นเมื่อผู้ฟ้องคดีจะมาพักอาศัย ปรากฏว่าบ้านถูกตัดไฟ ทำให้เดือดร้อนต้องไปหาที่พักอาศัยที่อื่น โดยเข้าใจว่ายังไม่ได้มีการมาต่อไฟฟ้าให้เลย ตั้งแต่ยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้า จึงร้องเรียนต่อการไฟฟ้าฯ ขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่   

 

ทั้งนี้ ภายหลังจากผู้ฟ้องคดีชำระค่าไฟฟ้าที่ค้างจ่าย การไฟฟ้าฯ ก็ได้ต่อกระแสไฟฟ้าให้ในวันเดียวกัน 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การไฟฟ้าฯ ต่อกระแสไฟฟ้าเข้าบ้านของตนล่าช้ากว่า 2 เดือน นับจากวันที่ยื่นคำขอใช้ไฟฟ้า ทำให้ได้รับความเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ในการใช้สอยบ้าน และเสียค่าใช้จ่ายในการต้องไปพักอาศัยที่อื่นระหว่างรอการดำเนินการ จึงยื่นฟ้องการไฟฟ้านครหลวงต่อศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย 

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ 

กรณีดังกล่าวมีประเด็นปัญหาว่า การไฟฟ้าฯ กระทำละเมิด อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการต่อกลับการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่? 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ไปติดต่อขอรับบริการที่การไฟฟ้าฯ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน เพื่อขอต่อกลับการใช้ไฟฟ้าสำหรับบ้านของผู้ฟ้องคดี กรณีถูกงดจ่ายไฟฟ้าเกินกว่า 6 เดือน และขอเปลี่ยนผู้ใช้ไฟฟ้ามาเป็นชื่อผู้ฟ้องคดี พร้อมทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันเดียวกัน และการไฟฟ้าฯ ได้ดำเนินการต่อกลับการใช้ไฟฟ้าตามคำขอให้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 

นับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจนดำเนินการแล้วเสร็จเป็นเวลาไม่ถึง 10 วันทำการ จึงเป็นการต่อกลับการใช้ไฟฟ้า กรณีถูกงดจ่ายไฟฟ้าเกินกว่า 6 เดือน ภายใน 10 วันทำ การ ตามข้อบังคับของการไฟฟ้าฯ  

แต่เมื่อหลังจากที่ได้รับการต่อกลับการใช้ไฟฟ้าแล้ว ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้าเดือนธันวาคม ซึ่งมีหน่วยการใช้ไฟฟ้าจำนวน 0 (ศูนย์) หน่วย และมีค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระเป็นเงินจำนวน 40.90 บาท ซึ่งแยกเป็นค่าบริการรายเดือนจำนวน 38.22 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จำนวน 2.68 บาท  

โดยการไฟฟ้าฯ ให้ผู้ฟ้องคดีชำระภายในวันที่ 2 มกราคมปีถัดไป และต่อมาได้มีหนังสือลงวันที่ 8 มกราคม แจ้งเตือนให้ชำระภายในวันที่ 14 มกราคม แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชำระ การไฟฟ้าฯ จึงงดจ่าย ไฟฟ้าให้แก่ผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 

อีกทั้งได้ถอดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าในวันที่ 24 มกราคม กระทั่งวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ผู้ฟ้องคดีได้ชำระหนี้ค่าไฟฟ้าที่ค้างชำระของเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม การไฟฟ้าฯ จึงต่อกลับและจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ฟ้องคดีในวันเดียวกัน อันเป็นการต่อกลับการใช้ไฟฟ้าในกรณีที่ได้รับชำระหนี้ค่าไฟฟ้าตามข้อบังคับการไฟฟ้าฯ 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเห็นได้ว่า การต่อกลับการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เป็นการต่อกลับเนื่องมาจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าถูกถอดเมื่อวันที่ 24 มกราคม เพราะเหตุที่ผู้ฟ้องคดีค้างชำระค่าบริการไฟฟ้าประจำเดือน

และเมื่อผู้ฟ้องคดีได้ชำระค่าบริการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ การไฟฟ้าฯ ก็ได้ต่อกลับการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายในวันเดียวกัน จึงมิใช่เป็นการต่อกลับการใช้ไฟฟ้าตามคำขอของผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน (ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง) แต่อย่างใด 

ดังนั้น การไฟฟ้าฯ จึงมิได้กระทำละเมิด อันเกิดจากการต่อกลับการใช้ไฟฟ้าให้แก่บ้านของผู้ฟ้องคดีล่าช้าเกินสมควร จนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายตามที่กล่าวอ้าง ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 447/2564) 

คดีนี้ ... ศาลปกครองได้วินิจฉัยให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับช่วงเวลาการตัด และต่อกระแสไฟฟ้าตามอำนาจหน้าที่ของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งอยู่ภายในกรอบระยะเวลาตามประกาศ และข้อบังคับของการไฟฟ้าฯ กล่าวคือ  ได้มีการต่อกลับการใช้ไฟฟ้าให้ผู้ฟ้องคดีตามคำขอในครั้งแรกแล้ว หากแต่มีการตัดไฟอีกครั้งด้วยเหตุผู้ฟ้องคดีค้างชำระค่าบริการไฟฟ้ารายเดือน “เมื่อไม่จ่าย จึงไม่ต่อ ก็ไม่ผิด” นั่นเองครับ... 

อย่างไรก็ดี ในการปฏิบัติหน้าที่ให้บริการไฟฟ้า รวมถึงการตัด และต่อกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฯ จะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ ส่วนผู้ขอใช้ไฟฟ้าก็มีสิทธิที่จะได้รับบริการโดยเร็วหรือไม่ล่าช้า โดยอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว  

สำหรับผู้ขอใช้ไฟฟ้าที่แม้จะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเพราะไม่ได้อยู่บ้าน แต่ก็มีค่าบริการไฟฟ้ารายเดือนที่ยังต้องชำระด้วย ดังนั้น จึงต้องคอยตรวจเช็คบิลค่าไฟและใบเตือนเพื่อดำเนินการชำระภายในเวลาที่กำหนด จะได้ไม่เกิดปัญหาถูกตัดกระแสไฟฟ้า และไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ในเวลาที่จำเป็นต้องมาพักอาศัยเช่นในคดีนี้นะครับ...

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355)