การท่องเที่ยวจีนปีกระต่าย “ฟื้น” หรือ “ฟุบ” (จบ)

04 มิ.ย. 2566 | 09:00 น.

การท่องเที่ยวจีนปีกระต่าย “ฟื้น” หรือ “ฟุบ” (จบ) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3893

วันนี้ผมจะชวนคุยต่อถึงการเปลี่ยนแปลงด้านรูปแบบ และพฤติกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศในแง่มุมอื่น และขยายต่อไปถึงส่วนของการท่องเที่ยวในต่างประเทศว่าเป็นเช่นไร ...

การท่องเที่ยวภายในประเทศของจีนที่เคย “ซบเซา” ในช่วงวิกฤติโควิด ได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องอย่างมาก นักธุรกิจและพนักงานชาวจีนในวงการท่องเที่ยวต้องปิดกิจการชั่วคราว และเลิกจ้างงานพนักงานที่มีความชำนาญจำนวนมาก 

หลายรายต้องเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น แต่มาถึงวันนี้ “ความกระชุ่มกระชวย” เริ่มกลับคืนมาสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจีนอีกครั้ง อุปสงค์ด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงหยุดยาวเทศกาลตรุษจีน และวันแรงงาน ทำให้ “ความคึกคัก” กลับมาฟูฟ่อง

ข้อมูลจาก Ctrip ระบุว่า จำนวนบัตรผ่านประตูของสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในจีนเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่าของปี 2022 และกว่า 2 เท่าของปี 2019 โดยสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม 5 อันดับแรกที่คว้าแชมป์ในช่วงดังกล่าวได้แก่ 

-เซี่ยงไฮ้ดีสนีย์รีสอร์ต (Shanghai Disney Resort) 

-สวนโจวเจิ้ง (Zhou Zheng Yuan) แห่งเมืองซูโจว 

-เขาหวงซาน (Huangshan) ตอนใต้ของมณฑลอันฮุย 

-เขาเอ๋อเหมย (Emei) แห่งมณฑลเสฉวน 

-เขาหัวซาน (Huashan) ด้านซีกตะวันออกของนครซีอาน มณฑลส่านซี 

ขณะเดียวกัน กิจกรรมทางวัฒนธรรมขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากก็เพิ่มขึ้นในวงกว้างทั่วจีน ไม่ว่าจะเป็นการเต้นรำ การร้องเพลง และการใช้เวลายามค่ำในหมู่บ้าน โดยมีคนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวราว 166 ล้านคน

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงเชิงพาณิชย์อีกราว 31,100 แห่ง ซึ่งมีผู้ชมกว่า 8.6 ล้านคน และสร้างรายได้จากค่าบัตรผ่านประตูได้สูงถึง 1,500 ล้านหยวน ทำให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจในวงกว้างอย่างแท้จริง

ในส่วนของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศของจีนก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง การ “หันหัวกลับ” ในนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของรัฐบาลจีน นับแต่ต้นปีกระต่ายที่ตามมาด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบเกี่ยวกับการเดินทางออกต่างประเทศของจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหยุดยาววันแรงงาน 

สถาบันการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (China Tourism Academy) ประเมินไว้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าและออกประเทศในปีนี้คาดว่าจะทะลุ 90 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัวกว่า 2 เท่าตัวของปีก่อน 

ขณะที่ข้อมูลของ Ctrip ยังระบุว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลจีนได้ “ปลดล็อก” ให้ตัวแทนด้านการท่องเที่ยวสามารถจัด “ทัวร์กลุ่ม” เดินทางไปยัง 60 ประเทศได้ อุปสงค์การท่องเที่ยวในต่างประเทศของชาวจีน ก็พุ่งขึ้นเกือบ 7 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออกที่เพิ่มขึ้นแรงดังกล่าว ก็อยู่ในระดับเพียง 31.5% ของปี 2019 ซึ่งเท่ากับว่า จีนยังมี “การบ้าน” อยู่หลายข้อ หากต้องการใช้ภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้และอีกหลายปีในอนาคต

ประการสำคัญ ข้อมูลจากการวิจัยของ Mastercard (มาสเตอร์การ์ด) ยังระบุว่า นักท่องเที่ยวขาออกของจีน เต็มใจใช้เงิน “มากขึ้น” และระยะเวลาที่ “ยาวนาน” ขึ้นเพื่อไปพักผ่อนและช้อปปิ้งในต่างประเทศ 

ยิ่งคนจีนที่มีอายุระหว่าง 21-45 ปี ที่นิยมเดินทางไปต่างประเทศอยู่เป็นประจำตั้งแต่ในช่วงก่อนวิกฤติโควิด ก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่อยากจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง

