เศรษฐกิจจีนขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

12 ก.พ. 2564 | 16:16 น.

 “จีน”ฟุ้งเศรษฐกิจจีนเป็นหัวรถจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก หลังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากขึ้น

วันนี้(13 ก.พ.64) พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการที่เศรษฐกิจจีนได้รวมเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากยิ่งขึ้น จากการแถลงข่าวของนายวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เมื่อวันที่ ๘ ก.พ.๖๔ ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 ๑.  นายวัง เหวินปิน กล่าวว่า ในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ต้องเผชิญกับผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-๑๙ และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก แต่ในระยะเวลาไม่นานเศรษฐกิจของจีนได้ฟื้นตัวอย่างมั่นคงโดยมีการเติบโตปีละ ๒.๓% ซึ่งเป็นปัจจัยที่ดีสำหรับประชาคมระหว่างประเทศที่จะต่อต้านการแพร่ระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย

๒. ในฐานะที่จีนเป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ที่มีประชากร ๑,๔๐๐ ล้านคน มีทรัพยากรแรงงาน ๙๐๐ ล้านคน และมีตัวหลักในตลาด ๑๒๐ ล้านคน ทำให้จีนเป็นหัวรถจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับบริษัทจากทั่วทุกมุมโลกที่ต้องการลงทุนมาโดยตลอดทั้งในอดีตรวมถึงอนาคต ซึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในปี พ.ศ.๒๕๖๓ ได้เพิ่มขึ้น ๔% ทำให้เป็นประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศมากที่สุดในโลก

 

๓. รายงานการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจประจำปีที่เผยแพร่โดยหอการค้าเยอรมันในจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า บริษัทของเยอรมันในจีนยังคงมองตลาดจีนในแง่ดี โดย ๗๗% เชื่อว่าธุรกิจ ในตลาดจีนจะดีกว่าตลาดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๖๔ และ ๗๒% มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนในตลาดจีนต่อไป ซึ่งการสำรวจก่อนหน้านี้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังแสดงให้เห็นว่า ๘๒% ของบริษัทสหรัฐฯ ระบุว่าจะไม่ย้ายการผลิตออกจากจีนในอีก ๓ ปีข้างหน้า ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นเกือบ ๗๐% ยังคงมีความคาดหวังสูงต่อความแข็งแกร่งของตลาดจีน

 

บทสรุป เศรษฐกิจจีนได้รวมเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้งและจีนซึ่งเข้าสู่ขั้นตอนใหม่ของการพัฒนาจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำในสุนทรพจน์พิเศษในการประชุมเศรษฐกิจโลก "วาระดาวอส" ว่า จีนสนับสนุนโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และดำเนินนโยบายพื้นฐานระดับชาติในการเปิดกว้าง

จีนจะยังคงส่งเสริมการเปิดเสรี การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาดถูกต้องตามกฎหมายและระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากจีนเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่และมีศักยภาพ อันป็นโอกาสสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการฟื้นตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก