ขอค่าเสียหายอัตราสูงสุดเหตุตรวจครรภ์ไม่พบบุตรเป็นดาวน์ซินโดรม!

27 พ.ค. 2566 | 09:00 น.
536

ขอค่าเสียหายอัตราสูงสุด เหตุตรวจครรภ์ไม่พบ บุตรเป็นดาวน์ซินโดรม! : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง โดย...นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,891 หน้า 5 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม 2566

เชื่อว่าผู้ที่กำลังเตรียมตัวเป็นคุณแม่… ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่มือใหม่ หรือเคยมีบุตรมาแล้วก็ตาม ก็มักจะมีความกังวลเกี่ยวกับความแข็งแรงปลอดภัยของลูกน้อยในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่มีอายุมาก หรือ เกินกว่า 35 ปี ซึ่งอาจมีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือชีวิตของทั้งคุณแม่และคุณลูกได้ จึงจำเป็นต้องดูแลเป็นพิเศษ

และที่สำคัญหรือมองข้ามไม่ได้เลย ก็คือการเจาะนํ้าครํ่าเพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติลูกในท้อง รวมทั้งตรวจหาภาวะ ดาวน์ซินโดรม ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนแรก

 

 

เช่น กรณีของคุณแม่ที่ตั้งครรภในวัย 39 ปี ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีในเรื่องที่จะคุยกันวันนี้ โดยตั้งครรภ์บุตรคนที่ 3 เมื่ออายุมากแล้ว และได้เจาะนํ้าครํ่าเพื่อตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรมของทารก แต่แพทย์ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ 

ต่อมาภายหลังเมื่อคลอดจึงทราบว่า บุตรของตนเป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งเกิดจากการมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา ทำให้ เด็กมีพัฒนาการช้าผิดปกติ และส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของครอบครัว

เมื่อเป็นเช่นนี้ ... ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นเรื่องขอใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาล หรือ จากการตรวจครรภ์ผิดพลาด

โดยผู้ฟ้องคดีได้รับเงินช่วยเหลือมาแล้วจำนวนหนึ่ง แต่เห็นว่าตนควรได้รับเงินช่วยเหลือตามสิทธิในอัตราสูงสุด จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอค่าเสียหายเพิ่มเติม 

เรื่องราวของคดีเป็นมาอย่างไร และคุณแม่ท่านนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราสูงสุดตามที่ตนขอหรือไม่ ไปติดตามกันครับ...  

 

ขอค่าเสียหายอัตราสูงสุดเหตุตรวจครรภ์ไม่พบบุตรเป็นดาวน์ซินโดรม!

 

 

มูลเหตุของคดีมีว่า... ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิรักษาพยาบาลตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (สิทธิบัตรทอง) ที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีตั้งครรภ์บุตร คนที่ 3 ได้ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลดังกล่าว และได้ไปพบแพทย์ตามกำหนดนัดมาโดยตลอด แต่เนื่องจากตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก แพทย์จึงต้องเจาะนํ้าครํ่าเพื่อตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ 

ซึ่งผลการวินิจฉัยของแพทย์ไม่พบความผิดปกติของโครโมโซม แต่หลังจากคลอดแล้ว กลับพบความผิดปกติของบุตรชาย โดย ผลการตรวจโครโมโซมจากเลือดกลับพบว่า มีอาการดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) 

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า หากผลการตรวจนํ้าครํ่าของแพทย์ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีตั้งครรภ์พบว่า เด็กผิดปกติ ผู้ฟ้องคดีจะได้มีวิธีการจัดการที่ดีโดยที่เด็กไม่ต้องคลอดออกมาแล้วมีอาการพิการทางสมอง ทำให้มีภาระในการเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ฟ้องคดีมีบุตรอยู่แล้ว 2 คน ที่กำลังศึกษาอยู่และยังมีบิดามารดา ที่ต้องดูแลและชราภาพ 

ด้วยเหตุนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นดังกล่าว โดยได้รับเงินมาแล้วจำนวน 320,000 บาท แต่เห็นว่าตนควรได้รับค่าเสียหาย หรือ เงินช่วยเหลือในอัตราสูงสุดตามสิทธิ คือ 400,000 บาท จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดี) จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 80,000 บาท

คดีมีประเด็นพิจารณาว่า การที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ่ายเงินช่วยเหลือดังกล่าวให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน 320,000 บาท ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่? 

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า บุตรของผู้ฟ้องคดีมีภาวะดาวน์ซินโดรมจริง ซึ่งกรณีที่แพทย์ตรวจครรภ์แล้วไม่ความผิดปกติของโครโมโซม มีสาเหตุมาจากจำนวนเซลล์ที่ได้จากการเพาะนํ้าครํ่าน้อยเกินไป ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการเจาะนํ้าครํ่าใหม่เพื่อส่งตรวจยืนยันผลอีกครั้ง 

โดยหากพบความผิดปกติ พ่อแม่เด็กสามารถที่จะเลือกตัดสินใจว่าจะยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ แต่กรณีของผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับแจ้งให้ทำการตรวจนํ้าครํ่าใหม่ ซึ่งหากมีการตรวจใหม่ย่อมจะตรวจพบความผิดปกติได้

จึงถือว่าแพทย์ไม่ได้ใช้ความรอบคอบและความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ทำให้เกิดความผิดพลาดดังกล่าวขึ้น อันส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่บุตรของผู้ฟ้องคดี ที่จะต้องได้รับการรักษาและดูแลจนตลอดชีวิต และทำให้วิถีการดำรงชีวิตของผู้ฟ้องคดีรวมถึงครอบครัวต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง 

ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากสำนัก งานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประกอบกับข้อ 5 ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2555

เมื่อบุตรของผู้ฟ้องคดีอยู่ในประเภทบุคคลที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังต้องให้การรักษาไปตลอดชีวิต และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง จึงเห็นควรกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินช่วยเหลือใน อัตราสูงสุด ของค่าเสียหายประเภทที่ 1 ตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง ของข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ดังกล่าว ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 400,000 บาท 

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพิ่มอีกจำนวน 80,000 บาท รวมเป็นเงินช่วยเหลือที่ได้รับทั้งสิ้น 400,000 บาท (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 12/2565)

คดีนี้นับว่าเป็นอุทาหรณ์สำคัญ... เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของแพทย์ในการตรวจครรภ์เพื่อคัดกรองภาวะดาวน์ซินโดรม หรือโรค  อื่นๆ ของทารกในครรภ์ ที่จะต้องใช้ความรอบคอบและความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ 

เมื่อเกิดความไม่มั่นใจหรือไม่ชัดเจน เช่น จำนวนเซลล์ที่ได้จากการเพาะนํ้าครํ่าน้อยเกินไป ซึ่งส่งผลต่อความแม่นยำในการตรวจวินิจฉัย ควรที่จะต้องมีการตรวจซํ้าใหม่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ เมื่อมิได้มีการดำเนินการจนก่อให้เกิดความผิดพลาดและเสียหาย ผู้รับบริการย่อมมีสิทธิจะได้รับชดเชยความเสียหายในกรณีดังกล่าวตามสิทธิที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 

โดยกรณีของผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ ศาลท่านเห็นว่า มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างรุนแรง ที่สมควรได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิในอัตราสูงสุด นั่นเองครับ 

ท้ายนี้ขอคารวะและเป็นกำลังใจให้คุณแม่ ผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ ผู้มีหัวใจไม่แพ้ ทุกท่าน... 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่ ... สายด่วนศาลปกครอง 1355)