แก้ข้อบังคับสหกรณ์ให้ถอนหุ้นได้ตามเงื่อนไขขัดต่อก.ม.หรือไม่?

04 ก.พ. 2566 | 11:30 น.
2.2 k

แก้ข้อบังคับสหกรณ์ให้ถอนหุ้นได้ตามเงื่อนไขขัดต่อก.ม.หรือไม่? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3859

“เงินทองเป็นของหายาก” ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีและเกิดภาวะเงินเฟ้อที่ข้าวของขึ้นราคาด้วยแล้ว หลายครอบครัวยิ่งต้องรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เก็บหอมรอมริบและหยอดกระปุก อดออมกันมากขึ้น เพื่อให้มีเงินไว้ใช้จ่ายในยามจำเป็น 

“สหกรณ์” นับเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับการออมเงิน ซึ่งหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์ออมเงินกับสหกรณ์มาบ้าง และทราบดีว่าปกติเมื่อชำระเงินค่าหุ้นรายเดือนเข้าในระบบสหกรณ์แล้ว จะไม่สามารถถอนหุ้น หรือ ถอนเงินดังกล่าวออกมาใช้ได้ จนกว่าจะลาออกจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์

วันนี้ ... นายปกครองได้นำคดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขอแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นบางส่วนออกมาได้ โดยไม่ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิก  เช่นนี้ ... จะทำได้หรือไม่ และเรื่องราวของคดีจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันเลยครับ !

คดีนี้ ... ผู้ฟ้องคดี (สหกรณ์ออมทรัพย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง) ได้รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542  ต่อมา ผู้ฟ้องคดีเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของตน เพื่อให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นบางส่วนออกมาได้ ซึ่งตามข้อ 8 ของร่างข้อบังคับดังกล่าวกำหนดว่า

“การงดชำระเงินค่าหุ้นรายเดือนและการถอนหุ้นบางส่วน สมาชิกที่ได้ชำระเงินค่าหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบเดือน หรือเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนบาท และไม่มีหนี้สินอยู่ต่อสหกรณ์ในฐานะผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกัน จะงดชำระเงินค่าหุ้นรายเดือน หรือ ลดจำนวนการถือหุ้นรายเดือนลง หรือ ถอนหุ้นในส่วนที่เกินกว่าหนึ่งแสนบาทตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรก็ได้ โดยแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ” 

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีให้เหตุผลว่า เป็นการให้สมาชิกที่มีหุ้นเกินกว่าหนึ่งแสนบาทและไม่มีหนี้สินกับผู้ฟ้องคดีงดชำระเงินค่าหุ้นรายเดือนได้ และสามารถใช้ประโยชน์จากส่วนที่เกินกว่าหนึ่งแสนบาทได้ ในกรณีที่มีความจำเป็นโดยไม่ต้องกู้เงินจากสหกรณ์ หรือ ลาออกจากการเป็นสมาชิก อันเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นได้บางส่วน โดยมีเงื่อนไขและอยู่ภายใต้ดุลพินิจของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์  

ต่อมา นายทะเบียนสหกรณ์ได้มีหนังสือแจ้งว่า ไม่รับจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับในข้อ 8  เฉพาะคำว่า “การถอนหุ้นบางส่วน” และ “ถอนหุ้นในส่วนที่เกินกว่าหนึ่งแสนบาท” เนื่องจากมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น ... ซึ่งมีเจตนารมณ์คุ้มครองทุนของสหกรณ์ที่ได้มาจากค่าหุ้นของสมาชิกมิให้ลดน้อยถอยลง 

ดังนั้น หากกำหนดให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นคืนได้บางส่วน อาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ภายนอกของสมาชิก และส่งผลกระทบเชิงลบต่อฐานะ
ทางการเงินของสหกรณ์ การกระทำดังกล่าวจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายสหกรณ์ 

ผู้ฟ้องคดีมีหนังสืออุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนดังกล่าว และคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ ได้พิจารณายกอุทธรณ์ด้วยเหตุผลว่า ค่าหุ้นรายเดือนถือเป็นทุนที่ใช้ในการดำเนินการของสหกรณ์ อันแสดงว่าสมาชิกต้องผูกพันตนในฐานะเจ้าของกิจการตามส่วนที่ตนถืออยู่

