100 ปีของการเดินทางไกล ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน(1)

30 มิ.ย. 2564 | 12:05 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 17:15 น.
2.0 k

100 ปีของการเดินทางไกล ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน(1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ในอดีต คนไทยบางส่วนอาจมีทัศนคติและมุมมองเชิงลบต่อคำว่า “คอมมิวนิสต์” บ้างก็รู้สึกว่าน่ากลัวบ้าง โหดร้ายบ้าง ยากจนบ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการต่อสู้ในยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตในอดีต ที่นำไปสู่ต้นแบบของ “การแยกขั้ว” ทางการเมืองโลก

แต่คนไทยเริ่มกระจ่างในปัญญาขึ้นเมื่อได้รับรู้แนวคิดและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ ร.9 ทรงมีพระราชดำรัสในเวลาต่อมาว่า การทุ่มเทพระสติปัญญาและพระวรกายของพระองค์ท่านมิใช่เพื่อต่อสู้เอาชนะระบอบการปกครองใด แต่ต้องการต่อสู้กับปัญหาความยากจนเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพสกนิกร

หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ว่าจะอยู่ในระบอบการปกครองแบบใดก็ตาม ภารกิจสำคัญของผู้นำประเทศคือการขจัดความยากจนให้หมดสิ้นจากแผ่นดิน

หนึ่งในชาติที่ถือเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จในการยึดหลักการดังกล่าว ก็คือ สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ปกครองในระบอบสังคมนิยม โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นแกนหลักในการพัฒนานับแต่ก่อตั้งประเทศ

 

พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1921 โดยจัดประชุมครั้งแรกในห้องขนาดเพียงไม่กี่คูหา ที่ปัจจุบันถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ในบริเวณซินเทียนตี้ ใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่ผู้อ่านหลายท่านอาจเคยแวะเวียนไปเยือนและถ่ายรูปเป็นที่ระลึกมาแล้ว

จากกลุ่มปัญญาชนที่สนใจในแนวคิดแบบมาร์กซิส (Marxism) เพียงแค่หยิบมือที่ร่วมประชุมครั้งแรกในช่วงเวลาเพียงไม่กี่นาที ก็ต้องระเห็จหนีทหารของรัฐบาล ภายใต้การนำของพรรคชาตินิยม ที่เรารู้จักกันในนามของพรรค “ก๊กมินตั๋ง” 

100 ปีของการเดินทางไกล  ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน(1)

หลังจากนั้น พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ล้มลุกคลุกคลานต่อสู้กับพรรคชาตินิยมที่นำโดย เจียง ไคเช็ค ยาวจนถึงปลายทศวรรษ 1940 ท่ามกลางสงครามภายในและการรุกรานจากภายนอกประเทศ หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้นก็ได้แก่ “การเดินทางไกล” (Long March) ซึ่งกองกำลังนับแสนคนถูกกดดันจนต้องละทิ้งฐานที่มั่นในบริเวณตอนใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียงขึ้นเหนือในวันที่ 16 ตุลาคม 1934 

การเดินทางไกลนำโดย เหมา เจ๋อตง ที่มีระยะทางถึง 10,000 กิโลเมตร ได้รับการสนับสนุนจากคนในชนบทตลอดเส้นทางที่ไม่พอใจกับลัทธิล่าอาณานิคมและการกดขี่ของคนชั้นสูง อย่างไรก็ดี การเดินทางไกลในครั้งนั้นลากยาวจนถึงปี 1936 พร้อมกับการสูญเสียกำลังพลจำนวนเหลือรอดเพียงไม่กี่หมื่นคน

พรรคคอมมิวนิสต์จีน และ พรรคชาตินิยม หันมาจับมือกันอีกครั้งเพื่อต่อต้านการรุกรานของจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในปี 1945 สงครามการเมืองก็กลับมาอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้จบลงด้วยชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน พรรคก๊กมินตั๋งต้องหลบหนีไปอยู่ที่ไต้หวันจนทุกวันนี้

ในปี 1949 กองทัพแดงเคลื่อนพลเข้าปักกิ่งท่ามกลางการต้อนรับของผู้คนนับล้านตลอดสองข้างทาง พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถรวมจิตใจของพี่น้องชาวจีนให้เป็นหนึ่ง และประกาศก่อตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1949 ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องดีใจของผู้คนนับล้านที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งวันชาติจีนที่จะถึงในเดือนตุลาคมนี้ ก็เป็นการฉลองครบรอบ 6 รอบของการก่อตั้งประเทศ

