สัญญาจ้างปรับปรุงห้องน้ำมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสัญญาประเภทใด?

01 เม.ย. 2566 | 09:30 น.

สัญญาจ้างปรับปรุงห้องน้ำมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสัญญาประเภทใด? : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3875


หลังจากที่จบการศึกษา ... จากรั้วมหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา หลายคนมักจะหวนนึกถึงความทรงจำเก่า ๆ ในสมัยเรียน ไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน หอประชุม ห้องอาหาร หรือมุมต่าง ๆ ที่เคยไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ ไม่เว้นแม้แต่ ... สถานที่เล็ก ๆ อย่างในห้องน้ำ ที่มักมีเรื่องราวบันทึกเป็นความทรงจำให้เราอมยิ้มกันอยู่เสมอ 

รำลึกความหลังในรั้วมหาวิทยาลัยกันพอหอมปากหอมคอแล้ว ... ขอพาไปต่อด้วยเรื่องราวของสัญญาจ้างปรับปรุงห้องน้ำ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาผู้รับจ้างทำงานไม่เสร็จตามสัญญา จนมีการบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าปรับกันเกิดขึ้น และกลายเป็นคดีพิพาทที่ฟ้องร้องต่อศาล

ประเด็นสำคัญที่จะคุยกันอยู่ที่ว่า สัญญาจ้างปรับปรุงห้องน้ำมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ถือเป็นสัญญาประเภทใด ระหว่างสัญญาทางปกครองกับสัญญาทางแพ่ง เพราะมีผลต่อศาลที่จะมีอำนาจพิจารณาคดีคือ ศาลปกครองหรือศาลแพ่ง โดยเรื่องนี้มีการนำคดีมาฟ้องร้องกันที่ศาลปกครอง ซึ่งจะถูกศาลหรือไม่ ไปติดตามกันเลยครับ

ที่มาของคดีมีอยู่ว่า ... มหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งได้ทำสัญญาจ้างก่อสร้างปรับปรุงห้องน้ำกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ โดยเป็นการทำงานปรับปรุงห้องน้ำของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดเอได้นำหลักประกันเป็นเงินสดมามอบให้มหาวิทยาลัยฯ เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา

ปรากฏว่า งานก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนและเกิดความล่าช้า โดยได้ตกลงขยายระยะเวลาก่อสร้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ และมีการเร่งรัดหลายครั้ง แต่ก็ยังปฏิบัติงานไม่แล้วเสร็จ สุดท้ายมหาวิทยาลัยฯ แจ้งบอกเลิกสัญญาจ้างและริบหลักประกันเงินสด พร้อมทั้งเรียกให้ชำระค่าปรับจากการผิดสัญญาพร้อมดอกเบี้ย เมื่อไม่มีการชำระ มหาวิทยาลัยฯ จึงยื่นฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ และหุ้นส่วนผู้จัดการต่อศาลปกครอง เพื่อให้ชำระเงินดังกล่าว

คดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่ง ที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม (ศาลแพ่ง) ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด

คดีจึงมีประเด็นพิจารณาก่อนว่า สัญญาจ้างปรับปรุงห้องน้ำภายในอาคารของมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสัญญาทางปกครองที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า กรณีดังกล่าวพิพาทกันด้วยเรื่องสัญญาจ้างปรับปรุงห้องน้ำ ของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสถานที่ใช้จัดการเรียนการสอน กิจกรรมเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรม รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการที่เป็นผลงานของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้

นอกจากนี้ ยังใช้จัดการประชุมและเป็นห้องปฏิบัติงานซึ่งเป็นสำนักงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ ด้วย

เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฏมีอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพขั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547

                       สัญญาจ้างปรับปรุงห้องน้ำมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสัญญาประเภทใด?

การปรับปรุงห้องน้ำในอาคารดังกล่าว ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะของมหาวิทยาลัยราชภัฏดังที่กล่าวไปแล้ว ย่อมถือว่า เป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการดำเนินการ ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หลักได้ อันเป็นการอำนวยความสะดวกในการจัดทำบริการสาธารณะของมหาวิทยาลัยให้บรรลุผล 

การว่าจ้างเพื่อปรับปรุงห้องน้ำของสำนักศิลปะ และวัฒนธรรมที่พิพาทจึงถือเป็นการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้เพื่อสนับสนุน หรือ อำนวยความสะดวกในการจัดทำบริการสาธารณะของมหาวิทยาลัยราชภัฏโดยตรง ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสัญญาทางปกครอง 

คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 975/2565)

จากคดีดังกล่าว ... จะเห็นได้ว่า ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยแตกต่างจากศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งเห็นว่าสัญญาจ้างก่อสร้างห้องน้ำในมหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสัญญาทางแพ่ง เช่น การสร้างห้องน้ำในสถานที่ทั่วไป 

หากแต่ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อห้องน้ำที่อยู่ในสำนักศิลปะและวัฒนธรรมซึ่งใช้เป็นอาคารจัดการเรียนการสอน แสดงนิทรรศการ จัดการประชุม และยังเป็นห้องทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ ด้วย

ห้องน้ำดังกล่าวจึงถือเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำบริการสาธารณะของมหาวิทยาลัยฯ โดยตรง อันเป็นลักษณะอย่างหนึ่งของสัญญาทางปกครอง 

ตามมติที่ประชุมใหญ่ฯ (ครั้งที่ 6/2547 วันที่ 9 มิถุนายน 2547) ซึ่งได้ให้ความหมายสัญญาทางปกครองเพิ่มเติมไว้ว่า รวมถึงสัญญาเพื่อจัดให้มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะให้บรรลุผล ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355)