การที่ผู้ฟ้องคดีขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับโดยยินยอมให้สมาชิกถอนหุ้นได้ แม้เพียงบางส่วน จึงเป็นการกระทำโดยประการใด ๆ อันเป็นช่องทางปกติให้สมาชิกสามารถลดทุนของสหกรณ์ได้โดยการถอนหุ้น ย่อมส่งผลให้ทุนที่ใช้ในการดำเนินการลดลง และไม่เป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ อันขัดต่อหลักการสหกรณ์  

ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองชั้นต้น เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไม่รับจดทะเบียนของนายทะเบียนสหกรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) รวมทั้งให้นายทะเบียนสหกรณ์และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับในส่วนดังกล่าวของผู้ฟ้องคดี โดยคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้อง ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด  

คดีมีประเด็นพิจารณาว่า การไม่รับจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์ของผู้ฟ้องคดี เฉพาะส่วนที่กำหนดให้สมาชิกถอนหุ้นบางส่วนได้ คือ ส่วนที่เกินกว่าหนึ่งแสนบาท ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า วัตถุประสงค์สำคัญของสหกรณ์ คือ การส่งเสริมให้สมาชิกออมทรัพย์ โดยช่วยให้สามารถสงวนส่วนแห่งรายได้ของตนไว้ในทางอันมั่นคงและได้รับประโยชน์ตามสมควร

และโดยที่สหกรณ์เกิดจากการรวมตัวของคณะบุคคล ซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทุนของสหกรณ์มาจากเงินค่าหุ้นที่สมาชิกถืออยู่และส่งเข้าสหกรณ์เป็นรายเดือน กฎหมาย จึงมุ่งคุ้มครองทุนของสหกรณ์เป็นพิเศษ   

ด้วยเหตุนี้ มาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 จึงบัญญัติไม่ให้สมาชิกนำค่าหุ้นที่ส่งเข้าสหกรณ์ซึ่งกลายเป็นทุนของสหกรณ์แล้ว มาหักกลบลบหนี้กับสหกรณ์ได้ และวรรคสอง ยังบัญญัติห้ามเจ้าหนี้ของสมาชิกที่สมาชิกภาพยังไม่สิ้นสุดลง มาใช้สิทธิเรียกร้อง หรือ อายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น ซึ่งก็คือ ส่วนหนึ่งของทุนสหกรณ์  

นอกจากนี้ ในกรณีที่สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลง ก็ให้สหกรณ์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น อีกทั้งกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจสหกรณ์ทำการออกข้อบังคับเพื่อให้สมาชิกของตนสามารถถอนหุ้นบางส่วนได้

การแก้ไขข้อบังคับของผู้ฟ้องคดีเพื่อให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นบางส่วนได้ดังกล่าว จึงเป็นการขัดต่อหลักการแห่งกฎหมายสหกรณ์ และยังเท่ากับเป็นการไม่ส่งเสริมให้สมาชิกออมเงินของตนไว้ในทางอันมั่นคง ซึ่งถือเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์สำคัญของผู้ฟ้องคดี  

ดังนั้น การที่นายทะเบียนสหกรณ์ไม่รับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับตามที่พิพาท จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่ยกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 346/2565)

คดีดังกล่าว ... ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางหลักเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ ว่าด้วยการดำเนินกิจการของสหกรณ์ออมทรัพย์ กรณีการให้สมาชิกสามารถถอนหุ้นบางส่วนได้อย่างมีเงื่อนไข ซึ่งเป็นช่องทางให้สมาชิกหยุดการออมเงิน ว่าเป็นการขัดต่อหลักการของกิจการสหกรณ์ ที่มุ่งหมายให้สมาชิกออมเงินของตนไว้อย่างมั่นคง และคุ้มครองทุนของสหกรณ์ให้มีเสถียรภาพทางการเงิน  

ประกอบกับกฎหมายสหกรณ์มิได้บัญญัติ ให้อำนาจในการออกข้อบังคับลักษณะดังกล่าวได้ ซึ่งการแก้ไขข้อบังคับที่พิพาท ย่อมส่งผลให้ทุนสหกรณ์ที่ได้มาจากค่าหุ้นของสมาชิกลดน้อยถอยลง อันเป็นการขัดต่อกฎหมายสหกรณ์  ฉะนั้น การที่นายทะเบียนสหกรณ์ไม่รับจดทะเบียนแก้ไขข้อบังคับในกรณีดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมาย ... ด้วยประการฉะนี้ครับ (ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355)