เวียดนามบุก! จ่อชิงมาร์เก็ตแชร์ตลาดอาหารฮาลาลโลก

25 ม.ค. 2564 | 12:55 น.
551

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย

- - - - - - - - - - - - - - -

“ตลาดอาหารฮาลาล” เป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจที่มีศักยภาพสูง โดยปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วโลกประมาณ 2,000 ล้านคน จากประชากรรวม 7,800 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29%

 

ในปี 2563 ตลาดอาหารฮาลาล มีมูลค่าสูงถึง 6.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่า จะเติบโตขึ้นอีก 4.8% ต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลจาก การประชุม World Halal Conference 2019 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ยังระบุด้วยว่า ชาวมุสลิมในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก ใช้จ่ายในส่วนของค่าอาหารและเครื่องดื่มสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว 

 

ในปี 2563 ตลาดอาหารฮาลาล มีมูลค่าสูงถึง 6.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ที่สำคัญไปกว่านั้น ในช่วง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา มนุษย์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคและหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ อาหารฮาลาล ได้รับความนิยมมากขึ้นด้วย เนื่องจากตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูก การแปรรูป จนถึงมือผู้บริโภคนั้น เป็นกระบวนการการผลิตที่ถูกสุขอนามัยที่สุดชนิดหนึ่งของโลก อาหารฮาลาลจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคนี้

 

ทวีปเอเชีย โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ถึง 65% หรือราว 300 ล้านคน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของประเทศที่มีประชากรมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือบรูไน ถือเป็นทวีปที่มีประชากรมุสลิมหนาแน่นที่สุด

 

จากข้อมูลข้างต้น หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาให้ความสำคัญกับ ตลาดอาหารฮาลาล มากขึ้น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพทั้งในเรื่องของขนาดและการเติบโต แต่การจะเข้าถึงผู้บริโภคในกลุ่มนี้ได้นั้น ผู้ประกอบการจําเป็นต้องขอรับการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลอย่างถูกต้องเสียก่อน ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริโภคของชาวมุสลิมเป็นอย่างมาก

 

“Halal” หรือ “ฮาลาล” มีที่มาจากศัพท์ภาษาอารบิก แปลว่า การผลิต การให้บริการ หรือการจำหน่ายใด ๆ ที่ไม่ขัดต่อบัญญัติของศาสนา จึงอาจกล่าวได้ว่า “อาหารฮาลาล” คือ อาหารที่ได้ผ่านกรรมวิธีในการประกอบ ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ ตามศาสนบัญญัติ และเป็นการรับประกันว่าชาวมุสลิมโดยทั่วไปสามารถบริโภคหรือรับบริการต่าง ๆ ได้โดยสนิทใจ 

 

“เวียดนาม” ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เห็นโอกาสการบุกตลาดสินค้าอาหารที่มีผู้บริโภค 2,000 ล้านคนนี้ กระทรวงการต่างประเทศไทยและกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม จึงได้ร่วมกันจัดงานสัมมนา The Global Market Potential of Halal Food and Opportunities for Vietnam เป็นครั้งแรกที่กรุงฮานอยเมื่อเร็ว ๆนี้  เพื่อวิเคราะห์โอกาสให้ผู้ประกอบการของเวียดนามสามารถขยายตลาดการส่งออกและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าได้ในอนาคต

 

เวียดนามในฐานะหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก มีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ในการส่งออกไปยังประเทศมุสลิมในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย เนื่องจากอยู่ติดทะเล นอกจากนี้ เวียดนามยังอยู่ระหว่างพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง และจะมีความตกลงการค้าเสรี (FTA)ถึง 16 ฉบับ ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกสินค้าไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ได้ 

 

สินค้าเวียดนามที่มีศักยภาพสูงในการส่งออกไปยังตลาดฮาลาลโลก ได้แก่ อาหารทะเล โดยเฉพาะกุ้งและปลาแพนกาเซียส ผัก ผลไม้ ข้าว และขนม อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น อาจมีข้อจํากัดเฉพาะสินค้าเกษตรที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากมีกระบวนการการแปรรูปที่ซับซ้อนกว่า และผู้ประกอบการเวียดนามยังไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมในธุรกิจนี้เท่าไรนัก

 

“Halal” หรือ “ฮาลาล” มีที่มาจากศัพท์ภาษาอารบิก

เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลเวียดนามไปยังตลาดโลก กรมมาตรฐานและการประเมินคุณภาพ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกรรมการศาสนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของเวียดนามอยู่ระหว่างจัดทําข้อกําหนดทั่วไปเพื่อกําหนดกรอบมาตรฐานแห่งชาติสินค้าฮาลาล สําหรับผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางขอรับใบรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลก่อนการส่งออก และในอนาคตอาจจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลโดยเฉพาะอีกด้วย

 

ปัจจุบัน มีหน่วยงานที่สามารถออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลในเวียดนาม 9 แห่ง แต่มีเพียงสํานักงานรับรองมาตรฐานฮาลาล (Halal Certification Agency: HCA) แห่งเดียวที่ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ ซึ่งมีขั้นตอนการพิจารณา 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย

(1) การยื่นเอกสารขอรับการรับรอง

(2) การเสนอราคาและทําสัญญา

(3) การประเมินระยะที่ 1 โดยพิจารณาจากเอกสาร

(4) การประเมินการดําเนินงาน

และ (5) การพิจารณาออกใบรับรอง 

 

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเวียดนามยังมีส่วนร่วมในตลาดสินค้าฮาลาลค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังขาดความเข้าใจด้านวัฒนธรรมในธุรกิจสินค้าประเภทนี้ ไทยในฐานะผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 12 ของโลก และเป็นผู้นำด้านอาหารและผลผลิตเกษตรมาตรฐานฮาลาล สามารถขยายศักยภาพในธุรกิจการผลิตอาหารฮาลาลไปสู่เวียดนามได้ ทั้งในรูปการลงทุน การให้บริการทางเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคต ไทยสามารถใช้เวียดนามเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคอื่นซึ่งมี FTA กับเวียดนาม เช่น ตะวันออกกลางและยุโรป เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำธุรกิจในสาขานี้ สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนและการขอรับใบรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลในเวียดนามเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์สํานักงานรับรองมาตรฐานฮาลาล www.halal.vn โทรศัพท์ (+84) 2462693741 อีเมล [email protected]

 

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจนำเสนอผู้ประกอบการไทย ได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สเปนบุกหนัก ขอขึ้นแท่นผู้นำตลาดพลังงานไฮโดรเจนโลก

“ด้วงอิฐ” ภัยร้ายแรงของอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก : กรณีศึกษาจากออสเตรเลีย

เวียดนามเนรมิต"เมืองใหม่" ปั้น Silicon Valley แห่งเอเชียในโฮจิมินห์

ส่องเทรนด์ออกกำลังกายจีน โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ในสเปน