ตาสว่าง “ขรก.-พนักงานรัฐ” ตัวการหากิน“หวยแพง”

13 ต.ค. 2563 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2563 | 17:04 น.
14.6 k

ตาสว่าง “ขรก.-พนักงานรัฐ” ตัวการหากิน“หวยแพง” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3618 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 ต.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

ที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 มีเรื่องใหญ่ที่ผู้คนกว่า 20-23 ล้านคนได้รับผลบวกและผลลบ นั่นคือมีมติยกเลิกระบบการพิมพ์สลากฯ จำนวน 100 ล้านฉบับ แบบ 2 ระบบในปัจจุบันและนำมาใช้ระบบใหม่ในวันที่ 16 ธันวาคม 2563

 

มติดังกล่าวจะมีการเลิกการพิมพ์แบบเลขเลียงจำนวน 33 ล้านฉบับ เพื่อนำไปจัดสรรให้กับตัวแทนผู้ค้าสลากในระบบโควตาซึ่งมีอยู่ราว 35,100 ราย

 

และจะมีการยกเลิกระบบการพิมพ์สลากแบบคละเลข ที่เป็นการพิมพ์ออกมาขายให้กับตัวแทนจำหน่ายผู้ค้าสลากฯ ในระบบสั่งซื้อสั่งจองผ่านธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ราว 57-67 ล้านฉบับ แบ่งเป็นสลากซื้อ 5 ล้านฉบับ และสลากจอง 62 ล้านฉบับ กระจายไปให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยที่มาลงทะเบียนทั้งหมด 159,661 ราย

 

เลิกระบบเดิมแล้วจะหันไปใช้ระบบไหน ผศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลชี้แจงว่า จะเริ่มใช้ระบบการพิมพ์สลากฯ ทั้ง 100 ล้านใบ เป็นระบบเดียวกันทั้งหมดทั่วประเทศ ในงวดวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้สูตรการพิมพ์สลากฯ แบบ 2-2-1 หรือการพิมพ์สลากฯ ชุด 2 ใบ ที่มีเลขเหมือนกัน รวมเป็น 4 ชุด และสลากฯ คละเลขเดี่ยว 1 ชุด รวม 5 เล่มต่อคนออกมาจำหน่าย

 

เป้าหมายใหญ่คือ ป้องกันการนำสลากมารวมชุดขายเกินราคาเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

อาจารย์ธนวรรธน์ บอกว่า แม้จะมีการพิมพ์สลากเพิ่มมาเป็น 100 ล้านฉบับ แต่ก็ยังแก้ปัญหาราคาสลากแพงเกินกว่ากำหนดไม่ได้ เพราะมีมือดีมารับซื้อเพื่อนำไปรวมชุด 5 ใบ 10 ใบ จนถึง 30 ใบ ขายกัน การปรับระบบขายเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศ จะทำให้โอกาสในการรวมชุดมากกว่า 2 ใบทำได้น้อยมาก ดังนั้น หวยรวมชุด 5 ใบ 10 ใบ และ 30 ใบ จะสูญพันธุ์ไปจากระบบ ตั้งแต่งวดวันที่ 16 ธ.ค.นี้ แน่นอน ทำให้ช่วยดึงราคาสลากฯ ที่ขายเกิน 80 บาทต่อใบลงมาได้

 

ธนวรรธน์ ยืนยันว่า การแก้ไขปัญหาสลากฯ เกินราคาจะต้องทำแบบเบ็ดเสร็จ ในกรอบสลากฯ แบบใบ 6 หลักเหมือนเดิม ไม่มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมทั้งจะไม่มีการพิมพ์สลากเพิ่ม จากปัจจุบันพิมพ์ขายกันอยู่ 100 ล้านฉบับ

 

ขณะนี้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ทำหนังสือไปยังจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้มาตรการป้องปรามในพื้นที่และติดตามการขายสลากฯ เกินราคา การขายช่วง เพื่อนำไปสู่การรวมชุด และให้สำนักงานสลากฯ เร่งดำเนินการ กำหนดหลักเกณฑ์การลงทะเบียนผู้ค้าสลากรอบใหม่ จากที่คู่สัญญาจะครบกำหนดในงวดวันที่ 16 ธ.ค.นี้

 

ข้อมูลของสำนักงานสลากฯ พบว่าในระยะที่ผ่านมา ผู้นำมาขึ้นรางวัลใหญ่ ส่วนใหญ่มากจากสลากฯที่มีการรวมชุดจากผู้ค้าในระบบโควตา ดังนั้นการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยกดดันให้ผู้ค้าสลากฯ แบบขายช่วงออกนอกระบบ ให้เหลือผู้ค้าตัวจริง

 

หลังจากนี้ไปจะมีการเปิดลงทะเบียนใหม่ภายในปีนี้ โดยยังไม่ตัดสิทธิ์ผู้ค้าสลากฯ ที่เป็นข้าราชการ และข้าราชการบำนาญ เนื่องจากกฎหมายสลากฯ ไม่มีข้อห้ามคุณสมบัติของกลุ่มนี้

 

มตินี้ดูดีไม่น้อย แม้แต่ นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ยังสนับสนุนให้สำนักงานสลากฯ จัดพิมพ์สลากฯ แบบคละตัวเลข ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการรวมชุดสลากฯ ได้ แม้มาตรการนี้อาจกระทบผู้พิการบางส่วน ที่ขายช่วงสลากฯ

 

แต่นายสุชาติ เห็นว่า ปัญหาใหญ่ตอนนี้ที่ต้องจัดการคือ ข้าราชการ ข้าราชการบำนาญ ทหาร และตำรวจ ที่ได้รับโควตาสลากฯ เพราะถือว่าเป็นผู้ค้าส่วนใหญ่ที่มักขายช่วง จนเกิดวัฏจักรการรวมชุดสลากฯออกมาขายในราคาที่แพงแสนแพง

 

ข้อมูลของประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ชี้โพรงลงไปให้กรรมการ (บอร์ด) สำนักงานสลาก ได้ตาสว่างได้ไม่น้อย

เพราะปัจจุบันสำนักงานสลากฯ จัดสรรสลากฯ ในระบบโควตาให้แก่มูลนิธิ สมาคม และองค์กรการกุศล เช่น มูลนิธิสำนักงานสลากกินแบ่ง สมาคมสังคมสงเคราะห์ฯ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก สมาคมผู้พิการ และบุคคลรายย่อยทั่วไป

 

ผมไปตรวจสอบข้อมูลก็พบความจริงที่อ้าปากค้าง

 

เพราะสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีการให้สิทธิการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล แก่ข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจจริง และเมื่อสอบถามจากขาใหญ่ที่รับซื้อในตลาดพบว่ากลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ได้สิทธิดังกล่าว ไม่ได้เป็นผู้ค้าสลากตัวจริง แต่กลับนำไปขายต่อให้กับผู้ค้าสลากรายย่อย ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ขอกำไรส่วนต่างไปกิน จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลมีราคาขายเกินจริงในท้องตลาด

 

จากการตรวจสอบของผมพบว่า โควตารายชื่อผู้ค้าสลากรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนซื้อจองกับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 160,000-164,000 รายนั้น มีข้าราชการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมอยู่ด้วยอย่างน้อย 50,000-70,000 คน กลุ่มนี้มักขายช่วงต่อให้กับผู้ค้าสลากซึ่งเป็นยี่ปั๊ว ก่อนที่จะขายให้กับผู้ค้ารายย่อยที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าตัวจริง จึงทำให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นจากราคาจริงที่กำหนดไว้ที่ราคา 80 บาท เมื่อบวกกับการคัดเลขมาให้เป็นเลขชุดเดียวกันจึงทำให้ราคาขายปลีกใบละ 100-150 บาท

 

คำถามที่กรรมการ(บอร์ด)สลากต้องทำให้ผู้คนตาสว่าง คือ กลุ่มข้าราชการ ครู พนักงานรัฐวิสาหกิจ ทหาร ตำรวจ ควรที่จะมีโควตาในรายชื่อผู้ค้าสลากรายย่อยหรือไม่?

 

ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับเงินเดือนประจำจากรัฐ ไม่เดือดร้อนในการทำอาชีพ และการจัดสรรโควตารายย่อยก็ควรเป็นโควตาให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีอาชีพมีรายได้มิใช่หรือ การทำเช่นนี้เป็นการเอาเปรียบ และตัดโอกาสการเข้าถึงโควตาของผู้ค้าสลากรายย่อย ที่ทำอาชีพดังกล่าวเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

 

ประการต่อมา คณะกรรมการสำนักงานสลากรู้หรือไม่ว่า ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจกลุ่มนี้แหละที่นำโควตาไปขายยี่ปั้ว ซาปั้ว รายย่อยที่ต้องการขายหวย จึงเป็นการเปิดทางให้มีการรวมชุดในราคาที่พุ่งสูงถึงใบละ 90 บาท ทำให้ผู้ค้าต้องขายปลีกในราคาใบละ 100 -150 บาท คนเหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นตัวเร่งและเป็นตัวการกระทำผิดกฎหมาย

 

ปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ ที่มีการปล่อยให้คนมาทำมาหากินกับความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องซื้อสลากแพง

 