จนมีบางคนบอกว่า รอบนี้เป็นเสมือนการท่องเที่ยว “ล้างแค้น” หลังจากที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่จับเจ่าอยู่แต่ในบ้านต่อเนื่องเป็นเวลานานจนบางคนแทบเป็น “โรคซึมเศร้า” 

เพียงแต่รอบนี้ ผมสังเกตเห็นว่า ชาวจีนนิยมออกไปเที่ยวในต่างประเทศในรูปแบบของกลุ่ม “ขนาดเล็ก” ที่มุ่งเน้น “ความเป็นส่วนตัว” มากขึ้น 

แถมกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีนก็ใส่ใจกับการมองหาประสบการณ์ใหม่ “คุณภาพสูง” ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกเกี่ยวกับอาหารการกิน การเดินทาง การอำนวยความสะดวก และอื่นๆ 

ขณะที่การจองตั๋วเครื่องบินขาออกและโรงแรมในต่างประเทศ ก็ขยายตัวเกือบ 900% และ 450% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2022 ตามลำดับ

                          การท่องเที่ยวจีนปีกระต่าย “ฟื้น” หรือ “ฟุบ” (จบ)

อย่างไรก็ดี หากเทียบกับของปี 2019 ก็พบว่า จำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักท่องเที่ยวคาดหวังอยู่มาก โดยมีจำนวนเพียงราว 40% เท่านั้น ทั้งที่ ความสนใจซื้อหาตั๋วเพิ่มขึ้นมากกว่า 60%

แหล่งข่าวจากตัวแทนด้านการท่องเที่ยวออนไลน์ชื่อดัง “Tuniu” (ถูหนิว) ที่ลิสต์อยู่ในตลาด Nasdaq (แนสแดกส์) ในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ผู้ใช้บริการเกือบ 30% เลือกบินผ่านฮ่องกง และ มาเก๊า เพื่อไปจับเที่ยวบินต่อไปยังจุดหมายปลายทาง

โดยจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยม 10 อันดับแรก ได้แก่ ไทย มัลดีฟ สิงคโปร์ ยูเออี อียิปต์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย รัสเซีย และฟิจิ โดยราว 70% กระจุกตัวอยู่ในอาเซียน

ข้อสังเกตหนึ่งก็คือ เที่ยวบินระหว่างจีนไปยุโรป และ อเมริกาเหนือ ที่มีจำกัดมาก ทำให้ประเทศในภูมิภาคดังกล่าว รวมทั้ง เอเชีย พลาดโอกาสในการได้รับประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนเป็นอย่างมาก

จำนวนเที่ยวบินให้บริการที่ต่ำกว่าอุปสงค์ในช่วงเวลาดังกล่าว ยังทำให้ราคาค่าตั๋วเครื่องบินขาออกจากจีนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 34% เมื่อเทียบของช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019

ประการสำคัญ กลุ่มคนที่เกิดหลังปี 2000 ยังได้กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวในต่างประเทศอย่างชัดเจน

จากข้อมูลของ Ctrip ระบุว่า การจองเพื่อการท่องเที่ยวของกลุ่มเจน “หลังปี 2,000” (Post-00s) ขยายตัวกว่า 10 เท่าตัว เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2019 แถมหลายคนในกลุ่มนี้เป็นนักท่องเที่ยว “หน้าใหม่” เพราะหลายคนเดินทางออกไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก จึงเลือกจุดหมายปลายทางในภูมิภาคเอเซียตะวันออกที่ “ใกล้จีน” 

Ctrip เปิดเผยว่า นักท่องเที่ยวจีนที่มีอายุระหว่าง 18-23 ปี เลือกไปพักผ่อนวันหยุดยาวที่ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ โซล โตเกียว และ กัวลาลัมเปอร์ ตามลำดับ โดยใช้เงินซื้อทัวร์กลุ่มเฉลี่ย 6,562 หยวนต่อคน ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 25% ของระดับก่อนวิกฤติโควิด ขณะที่แพ็กเก็จการท่องเที่ยวแบบอิสระอยู่ที่เกือบ 15,000 หยวนต่อคน 

ปัจจัย “ความใกล้” ในเชิงภูมิศาสตร์ และพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไปที่มาพร้อมกับ “ความกล้าจ่าย” เพื่อประสบการณ์ใหม่ และอื่นๆ ก็คาดว่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับ “เมืองรอง” และ “บริการที่พิเศษสุด” ของไทยอย่างแน่นอน

หลังวิกฤติโควิด การท่องเที่ยวของจีนในปีกระต่าย ทั้งในและต่างประเทศได้กลับมา “ฟื้นตัว” อย่างเห็นได้ชัด และเปลี่ยน “หน้าตา” ไปอย่างมาก รวมทั้งยังมีมิติในเชิงบวกที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจจีน และประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นจุดหมายปลายทางของชาวจีนไว้อย่างน่าสนใจ ...