2 บิ๊กเอกชนจี้รัฐ เร่งฉีดวัคซีน หวั่นช้าทุบแผนฟื้นตัวเศรษฐกิจ

02 พ.ค. 2564 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2564 | 12:34 น.
1.9 k

ในสถานการณ์ปัจจุบันทุกภาคส่วนต่างผวาหนักขึ้นกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ขณะนี้กำลังระบาดในคลัสเตอร์ใหม่หลายกลุ่มโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่กำลังน่าจับตา ซึ่งเป็นอีกกลุ่มเสี่ยง หากเครื่องจักรกลุ่มนี้สะดุด เศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนยากขึ้นไปอีก เป็นอีกโจทย์หินที่ภาคธุรกิจต่างกังวลพอ ๆ กับข้อกังวลการเดินแผนกระจายวัคซีนที่ล่าช้ามากในขณะนี้

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย และ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดมุมมองด้านต่าง ๆ จากผลต่อเนื่องของพิษโควิด-19 ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” อย่างน่าสนใจ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย

นายสนั่น กล่าวด้วยความกังวลถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจว่า หากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังลากยาวไปจะยิ่งทำให้เกิดความลำบากในการฟื้นตัว และมองว่า การระบาดระลอกเดือนเมษายนนี้ จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศอย่างน้อย 3-4 เดือนต่อเนื่อง โดยจะกระทบแผนการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยและทำให้การกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนข้างหน้านี้ทำได้ยากหรืออาจต้องเลื่อนออกไป รวมทั้งกระทบอย่างมากต่อกำลังซื้อเพราะแรงงานในภาคบริการต้องหยุดหรือลดชั่วโมงการทำงานลง

ขณะเดียวกันเริ่มมีสัญญานที่ดีจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้าค่อนข้างมาก จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ทำได้รวดเร็ว ซึ่งการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแรงขับเคลื่อนหลักให้ภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกมีทิศทางฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้

สอดคล้องกับที่นายสุพันธุ์ มองว่าจากวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 หดตัวร้อยละ 6.1 (YoY) ต่ำสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง การแพร่ระบาดระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไตรมาส 1/2564 โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 ลงเหลือ 1.5-3.0% จากเดิมคาดไว้เติบโต 1.5 – 3.5% จากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ

 

 

 

ต้องเร่งฉีดวัคซีน

ประธานส.อ.ท.ย้ำว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยได้คือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งหากการฉีดวัคซีนมีความล่าช้า ก็มีความเป็นไปได้ที่การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อหรืออาจเกิดการแพร่ระบาดอีกระลอก จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก และทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไป อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามามีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังมีปัจจัยบวกจากแนวโน้มการส่งออกที่จะเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้จากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐยังดำเนินอยู่ เช่น โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกัน ขณะที่มีมุมมองว่า ภาครัฐจะมีมาตรการต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศภายใต้พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท ประกอบกับยังมีเงินจากงบกลาง ภายใต้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่สามารถนามาใช้ได้อีกราว 1.3 แสนล้านบาท 

เมื่อถามว่าภาพรวมสถานะของภาคธุรกิจอยู่ในสถานะใด ระหว่าง 1.ถึงขั้นหยอดน้ำเกลือ 2.เข้าไอซียู 3.จ่อล้ม นายสนั่นกล่าวว่า ตอนนี้ยอมรับว่าภาพรวมภาคธุรกิจอยู่ในระดับที่ให้น้ำเกลือ ในมุมของหอการค้าฯ ถึงแม้โควิดระลอก 3 ยังรุนแรง แต่ก็ยังคาดว่ารัฐบาลน่าจะสามารถคุมได้ หลัก ๆ ที่น่าเป็นห่วงคือ SMEs ที่เป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนธุรกิจ จากที่ผ่านมา 1 ปีกว่า หลาย ๆ ธุรกิจกระทบไม่มากก็น้อย หลายคนก็มีการปรับตัวไปบ้างแล้ว เชื่อว่าตอนนี้ ภาครัฐได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือหลังวิกฤติเศรษฐกิจนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดเม็ดเงิน หรือลดค่าใช้จ่ายบางส่วน อาจจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการปรับแก้กฎระเบียบให้ง่ายขึ้นและถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมาพิจารณาเร่งปรับในช่วงโควิดนี้ 

ขณะที่นายสุพันธุ์ประเมินว่าปี 2564 การฟื้นตัวของภาคธุรกิจยังห่างไกลจากระดับรายได้ปกติ แม้รายได้ธุรกิจไทยภาพรวมจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายหลังจากต้นปีที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ (สมุทรสาครและตลาดบางแค) กลับมารุมเร้าอีกครั้ง ถือเป็นคลื่นมรสุมที่เข้ามาบั่นทอนกำลังซื้อภายในประเทศ และความเชื่อมั่นของธุรกิจไทยให้ลดลงอีก อีกทั้งการแพร่ระบาดของ โควิด ระลอกที่ 3 (ทองหล่อ) ที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาจากเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่ได้เร็วทำให้อัตราการแพร่ระบาดเร่งตัวขึ้นมาก  สุพันธุ์ มงคลสุธี  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

“สถานการณ์ในปัจจุบันน่ากังวลต่อภาคธุรกิจอย่างมาก ประกอบกับ ความล่าช้าทั้งการฉีดวัคซีนและการจัดหาวัคซีนที่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถฉีดวัคซีนได้ก็ไม่พอเพียง ซึ่งการระบาดรอบที่ 3 คงหนีไม่พ้นที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ลดการเดินทาง/การท่องเที่ยว (แม้เป็นสิ่งที่ดีเพื่อลดการแพร่ระบาด) แต่คงจะกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการฟื้นตัวของภาพรวมเศรษฐกิจ รวมถึง ผลกระทบต่อการทำงานที่มาจากมาตรการของรัฐที่อาจทำให้กระบวนการการผลิตถูกกระทบ และจะเสียหายมาก ถ้าภาคการผลิตเพื่อการส่งออกถูกกระทบตามไปด้วย ทั้งนี้ จะชะลอตัวมากหรือน้อยขึ้นอยู่ว่าการระบาดคราวนี้จะยืดเยื้อนานแค่ไหน และมาตรการที่รัฐจะใช้ควบคุมการระบาดว่าจะเข้มข้นและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ” 

 

2 บิ๊กเอกชนจี้รัฐ เร่งฉีดวัคซีน  หวั่นช้าทุบแผนฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ประเมินการทำงานของรัฐ

ส่วนการรับมือของรัฐบาลที่ผ่านมา นายสนั่นมองว่า ทั้งถ้าย้อนกลับไปเมื่อต้นปี ที่ทางภาครัฐได้มีการเตรียมรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ และวางแผนฉีดวัคซีนนั้น ก็ถือว่ามีการเตรียมความพร้อมได้ดีระดับหนึ่ง ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ระบาดระลอก 3 ที่เราเผชิญอยู่นี้ สถานการณ์ไม่น่าจะน่าเป็นห่วงขนาดนี้ เพราะก่อนหน้านี้เรามีคนติดเชื้อโควิด-19ไม่เยอะมาก อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ รวมถึง สถานการณ์ที่สมุทรสาคร ถึงแม้จะใช้เวลาพอสมควรแต่ก็สามารถจัดการได้

ในแง่การขับเคลื่อนของภาคธุรกิจ ที่ผ่านมาก็ได้ร่วมทำงานกับภาครัฐมาตั้งแต่การเปิดประเทศช่วงปีที่แล้ว เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยเอกชนก็ได้มีข้อเสนอเพื่อให้ประเทศไทยได้ฟื้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้น ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมาตรการการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ นอกจากนั้น การประสานเรื่องการ สร้างห้องความดันลบ โรงพยาบาลสนาม การระดมทุนบริจาค และช่วยเหลือบุคคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ ก็มี ภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วยตลอดนายสนั่นกล่าว

ขณะที่ประธานส.อ.ท.มองว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ภาครัฐสามารถรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ได้ดี ทั้งนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการล็อกดาวน์ และประกาศเคอร์ฟิวบางพื้นที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ภาครัฐยังได้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อนาเงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

โดยเฉพาะมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกแรก และระลอกสอง เช่น  มาตรการช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการเรารักกัน เราชนะ คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การลดค่าน้ำ/ค่าไฟ การลดเงินสบทบประกันสังคม   หรือมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ เช่น มาตรการพักชาระหนี้ ลดอัตราเบี้ยเงินกู้ การลดเงินสบทบประกันสังคม การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำรวมทั้งออกพ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท

 

ระลอก 3 ทำรัฐเสียรังวัด

นายสุพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตต่อว่า การระบาดระลอก 3 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 สถานการณ์มีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาครัฐยังแก้ไขปัญหาการระบาดโควิด-19 ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้มีการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป ทั้งนี้การไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวดในช่วงแรกที่มีการระบาดระลอกใหม่ ทำให้เชื้อโควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายในหลายจังหวัด 

การจัดระบบตรวจโควิด-19 และการจัดสรรเตียงรองรับผู้ป่วย ยังมีปัญหาทำให้ผู้ป่วยต้องรอนานหลายวันและผู้ป่วยบางคนเสียชีวิตที่บ้าน  การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ในพื้นที่หรือชุมชนแออัดยังน้อยเกินไป ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อแฝงอยู่และสามารถแพร่เชื้อได้ 

นอกจากนี้ยังขาดการประสานงานที่ดีระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อ  และมาตรการควบคุมโควิด-9 ที่ออกมายังมีความล่าช้า อาทิ กทม.ประกาศปิด 31 สถานที่มีผลวันที่ 26 เม.ย.64 หรือการใช้อำนาจผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดในการตัดสินใจ ซึ่งอาจมีความล่าช้าในการแก้ไขปัญหา และโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนยังมีความล่าช้ามาก

ด้านนายสนั่นมองว่าการแพร่ระบาดจะยืดเยื้อ และการกระจายวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้น จึงเกิดการประชุมร่วมกันของ CEO กว่า 40 บริษัทโดยทุกบริษัทเห็นตรงกันว่าขณะนี้ประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนไปค่อนข้างช้าสำหรับการที่จะเปิดประเทศที่จะต้องฉีดให้ได้ถึง 70% ของประชากร โดยภาครัฐจำเป็นต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับทุกคน ซึ่งภาคเอกชนพร้อมที่จะร่วมกันวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชนและการจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ เพื่อสนับสนุนให้สามารถเปิดประเทศได้รวดเร็ว    

  “ลำดับความสำคัญที่ต้องปฏิบัติก่อน  เพื่อรับมือโควิดระลอก3 คือ การฉีดวัคซีนโดยประสานงานรวมกับภาคเอกชนให้ได้จำนวนมากที่สุด หรือไม่น้อยกว่า 70% ของทั้งประเทศภายในปีนี้  และเตรียมมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ประเด็นเหล่านี้ ต้องมาทบทวนกันให้ชัดร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน” 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564