ทำอย่างไรดี หน่วยงานรัฐได้แค่เกรด C คะแนนความโปร่งใส

17 มี.ค. 2564 | 12:55 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มี.ค. 2564 | 19:57 น.
868

ทำอย่างไรดี หน่วยงานรัฐได้แค่เกรด C คะแนนความโปร่งใส : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,662 หน้า 10 วันที่ 18 - 20 มีนาคม 2564

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานป.ป.ช. เสนอ “รายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA (Intergrity and Transparency Assessment) ประจำปีงบประมาณ 2563” ให้ครม.มีมติรับทราบ เพื่อให้รัฐบาลเห็นถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นภายในหน่วยงานต่างๆ

ถ้าย้อนความไปหน่อย ITA ถือเป็นความต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 ที่ครม.เคยเห็นชอบให้ทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือในการประเมิน ITA จากนั้น 18 เม.ย. 2562 สำนักนายกรัฐมนตรี ออกประกาศที่ชื่อว่า “แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 2561-2580 ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” มีการกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัดของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน จะต้องมีคะแนน 85 คะแนนขึ้นไปในปี 2561-2565 

 

ทำอย่างไรดี  หน่วยงานรัฐได้แค่เกรด C คะแนนความโปร่งใส

 

เมื่อทราบต้นทางของการประเมิน ITA แล้ว ผมก็แว่บไปส่องดูรายงานของ ป.ป.ช. ที่เสนอเข้าครม. พบว่า มีหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมประเมินในรอบนี้จำนวน 8,304 หน่วย ที่มีบุคลากรภาครัฐ 447,790 คน โดยมีผู้รับบริการ/ผู้มาติดต่อภาครัฐ 853,875 คนเป็นผู้ประเมิน

ผลคะแนนที่ออกมาถึงกับต้องอุทาน อุต๊ะ! คะแนนเฉลี่ยภาพรวมพบว่า ได้ 67.90 คะแนน เต็ม 100 คะแนน นั่นหมายถึงได้เพียงเกรด หรือระดับ C ตามระดับที่ระบุ 

 

โดยหน่วยงานที่ได้คะแนน AA (95คะแนนขึ้นไป) มี 56 หน่วยงาน คิดเป็น 0.67% ระดับ A (85 คะแนนขึ้นไป) มี 1,039 หน่วยงาน คิดเป็น 12.51% ระดับ B (75  คะแนนขึ้นไป) 1,429 หน่วยงาน คิดเป็น 17.21% ระดับ C (65  คะแนนขึ้นไป) 1,854 หน่วยงาน คิดเป็น 22.33% 

ระดับ D (55 คะแนนขึ้นไป) 2,474 หน่วยงาน คิดเป็น 29,80% ระดับ E (50 คะแนนขึ้นไป) 952 หน่วยงาน คิดเป็น 11.47% และ ระดับ F (ไม่เกิน 50 คะแนน) จำนวน 499 หน่วยงาน คิดเป็น 6.01% 

ดังนั้นคิดเห็นสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ตามเป้าหมายคือมี 85 คะแนนขึ้นไป มีทั้งหมด 1,095 หน่วยงาน คิดเป็น 13.19 คะแนน ส่วนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตามเป้าหมายมีทั้งหมด 7,208 คะแนน คิดเป็น 86.81%

 

ซึ่งคะแนนมาจาก 10 ตัวชี้วัดทีเป็นหนึ่งในโร้ดแมพการพัฒนา ระบบราชการไทยไปสู่การเป็น รัฐบาลดิจิทัล Thailand Digital Government 2021 ซึ่งตัวชี้วัดแค่ละตัวที่มี่คะแนนเต็ม 100 คะแนน ได้แก่ 1. การปฏิบัติหน้าที่ ได้ 90.15 คะแนน 2. การใช้งบประมาณ 82.29 คะแนน 3. การใช้อำนาจ 86.14 คะแนน 4. การใช้ทรัพย์สินของราชการ 81.41 คะแนน 5. การแก้ ไขปัญหาทุจริต 83.22 คะแนน

6. คุณภาพการดำเนินงาน 83.52 คะแนน 7. ประสิทธิภาพการสื่อสาร 82.58 คะแนน 8. การปรับปรุงการทุงาน 80.11 คะแนน 9. การเปิดเผยข้อมูล 53.12 คะแนน และ 10. การป้องกันการทุจริต 36.29 คะแนน ซึ่งถือเป็นคะแนนที่ตํ่าที่สุดใน 10 ตัวชี้วัด