ค่าโง่โฮปเวลล์ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพผู้ใด

19 มี.ค. 2564 | 10:00 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มี.ค. 2564 | 17:07 น.
874

ค่าโง่โฮปเวลล์ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพผู้ใด! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3663 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 21-24 มี.ค.2564 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

วันที่ 17 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมากสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาข้อขัดแย้งทางคดีให้กับประชาชนคนไทยอีกครั้ง เมื่อได้วินิจฉัยว่า “มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 วันพุธที่ 27พ.ย. 2545 เรื่องปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองที่กำหนด ที่กำหนดให้นับอายุความฟ้องคดีปกครองนับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ คือ วันที่ 9 มี.ค. 2544 มาใช้อ้างอิงในคดีสัญญาสัมปทานโครงการโฮปเวลล์ เข้าข่ายเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 197 วรรคสี่ 

มติเสียงส่วนใหญ่ของศาลรัฐธรรมนูญ 5:2 ให้เหตุผลว่า แม้เป็นการออกระเบียบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 44 แต่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง

ที่ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญวันนั้น นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ถอนตัวจากการพิจารณาตั้งแต่ต้นตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลปกครองมาตรา 34 ประกอบมาตรา 32 (1)  ขณะที่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ที่ประชุมจึงเลือก นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แทนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 18 วรรคสี่

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแม้มีผลผูกพันต่อทุกองค์กร แต่การตัดสินรอบนี้มีเรื่อขอบเขตอำนาจศาลเข้ามาเกี่ยวข้อง และการที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินคดีไปแล้ว มิได้ทำให้ผลแห่งคดีที่ได้ตัดสินไปแล้วกลายเป็น “โมฆะ” หรือยุติไปแต่ประการใดไม่

“โดยหลักแล้วคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วก็เป็นอันเสร็จสิ้น มีแนวใหม่ หรือมีคำวินิจฉัยใหม่ ก็จะไม่กระทบต่อคดีที่พิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปก่อน ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองก็จะนำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร” เป็นคำยืนยันจากปากของ ประวิตร บุญเทียม โฆษกศาลปกครองสูงสุด

หลายคนสงสัยว่า แล้วถ้าเช่นนั้นคดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งให้กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องคือ บริษัท โฮปเวลล์ฯ จำนวนเงินต้น 11,888 ล้านบาท บวกดอกเบี้ย 7.5% รวมกันแล้วกว่า 2.47 หมื่นล้านบาท หากรวมค่าปรับจากการจ่ายล่าช้าในปัจจุบันจตกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทจะทำอย่างไรต่อไป....

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลต่อการขอพิจารณาคดีโฮปเวลล์ใหม่หรือไม่?

โฆษกศาลปกครองชี้แจงว่า คดีโฮปเวลล์เคยมีการขอพิจารณาคดีใหม่ไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด เห็นตรงกันว่า ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ แต่การขอพิจารณาคดีใหม่อาจจะขอได้อีก โดยอ้างเหตุใหม่ 

ซึ่งถ้าคู่กรณียกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมาขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลก็จะพิจารณาว่า เป็นเรื่องที่ใช้เหตุผลเดิมหรือไม่ ถ้าไม่ใช่และเป็นข้อเท็จจริงใหม่ ก็จะพิจารณาต่อไปว่า แล้วเข้าเกณฑ์ที่จะรับพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ได้หรือไม่ แล้วใช้ดุลพินิจตามหลักฐานนั้น

“ไม่ใช่ว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแบบนี้แล้วจะกระทบไปยังคดีเดิม เพราะคดีนั้นศาลพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว ถ้าทุกคนนิ่งก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ศาลวินิจฉัยเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วก็เป็นไปตามนั้น แต่หากคู่กรณีใช้ช่องทางขอพิจารณาคดีใหม่ตามมาตรา 75 ก็เป็นช่องทางที่เป็นสิทธิของคู่กรณี เมื่อขอมาศาลก็พิจารณา”

แปลว่า หน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ที่ถูกคำสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่เอกชน สามารถยกคดีนี้ขึ้นมาให้ศาลพิจารณาใหม่ได้...ผมแปลเองเป็นแบบนั้น
 


 

คราวนี้มาดูเรื่องราวการพิจารณาคดีที่พิลึกพิลั่นในคดีนี้ เกิดจากการที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับคำร้องตามหนังสือลงเลขที่ 2536/2563 ของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลงนามโดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ นายนิรุฒิ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 เพื่อขอพิจารณาเสนอแนวความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า มติของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูลแห่งราชอาณาจักรไทย

ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดนำมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครั้งดังกล่าว ที่ไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย คือไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้หรือไม่ รวมทั้งการกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งเพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าว 
 


 

ดังนั้นผมจึงเห็นว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลต่อการที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท.จะยื่นรื้อคดีใหม่ได้

เพราะหลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงานปฏิบัติตามมติอนุญาโตตุลาการที่ให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทโอปเวลล์ กว่า 2.47 หมื่นล้านบาท กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้มอบหมายให้ นายนิติธร ล้ำเหลือ เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจ ยื่นหลักฐานใหม่ต่อศาลปกครองขอรื้อคดีไปแล้วรอบหนึ่ง โดยอ้างว่าพบว่า บริษัท โฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด และเป็นต้นตอที่นำไปสู่การที่ ยื่นคำร้องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

ถึงตอนนี้มหากาพย์คดี “ค่าโง่โฮปเวลล์” ยาวนานมาถึง 23 ปี หากนับตั้งแต่ที่คณะรัฐมนตรีรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรมว.คมนาคม มีมติยกเลิกสัญญาสัมปทานที่ นายมนตรี พงษ์พานิช รมว.คมนาคม ทำเรื่องเสนอครม.ด้วยหนังสือแค่ 3 แผ่น เมื่อวันที่16 พฤศจิกายน 2533

คดีนี้ใช้เวลาต่อสู้ทางคดีกันมาเป็นเวลา 13 ปี หากนับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. 2551 อนุญาโตตุลาการให้ คมนาคม-รฟท.จ่ายค่าเสียหายแก่ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวม11,888 ล้านบาท จากนั้น 13 มี.ค. 2557 ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ ให้คมนาคม-รฟท.ไม่ต้องจ่ายค่าโง่ 11,888 ล้านบาท
 



และวันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลางให้คมนาคม-รฟท.ต้องจ่ายค่าโฮปเวลล์พร้อมดอกเบี้ย รวมกว่า 2.47 หมื่นล้านบาท ภายใน 180 วัน และต่อมาวันที่ 22 พ.ย. 2562 รฟท.ยื่นเรื่องต่อหน่วยงาน และเสนอ ครม.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้งดจ่ายค่าเสียหายและให้สู้คดีต่อ

กระทั่ง 17 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญลงมติว่า มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เรื่องการนับอายุความนับแต่วันตั้งศาลปกครอง ขัดรัฐธรรมนูญ
 



ปมสำคัญคือ ผลของคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นแบบนี้ และขอบเขตอำนาจศาลมาปกป้องการตัดสินคดีแบบนี้ ทางออกในคดีการจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” ก้อนโต 2.47 หมื่นล้านบาท หากรวมค่าปรับจนถึตอนนี้ก็ตก 3 หมื่นล้านบาท จะออกมาในรูปไหน?

ผมสรุปทางออกไว้ในที่นี้หลังจากติดตามคดีนี้มายาวนานนับ 13 ปี ได้ดังนี้

1.การรถไฟฯ-คมนาคม-กับทนายความ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองให้พิพากษาคดีนี้ใหม่แน่นอน โดยยกเอาระเบียบวิธีพิจารณาคดีปกครองขัดรัฐธรรมนูญ และการนับอายุความในคดีผิดตามคำตัดสินของศาลที่ผิดพลาดมาเป็นคำร้องใหม่

2.การรถไฟฯ-คมนาคม-ทนายความ สามารถยื่นต่อศาลขอให้งดการบังคับคดีที่เดินหน้าไปตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ให้จ่ายเงินค่าเสียหายทันที เพราะคำตัดสินดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ

3.การรถไฟฯ-คมนาคม ต้องประกาศต่อสาธารณะว่าจะหยุดการจ่ายค่าเสียหายตามคำสั่งศาล จ่ายค่าก่อสร้าง 11,888 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7.5% รวมทั้งสิ้น 24,798 ล้านบาท รวมค่าปรับตอนนี้ราว 30,000 ล้านบาท ให้บริษัทโฮปเวลล์

4.การรถไฟฯ-คมนาคม ต้องเร่งเดินหน้าผลักดันการพิจารณาในคดีความที่ได้ยื่นฟ้องดีเอสไอในเรื่องความผิดฐานร่วมกันทุจริต ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กับข้าราชการในกระทรวงพาณิชย์ เอกชนคือเจ้าของโฮปเวลล์ ที่ตอนนี้อยู่ในชั้นการพิจารณาของ ปปช.ให้ดำเนินการที่เร็วขึ้น

 5.ต้องเร่งรัดคดีฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ในคดีที่ บริษัท โฮปเวลล์-หจก.ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด ที่จดทะเบียนในเกาะมอริเชียส เป็นนิติบุคคลต่างด้าว

ทั้ง 5 ประเด็นที่ผมยกขึ้นมานั้นแหละ จะเป็นตัวชี้วัดว่า รัฐบาลไทยจะต้องจ่าย “ค่าโง่โฮปเวลล์” หรือไม่ ถ้าไม่ทำตามนี้รับรองว่า คดีนี้ยืดเยื้อยาวนานในการจ่ายเงินแน่นอน