นโยบาย เมดอินไทยแลนด์

20 มี.ค. 2564 | 06:00 น.
840

นโยบาย เมดอินไทยแลนด์ : บรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3663 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค.2564

หลังจากผลักดันและมีการยื่นข้อเสนอหลายครั้ง จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)และสถาบันภาคเอกชน ในที่สุดรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ได้ผนึกกับส.อ.ท.ผลักดันการรับรองเครื่องหมาย Made in Thailand ด้วยวิธีการบังคับใช้กฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 โดยให้หน่วยงานรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60

การปลดล็อกโดยออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้น หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย (เมดอินไทยแลนด์) ช่วยเพิ่มยอดขาย ให้ผู้ประกอบการ

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐได้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยที่มีคุณภาพตามที่ต้องการ โดยแต่ละปีภาครัฐมียอดการจัดซื้อไม่น้อยกว่า 1.77 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยเผชิญวิกฤติโควิด-19 และการแข่งขันทางการค้าในเวทีโลก ส่งผลให้ยอดการส่งออกชะลอตัวลง กระทบกับการผลิต การจ้างงานในประเทศ จากการพึ่งพิงตลาดส่งออกที่มากเกินไป การหันมาสนับสนุนเมดดินไทยแลนด์โดยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จึงเป็นการกระตุ้นและสร้างตลาดภายในประเทศให้มีความเข้มแข็ง รองรับผลกระทบและแรงกระแทกที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจ การค้าโลกได้ในระดับหนึ่ง ที่สำคัญยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ฐานการผลิตของไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

นโยบายเมดอินไทยแลนด์ จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจากผู้ผลิตในประเทศ จะมีส่วนในการเอื้อผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย หรือ เอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาวิกฤติต่อเนื่องจากปัญหาโควิด-19 โดยเอสเอ็มอีต้องไปขึ้นทะเบียนขอการรับรองเมดอินไทยแลนด์ กับ ส.อ.ท. ก่อน รวมทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมในด้านมาตรฐานการผลิตสินค้า และผลิตสินค้าที่หลากหลายที่สุด เพื่อจะได้มีสินค้าป้อนให้กับภาครัฐได้หลากหลาย และเพียงพอกับความต้องการ

เราสนับสนุนนโยบายเมดอินไทยแลนด์ ใช้และซื้อสินค้าของไทยก่อนไปจัดซื้อจัดจ้างสินค้าจากต่างประเทศ โดยผู้ผลิตสินค้าไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพขั้นสูง ไม่ด้อยกว่าชาติใดในโลกอยู่แล้ว จึงเป็นข้อริเริ่มสำคัญที่ทุกฝ่ายควรให้การสนับสนุน และภาครัฐควรต่อยอดส่งเสริมนวัตกรรมให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบในประเทศ เพื่อให้ก้าวข้ามอีกขั้น เพื่อเสริมศักยภาพการผลิตให้กับผู้ผลิตภายในโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย