การเปิดประเทศ ทางรอดของเศรษฐกิจไทย?

04 พ.ย. 2563 | 11:40 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ย. 2563 | 18:43 น.
1.1 k

การเปิดประเทศ ทางรอดของเศรษฐกิจไทย? : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย  ผศ.ดร. เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร. ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,624 หน้า 5 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน 2563

 

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง  โดยมาตรการ lockdown ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานรายได้น้อย และแรงงานเพศหญิงมากที่สุด เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ทำงานในสถานประกอบการในภาคการค้าและภาค บริการ ที่ต้องปิดตัวชั่วคราว เพื่อ ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส  

 

รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่สอง ของปี 2563 ลดลงร้อยละ -12.2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  ถึงแม้ว่าสถานประกอบการบางส่วนจะสามารถเปิดดำเนินการตามปกติแล้วในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่ผ่านมา แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมหลักของระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต และ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ยังคงประสบปัญหา สถานประกอบการหลายแห่งต้องประสบปัญหาทางการเงิน และอาจจำเป็นต้องปิดตัวลงอย่างถาวร

 

จากการที่ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วนั้น ทำให้เริ่มมีการพูดถึงต้นทุนของการปิดพรมแดน เพื่อควบคุมการติดเชื้อในประเทศให้เป็นศูนย์ว่าอาจจะนำไปสู่หายนะของระบบเศรษฐกิจ ไทย  โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทย 

 

และความเปราะบางของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมนี้และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้เริ่มมีการเรียกร้องให้เปิดประเทศ และ “เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 เหมือนกับประเทศอื่นๆ”  โดยมีข้อโต้แย้งว่าเราจะต้องเลือกระหว่างรักษาสุขภาพ หรือรักษาระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถทำทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้

 

ผู้เขียนมีความคิดเห็นต่อข้อเรียกร้องนี้ว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการเปิดประเทศอีกครั้ง การตัดสินใจเปิดพรมแดนอย่างเต็มรูปแบบด้วยความหวังที่จะพยุงเศรษฐกิจ โดยแลกกับความเสี่ยงที่จะทำให้โควิด-19 กลับมาแพร่ระบาดในประเทศอีกครั้ง ไม่น่าจะเป็นวิธีแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ  

 

จากมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ แรงงาน เราเห็นว่า ประชากรก็คือระบบเศรษฐกิจ หรือ “People ARE the economy” ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ หากประชากรวัยทำงานส่วนใหญ่ป่วย หรือได้รับผลกระทบทางสุขภาพในระยะยาวจากการติดเชื้อโควิด-19   

 

การเปิดประเทศ ทางรอดของเศรษฐกิจไทย?

 

 

นอกจากผลกระทบทางตรงต่อสุขภาพของประชากรแล้ว การระบาดที่เกิดขึ้นใหม่อาจนำไปสู่การ lockdown อีกครั้งดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ และย่อมส่งผลเสียหายอย่างมากต่อสถานประกอบการที่อยู่ในสภาวะเปราะบาง

 

นอกจากนี้ การปิดโรงเรียนยังทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ปกครองจำเป็นต้องหยุดงานเพื่ออยู่ดูแลลูก และช่วยสนับสนุนในด้านการเรียนออนไลน์ ซึ่งจากสถานการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ผู้หญิง 865,000 คน “สมัครใจ” ออกจากกำลังแรงงาน เทียบกับผู้ชายที่มีจำนวนเพียง 216,000 คนเท่านั้น (Horsley, 2020) ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ว่า ความเหลื่อมลํ้าทางเพศจะเพิ่มสูงขึ้นในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ เนื่องจากผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลบุตรหลานที่บ้าน 

 

 

 

การที่ประเทศไทยปิดพรม แดนและควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศให้เป็นศูนย์ได้นี้ น่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เมื่อเปรียบเทียบกับอีกหลายประเทศที่ยังประสบปัญหาในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19  และถึงแม้ว่าผลประกอบการของภาคธุรกิจอาจยังไม่ได้กลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติิ แต่การที่ธุรกิจส่วนมากยังสามารถเปิดดำเนินการได้ และประชาชนก็กลับมามีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันอีกครั้ง มีความสำคัญอย่าง ยิ่งต่อกลุ่มแรงงานรายได้น้อยในภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ lockdown ในช่วงก่อนหน้า  

 

นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ ยังมั่นใจได้ว่าการดำเนินงานของตนจะไม่ถูกกระทบจากการเจ็บป่วยของพนักงาน การถูกสั่งปิดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคในสถานประกอบการ หรือจากมาตรการ lockdown ครั้งที่สอง ซึ่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศ ที่กำลังประสบปัญหาการดำเนินงาน เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่ผ่านมา ได้มีการถกเถียงเกี่ยวกับต้นทุนหรือผลเสียของการปิดประเทศกันอย่างกว้างขวาง แต่เราจะเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงประโยชน์หรือผลดีควบคู่กันด้วย

 

จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่น่าจะทำให้อุปสงค์ของท่องเที่ยวระหว่างประเทศลดลงไปอีกสักระยะหนึ่ง ประกอบกับความเสี่ยงของการเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง ผู้เขียนมองว่าประเทศ ไทยยังไม่ควรเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ  

 

 

 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนไม่ได้เสนอว่าควรปิดประเทศต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เรามองว่าทางสายกลาง ดังเช่น ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่น่าจะเป็นทางออกดีที่สุด ประเทศไทยได้เริ่มออกวีซ่านักท่องเที่ยวพิเศษ (STV) สำหรับนักท่องเที่ยวระยะยาวที่เต็มใจเข้าสู่กระบวนการกักตัวและมีคุณสมบัติตามเงื่อนไขทางการเงินอื่นๆ โครง การนี้เป็นตัวอย่างของการเริ่มต้นเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปและปลอดภัยตัวอย่างหนึ่ง  

 

โดยประเทศไทยควรจะติดตามมาตรการในต่างประเทศ และหาแนวทางใหม่ๆ ในการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางเพื่อทำธุรกิจในระยะต่อไป นอกจากนี้ รัฐบาลควรหาวิธีช่วยเหลือชาวต่างชาติ ที่ถือวีซ่าไทยสามารถเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น รวมถึงอนุญาต ให้ชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยในปัจจุบันสามารถต่อสถานะวีซ่าได้ โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศ 

 

และสุดท้าย รัฐบาลไทยอาจพิจารณาอนุญาตให้ชาวต่างชาติที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือนักศึกษา สามารถเข้ามาในประเทศได้ ผู้เขียนเชื่อว่า หากเปิดใจรับแนวทางใหม่ๆ และมีการดำเนินการอย่างยืดหยุ่น ประเทศ ไทยจะสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการแพร่ระบาดระลอกที่สอง 

 

อ้างอิง:

Horsley, S. (2020, October 2). Jobs Growth Slows Sharply In Last Employment Report Before Election. https://www.npr.org/sections/coronavirus-live-updates/2020/10/ 02/919152104/jobs-growth-continues-to-slow-in-last-employment-report-before-election.