สำนักงานสลากฯ จัดสรรสลากบางส่วนไม่ถึงมือผู้ค้าสลากจริง เพราะในปัจจุบันมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันกระจายตัวไปทั่ว คือมีกลุ่มผู้ค้าสลากกลุ่มหนึ่งที่มาลงทะเบียนไว้กับสำนักงานสลากฯ เพื่อใช้สิทธิเข้ามาซื้อ-จองสลากผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย ใช้เงินลงทุนงวดละ 35,200 บาท เมื่อซื้อ-จองสลากได้แล้วไม่ได้นำไปขายเอง แต่เอาไปขายต่อให้ยี่ปั๊ว หรือผู้ค้าสลากที่ซื้อ-จองไม่ได้

 

กลุ่มนี้ทำอะไรครับ เขาประกาศขายแบบยกกล่อง กล่องละ 45,000 บาท ได้กำไรทันทีงวดละ 9,800 บาท เดือนละ 19,600 บาท ไม่ต้องไปเดินขาย แล้วเขาซื้อกันที่ไหน

 

ตลาดรับซื้อ-ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีอยู่ 3-4 แห่ง  1.สี่แยกคอกวัว 2.ศูนย์การค้าสลากไทย สนามบินน้ำ นนทบุรี ตรงข้ามสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั่นแหละ 3.ตลาดค้าส่งสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ อ.วังสะพุง จ.เลย 4.หน้าไปรษณีย์

 

ทั้ง 3-4 แห่งเป็นแหล่งรับซื้อสลากขนาดใหญ่ ยี่ปั๊ว ซาปั้ว ขาใหญ่ เอเย่นต์ เปิดบริการรับซื้อสลากจากผู้ที่ได้รับการจัดสรรสลากตามโควตาระบบเดิม และผู้ที่ซื้อ-จองสลากผ่านระบบธนาคารกรุงไทย ไปรับซื้อกันเพื่อนำมาขายและนำมารวมเล่มขายแบบเลขชุด

 

กลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อยทั่วไป ที่ซื้อ-จองสลากล่วงหน้าได้รับจัดสรรไปงวดละ 67 ล้านฉบับนั้น เป็นกลุ่มที่จองผ่านตู้เอทีเอ็มของ ธนาคารกรุงไทยในแต่ละงวดมีผู้ได้รับสลาก 10,000 ราย คนละ 5 เล่ม (1 เล่มมี 100 ฉบับ) รวม 5 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 5% เท่านั้น

 

กลุ่มสลากจองล่วงหน้านี่สิเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดได้รับจัดสรรสลากมากที่สุดกว่า 124,000 ราย ให้กันคนละ 5 เล่ม รวม 62 ล้านฉบับ คิดเป็นสัดส่วน 62% ของสลากทั้งหมด

 

เอางี้.....ถ้าคนเหล่านี้รับโควตาการจองซื้อไปแค่คนละ 5 ฉบับ (ฉบับละ 100 เล่ม) เท่ากับคนละ 500 เล่ม ถ้าข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่ลงทะเบียนได้รับโควตาจัดสรรสลากไปตามตัวเลขที่ผมมีราว 50,000-70,000 คน ได้ไปคนละ 5 ฉบับ นั่นหมายถึงว่า จะมีสลากที่มีการขายให้ยี่ปั้ว ซาปั๊ว เพื่อนำไปขายเกินกว่าราคาหน้าตั๋วใบละ 80 บาท จะตกงวดละ 25-35 ล้านเล่ม ถ้าขายกันเล่มละ 100 บาท จะตก 2,500 ล้านบาทต่องวดเดือนละ 5,000 ล้านบาทเชียวแหละ

กลุ่มนี้แหละที่ทำให้หวยเกินราคา....ตาสว่างกันรึยัง

 

ถ้ารัฐบาลขายสินค้าให้กับเอเย่นต์ ตัวแทนจำหน่ายไปขายของให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศในราคาที่ให้ส่วนลดกว่า 10% หรือให้ใบละ 9.60 บาท ซึ่งพออยู่ได้

 

แต่ตัวแทนจำหน่ายไม่ปฏิบัติตามสัญญา ไม่ได้ขายเอง ดันเอาสินค้าของรัฐบาลไปขายต่อเป็นตัวการให้ราคาสินค้าของรัฐบาลแพงกว่าราคาที่กำหนดและเป็นการทำผิดกฎหมายรัฐบาลจะทำอย่างไร

 

1.ไม่ทำอะไร เพราะเป็นสิทธิ์ทุกคนในการไปขึ้นทะเบียนการจอง 2. ยกเลิกสิทธิ์นี้และปรับเงื่อนไขใหม่ 3.ไม่ทำอะไร เพราะพรรคพวกผม

 

ตอบข้อไหนครับ!