นโยบายพลังงาน ต้องตามให้ทันเทคโนโลยี

06 ธ.ค. 2563 | 12:06 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2563 | 19:16 น.
1.5 k

มนูญ ศิริวรรณ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เขียนบทความคอลัมน์ Energy@Than ระบุนโยบายพลังงานของแต่ละประเทศต้องตามให้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป

เคยเขียนถึงนโยบายพลังงานของ โจ ไบเดน ที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 20 มกราคม ปีหน้า มีความชัดเจนในนโยบายว่า จะเดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ โดยเชื่อว่าสหรัฐฯมีโอกาสจะขึ้นเป็นผู้นำของโลกด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างงานให้กับคนอเมริกันเป็นจำนวนมาก

 

ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน ระบุว่ารัฐบาลอังกฤษเตรียมเสนอแผนขั้นตอน 10 ประการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียว” ใช้งบประมาณ 12,000 ล้านปอนด์ หรือกว่า 480,000 ล้านบาท ผลิตพลังงานทดแทนจากกังหันลม รถไฟฟ้า และพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า คาดว่าจะช่วยสร้างงานในอุตสาหกรรมคมนาคม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้มากถึง 250,000 ตำแหน่ง ทั้งยังจะช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายปลอดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายในปี 2590 อีกด้วย

 

ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนนั้น มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยี ที่ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีต้นทุนที่แข่งขันได้หรือถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลแล้ว

 

ขณะนี้เทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์กำลังก้าวลํ้าไปอีกขั้น มีการพัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์เหลว (Liquid solar) ที่สามารถพ่นลงไปบนกระจก พลาสติก หรือฟิลม์ (Liquid Solar Spray Technology) แล้วสามารถผลิตไฟฟ้าได้ (Liquid Electricity) จากการทดลองพบว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการผลิตไฟฟ้าจาก rooftop solar แบบเดิมถึง 50 เท่า

ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ทำให้การติดตั้ง Liquid solar ทำได้ง่ายกว่า ถูกกว่า สะดวกกว่า เพราะติดตั้งที่ไหนก็ได้ ทั้งกระจกหน้าต่างและบนหลังคา อีกทั้งประสิทธิภาพที่สูงกว่าจึงทำให้ระยะเวลาคืนทุนสั้นลงเหลือเพียงไม่ถึงหนึ่งปี เปรียบเทียบกับ rooftop solar แบบเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาคืนทุน 7-15 ปี

 

นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้พลังงานทดแทนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในบ้านเราโดยตรง นั่นคือการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุโรปต่างมีเป้าหมายที่จะเลิกผลิตรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine – ICE) มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ (ZEV) กันทั้งนั้น อย่างเช่นอังกฤษก็ตั้งเป้าหมายว่าจะเลิกจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์เบนซินหรือดีเซลในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือภายในปีพ.ศ. 2573 เร็วขึ้นกว่าแผนเดิม 10 ปี (ยกเว้นรถยนต์ประเภทไฮบริดยังให้ขายได้จนถึงปี 2578)

 

ส่วนในบ้านเรา เรื่องของยานยนต์ไฟฟ้ายังเป็นเรื่องที่อยู่ในระยะตั้งไข่เท่านั้น แม้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามแรงผลักดันจากหลายฝ่าย แต่การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่เกิดขึ้น

 

ล่าสุดในการประชุมเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย” ที่คณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้า ในคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎรจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 โดยมีเป้าหมายต้องการทราบความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเลิกผลิตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) มาเป็นยานยนต์ที่ไร้มลภาวะเป็นพิษ (ZEV) ทั้งหมดภายในปี 2578 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า

 

แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเสวนาก็ยังแสดงความห่วงใยว่าอาจจะทำไม่ได้ เพราะติดขัดเรื่องการผลิตรถยนต์สันดาปภายในเพื่อใช้ในประเทศและการส่งออก เพราะเกรงว่าจำนวนการผลิตจะไม่ได้ Economy of Scale ถ้าหันไปผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก

 

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการบ้านเรายังยึดติดกับวิสัยทัศน์เดิมที่ไม่คิดว่าเทคโนโลยีในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะเทคโนโลยีการกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ในอีก 15 ปีข้างหน้าจะพัฒนาไปจนแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้ามีขนาดเล็กลง ประสิทธิภาพสูงขึ้น และราคาถูกลง

 

ถึงตอนนั้น ผู้ประกอบการคงไม่ต้องมากังวลเรื่อง Economy of Scale ของรถ ICE อีกต่อไป เพราะรถยนต์ไม่ว่าจะเป็นใช้ในประเทศหรือส่งออกจะเป็น ZEV ทั้งหมดโดยรัฐไม่ต้องบังคับอยู่แล้ว !!!

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9  ฉบับ 3633 วันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ. 2563