การศึกษาของเมียนมาที่แปรเปลี่ยนไป

21 มิ.ย. 2564 | 08:25 น.

การศึกษาของเมียนมาที่แปรเปลี่ยนไป : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในยุคนี้เป็นยุคของ New Normal ในประเทศไทยเราเอง ก็มีการเตรียมความพร้อมกันอย่างคึกคัก ทั้งในด้านการค้า-การลงทุน ด้านการตลาด โลจิสติกส์ ฯลฯ ทุกๆด้าน ต้องมีการเตรียมการรับมือให้ดี มิฉะนั้นอาจจะตกขบวนรถไฟเที่ยวแรกของยุคสมัยใหม่นี้ได้ แล้วผู้ที่ตกขบวนก็จะต้องวิ่งไล่ตามชาวบ้านเขา และอาจจะต้องใช้พละกำลังมากกว่าคนที่เริ่มก่อนอีกเป็นเท่าตัวกว่าจะวิ่งตามทัน ดังนั้นใครที่ยังอยู่นิ่งเฉย ควรจะต้องรีบเร่งหันกลับมามองดูตัวเองได้แล้วครับ

บางคนอาจจะมีคำถามว่า แล้วควรจะเตรียมตัวอย่างไร ผมต้องบอกว่าแล้วแต่ธุรกิจที่ท่านดำเนินการอยู่ครับ เพราะแต่ละธุรกิจย่อมมีช่องทางและเคล็ดลับที่ไม่เหมือนกันครับ ผมไม่ใช่พหูสูตจึงคงให้ความเห็นแต่ละธุรกิจไม่ได้หมด แต่ไม่ต้องกังวลครับ ขณะนี้หลายหน่วยงานทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมและอีกหลายๆกระทรวง รวมทั้งภาคเอกชนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรมแห่งประเทศไทย หรือสภาหอการค้าไทย อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกหน่วยงานล้วนมีการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้กันเยอะมาก เราควรเข้าไปนั่งฟังชาวบ้านเขาช่วยชี้แนะนะครับ ไม่ว่าอะไรก็มีประโยชน์หมดแหละ เพียงแต่ว่าเมื่อเราไปเข้าร่วมสัมมนาแล้ว เราต้องมาสังเคราะห์ข้อมูลกันเอาเอง เพราะเราจะเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในเรื่องของปัญหาที่เราทำอยู่ ไม่มีใครจะรู้ดีไปกว่าเราหรอก เพียงแต่บางเรื่องเท่านั้นครับ ที่เราต้องหาแหล่งข้อมูลและความรู้ต่างๆมาเติมเต็มให้แก่ตนเองครับ 

สิ่งที่ผมจะนำมาเสนอในวันนี้คือ ที่ประเทศเมียนมาก็มีการเปลี่ยนแปลงทุกด้านเช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือการแปรเปลี่ยนไปนั้นมีความรุนแรงกว่าประเทศไทยเรามาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่เมียนมามีเหตุปัจจัยที่แตกต่างจากตลาดทั่วโลก เพราะเหตุผลแรกคือมาจากตลาดเมียนมาเป็นตลาดที่เปิดใหม่ เพิ่งจะถือกำเนิดมาเพียงไม่ถึง10 ปีเท่านั้น ดังนั้นในตลาดนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งประชาชนกำลังจะเริ่มปรับตัว ให้เข้ากับสถานการณ์การตลาดได้ไม่นาน ก็คล้ายๆกับการช็อคตลาดนั่นแหละครับ ระลอกแรกยังไม่ทันปรับตัวได้คงที่ ระลอกสอง-สามก็เข้ามาแล้ว จึงทำให้มีความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่ประเทศอื่น

เหตุผลที่สองคือ สังคมเริ่มมีการเข้ามาของเทคโนโลยี่ใหม่ๆ ที่เป็นไปตามกระแสของโลกาภิวัฒน์ ( Globalization) ซึ่งประเทศเมียนมาก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบการสื่อสาร การตลาด การโฆษณา หรือการ ประชาสัมพันธ์ และด้านอื่นๆ บางธุรกิจได้ถูก Disturb ไปเรียบร้อย เหตุผลที่สาม มาจากเจ้าโรคระบาดวายร้าย COVID-19 ที่เข้ามาระลอกแรกในเดือนเมษายน พอรัฐบาลกำลังมึนๆอยู่ จู่ๆระลอกที่สองก็แทรกเข้ามาในเดือนสิงหาคม ทำให้ต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ยิ่งมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ที่รัฐบาลเมียนมาต้องทุ่มงบประมาณเข้าไปมหาศาล เทียบกับขนาดของ GDP ประเทศแล้ว ถือว่ามีนัยยะเลยทีเดียวครับ แต่พอแสงสว่างปลายอุโมงเริ่มมองเห็นนิดๆ ก็เกิดการเข้ามาสู่โหมดของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้เกิดการช็อคซ้ำแล้วซ้ำอีกครับ 

ที่คนรุ่นใหม่ในประเทศเมียนมาเป็นกังวลอย่างยิ่ง น่าจะเป็นเรื่องระบบการศึกษา ที่แม้จะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็หนีไม่พ้นที่ก็จะต้องถูกกระแสโลกาภิวัตน์ โจมตีจนต้องตกยุคไป ดังนั้นวิวัฒนาการณ์ของระบบการศึกษาใหม่ๆ จะเข้ามาแทนที่ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนของการเรียนการสอน วิธีการสอน เนื้อหาของวิชา และหลักสูตรที่ต้องค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ จะเปลี่ยนไปทั้งหมด ต้องบอกว่าถ้าหากกระทรวงศึกษาธิการของเขา ไม่เปลี่ยนแปลงตัวเอง คนรุ่นใหม่ที่จำเป็นต้องเปิดรับกระแสจากโลกภายนอกที่แทรกซึมเข้าสู่สังคมเมียนมา จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดิ้นรนเสาะแสวงหาเอาเอง มิเช่นนั้นก็จะตามกระแสโลกาภิวัฒน์ไม่ทันครับ   

ที่น่าสนใจคือแล้วคนรุ่นใหม่ในเมียนมาวันนี้ แล้วเขาจะทำอย่างไรได้บ้างละ คงต้องบอกว่าสิ่งที่เขาอยากจะเป็น อยากจะได้คือ “ความมั่งคั่ง” ไงละครับ แน่นอนความร่ำรวยนั้นย่อมมาพร้อมกับโชควาสนาและฝีมือ ส่วนโชควาสนาของแต่ละคน จะใช้วิธีการไปสืบเสาะหาคงไม่ได้ พระเจ้าเท่านั้นที่จะประทานให้ได้ แต่ฝีมือนั้นถ้าไม่รู้จักพัฒนาตนเอง ด้วยการเรียนรู้ก็ไม่รู้จะมีฝีมือได้อย่างไร เพราะแน่นอนว่าการเรียนรู้หรือการศึกษานั้น ต้องลงมือทำด้วยตนเอง จะให้ใครมาเรียนแทนเรา คงไม่ได้หรืออาจจะได้แค่เพียงแต่กระดาษเปล่าแผ่นเดียว หรือได้แค่ชื่อเท่านั้น ความรู้ที่อยู่ในสมองไม่มีใครที่คิดค้นสร้างโปรแกรมมายัดเข้าไปในสมองไม่ได้หรอกครับ ดังนั้นต้องลงมือไปเรียนด้วยตนเอง เมื่อได้รับความรู้ใส่สมองของตนเองแล้ว ใครจะเอาจอบเอาเสียมมาขุดมาแซะ ก็ขุดไปไม่ได้ครับ ลงมือตั้งแต่วันนี้ จะไม่เสียใจในวันข้างหน้า สุภาษิตจีนมีไว้ว่า “ 少年不努力 老大苦傷悲” แปลเป็นไทยว่า วัยเด็กไม่ขยันหมั่นเพียรศึกษา แก่เฒ่ามาก็จะยากลำบาก 

ส่วนวิธีการที่จะเข้าหาการศึกษานั้น เมื่อโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในประเทศไม่ตอบสนองความต้องการได้ คนรุ่นใหม่ที่มีฐานะดีหน่อย ก็จะดิ้นรนเดินทางออกนอกประเทศไปแสวงหาโอกาสทางการศึกษากัน สถานที่ที่เขาใฝ่ฝันอยากไปเรียนหนังสือกัน ก็แน่นอนว่าเป็นสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ จีน ไทย (มีติดกลุ่มกับเขาด้วยแหะ) เพื่อที่จะได้ล้ำหน้าคนทั่วๆไปที่อยู่ในประเทศเมียนมาครับ

เราหันมามองดูบ้านเราบ้าง คงต้องบอกว่าที่บ้านเรา ยุคหนึ่งก็เห่อเรียนหนังสือกัน แต่มาในยุคปัจจุบันนี้ จำนวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหล่นหายไปอย่างน่าใจหาย หรืออาจจะเป็นเพราะอัตราการเกิดลดน้อยลงไปตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุคปี 2000 แต่ก็ไม่น่าจะลดลงมากขนาดนี้ อีกทั้งจากประสบการณ์ของผม ที่มีโอกาสได้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยมาสิบกว่าปี ก็มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะพอควร จึงสังเกตุว่าเด็กรุ่นใหม่บ้านเรา มักไม่ค่อยชอบครูบาอาจารย์ที่ออกข้อสอบยากๆ แต่ถ้าอาจารย์ให้ไกด์ไลน์ในการออกข้อสอบให้ทราบก่อนสอบ จะรักอาจารย์มาก ถึงขั้นเรียกหาว่า “อาจารย์พ่อ-อาจารย์แม่” กันเลยครับ เป็นที่น่าเสียดายที่เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษากันเท่าที่ควรนะครับ ฝากไว้แค่เป็นเครื่องเตือนใจเท่านั้นนะครับ คงไม่ต้องส่งทัวร์มาลงที่ผมนะครับ