ความบอบช้ำจากสงครามกลางเมืองและจากภายนอกที่ต่อเนื่องยาวนาน ผนวกกับแรงบีบจากต่างชาติระลอกใหม่ ทำให้จีนประกาศปิดประเทศเพื่อรักษาบาดแผลสงคราม แต่เงื่อนไขข้อจำกัดในห้วงนั้นก็ทำให้ความพยายามในการพัฒนาประเทศ และแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น 

นโยบายสำคัญ อาทิ การก้าวกระโดดครั้งใหญ่ (Great Leap Forward) ที่รัฐบาลผลักดันให้จีนผลิตเหล็กในระดับเดียวกับสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต โดยอาศัย “เตาเผาหลังบ้าน” ต้องเผชิญกับข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีและความชำนาญการ

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดตามมาอีกเป็นระลอก จีนต้องเผชิญกับภาวะฝนแล้งในช่วงปี 1959-1961 ส่งผลให้ผลผลิตภาคการเกษตรหดหาย สภาพเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่สุดขั้ว มีสภาพเสมือน “คนป่วย” ผู้คนขาดอาหารและล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นทุพภิกขภัยที่ร้ายแรงที่สุดของศตวรรษที่ 20 

เหมา เจ๋อตง เปลี่ยนเกมส์อีกครั้งด้วย “การปฏิวัติทางวัฒนธรรม” (Cultural Revolution) ยาวนานกว่า 10 ปีในระหว่างปี 1966-1976 ซึ่งเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศแทนที่ผู้บริหารรุ่นเก่า 

นักศึกษารวมตัวกันจัดตั้ง “เรดการ์ด” ขึ้นทั่วประเทศ และนำไปสู่ปัญหาการเข่นฆ่า ทำลายบ้านเรือน เผาหนังสือ และงานศิลป์ จนบ้านเมืองวุ่นวายในวงกว้างส่งผลให้จีนกลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เหตุการณ์ความวุ่นวายยุติลงหลังการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม และการเสียชีวิตของเหมา เจ๋อตงในวันที่ 9 กันยายน 1976

เติ้ง เสี่ยวผิง ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคฯ คนใหม่พร้อมกับการบ้านข้อใหญ่ คนจีนจำนวนหลายร้อยล้านคนมีฐานะยากจน อาจกล่าวได้ว่า จีนในช่วงนั้นยากจน และล้าหลังกว่าไทยมาก แต่พรรคฯ ก็ยังมุ่งมั่นที่จะเคลื่อนภูเขาลูกใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า เพื่อหวังฟื้นสภาพตลาดและกิจการจีนที่อ่อนแอในหลายด้านดั่งคนไข้ในอาการวิกฤติ 

หลังการเดินสายเยือน ไทย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ เพียงไม่กี่วัน ในวันที่ 13 ธันวาคม 1978 จีนก็เปิดประเทศสู่โลกภายนอกเพื่อรับอากาศบริสุทธิ์ เติ้ง เสี่ยวผิง ยังได้ให้ข้อคิดเพื่อลดกระแสต่อต้านระบอบสังคมนิยมของประชาชนบางส่วนในช่วงของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจไว้ว่า “ความยากจนไม่ใช่ระบอบสังคมนิยม” 

หลังจากนั้น พรรคฯ ก็ปรับนโยบายเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยหันไปพึ่งพาเอาการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม จีนเดินหน้าจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ด้านซีกตะวันออกของจีนที่ใกล้ชายฝั่งทะเลเป็นสำคัญ เพื่อเป็นเสมือน “ห้องรับแขกใหญ่” รองรับการลงทุนของต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนโพ้นทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในระยะแรก และขยายต่อไปยังชาติตะวันตกในเวลาต่อมา จนนำไปสู่วลีอมตะของท่านเติ้งที่ว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอเพียงให้จับหนูได้เป็นพอ” ในเวลาต่อมา

แต่การพัฒนาของจีนก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จีนต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างแนวคิดอนุรักษ์นิยมกับแนวคิดปฏิรูป และนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 4 มิถุนายน 1989 ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน 

แต่อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่อาจหยุดการเดินหน้าพัฒนาประเทศของจีนได้ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวยุติลง จีนก็เริ่มสร้างกลไกตลาดทุนขึ้นที่เซินเจิ้นและเซี่ยงไฮ้ในปีต่อมา และตามมาด้วยโครงการพัฒนาเขตผู่ตง นครเซี่ยงไฮ้ ที่ปัจจุบันคราคร่ำไปด้วยอาคารสูงที่มีสถาปัตยกรรมล้ำสมัย (อ่านต่อตอน 2)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3692 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 1-3 ก.ค.2564