หยุดม็อบซ้ายจัด อย่าซ้ำรอย 6 ตุลาฯ

08 ต.ค. 2563 | 12:31 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2563 | 19:40 น.
1.8 k

หยุดม็อบซ้ายจัด อย่าซ้ำรอย 6 ตุลาฯ : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3616 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.63 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

          6 ตุลาคม 2563 ถือเป็นวันครบรอบ 44 ปี ของเหตุการณ์โศกนาฏกรรม สังหารหมู่นักศึกษาเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 ในการชุมนุมทางการเมืองที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ได้สร้างบาดแผลร้าวลึกในจิตใจของผู้รักประชาธิปไตย และกลายเป็นการจุดไฟสงครามประชาชนครั้งสำคัญที่สุด ในแผ่นดินไทย การใช้กำลังตำรวจ ทหาร และกองกำลังอันธพาลกระทิงแดง ผสมกับมวลชนจัดตั้ง ของรัฐบาลเพื่อเข้าปราบปรามนักศึกษา ประชาชน อย่างอำมหิต โหดร้ายป่าเถื่อนที่สุดครั้งนั้น ทำให้นักศึกษา ประชาชน จำนวนหลายหมื่นคนต้องหลบหนีเข้าป่า จับปืน เข้าร่วมการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพื่อต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหาร จนเป็นเหตุนำพาให้บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะสงครามฆ่าฟันกันเองระหว่างคนไทยนับสิบๆปี กว่าสงครามจะสงบลง 

          ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่บริเวณสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นการ์ดร่วมกับเพื่อนๆ ในการดูแลความปลอดภัย แก่เพื่อนนักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุม และเป็นผู้หนึ่งที่ต้องหนีตาย หลบหนีการปราบปราม เข่นฆ่าอย่างโหดร้าย ป่าเถื่อน ของฝ่ายอำนาจรัฐ จนต้องเข้าป่าร่วมต่อสู้กับเพื่อนนักศึกษา จำนวนนับหมื่นคนในยุคนั้น  

          จากเหตุการณ์ในอดีตจวบจนถึงปัจจุบันร่วม 44 ปี เมื่อย้อนมองอดีต ศึกษาและสรุปบทเรียน ด้วยความเคารพต่อสัจจะและยอมรับความเป็นจริง ด้วยการวางจิตใจตนให้เป็นธรรมและซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน ขอให้มุมคิดมุมมอง บอกกล่าวกับพี่น้องร่วมแผ่นดินว่า ถ้าย้อนเวลาได้แก้ความผิดพลาดในอดีตได้ ทุกฝ่ายควรหลีกเลี่ยง อย่าให้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เกิดซ้ำรอยอดีตอีกเลย เพราะมันคือความเลวร้ายที่สุดของแผ่นดิน ไม่ควรอย่างยิ่งที่ไทยต้องมาฆ่าไทยด้วยกันเองอีกต่อไป 

          ในวาระครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาฯ ที่มีคนพยายามรำลึกถึงนั้น ควรเป็นช่วงเวลาที่เราต้องศึกษาและสรุปบทเรียน หาทางป้องกันมิให้เหตุการณ์เลวร้ายที่สุด ที่มนุษย์พึงกระทำต่อกันในอดีต ไม่ให้เกิดขึ้นอีกจะดีที่สุด เราท่านทั้งหลายที่เคยผ่านเหตุการณ์เลวร้ายนั้น ไม่ควรอาศัยเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ มาปลุกเร้าความเคียดแค้นอาฆาต และฉกฉวยเอาเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างความขัดแย้งแตกแยกแก่ผู้คนในสังคมขึ้นมาอีก  

          โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่ไม่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ กระทั่งยังไม่มีตัวตนเป็นคนบนโลกนี้เลย ขณะเกิดเหตุการณ์ และคนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่หลงเหลืออยู่ ที่เป็นคนส่วนน้อยบางคน ก็มิควรแสดงตนเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ ให้ข้อมูลที่บิดเบือนไม่ครบถ้วนแก่สังคม เพื่อการปลุกเร้าความจงเกลียดจงชังกับคนไทยด้วยกัน เพียงหวังผลทางการเมือง 

          ที่สำคัญที่สุดบรรดาม็อบเด็กๆ ที่ไร้ประวัติศาสตร์ ไม่มีเกียรติประวัติในการต่อสู้อันควรแก่การยกย่อง ไม่ควรอย่างยิ่ง และอย่าได้ริบังอาจอ้างเอาประวัติการต่อสู้ของประชาชนและวีรชนที่แท้จริง มาตีกินแอบอ้างอาศัยเป็นเครื่องมือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตน ไม่ว่าในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 6 ตุลาคม 2519  
เพราะม็อบและการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วม หรือพวกปลดแอกในปัจจุบันนั้น มันถ่อยเถื่อนไร้ราคา สะเปะสะปะไร้เป้าหมายที่ชัดเจน แกนนำไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีคุณค่าใดๆ ในทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลย และไม่มีจุดใดเชื่อมโยงใดๆ กับการต่อสู้ของนักศึกษาในอดีต ห่างไกลอย่างยิ่งกับขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลา ซึ่งมีเกียรติประวัติการต่อสู้อันยิ่งใหญ่งดงามยิ่ง และมีจิตวิญญาณเพื่อความเป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริง คนในอดีตไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับม็อบปัจจุบัน 

          หากจะกล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 เพื่อเก็บรับบทเรียนในอดีต หลีกเลี่ยงความรุนแรงและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน จำต้องยอมรับความจริงประการหนึ่งว่า สาเหตุที่ขบวนการการต่อสู้เพื่อประธิปไตยอันเข้มแข็งยิ่งใหญ่และงดงามของนักศึกษา ต้องถูกกำลังฝ่ายอำนารัฐปราบปราม จนพ่ายแพ้แตกหนีเข้าป่าในครั้งนั้น เหตุปัจจัยหลักประการหนึ่งเกิดขึ้นเพราะขบวนการฝ่ายซ้ายปฏิวัติ ที่นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาครอบงำแทรกแซง แทรกซึมอยู่ในขบวนการนักศึกษา และขยายตัวไปสู่การจัดตั้งขบวนการกรรมกร ผู้ใช้แรงงาน และชาวไร่ชาวนา เพื่อเป้าหมายของการปฏิวัติปลดแอกประชาชน ตามแนวทางลัทธิมาร์ก-เลนิน และเหม๋า เจ๋อ ตง   

           การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ทำให้ขบวนการนักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ กลายเป็นสีแดงมิอาจปกปิดได้ จึงเกิดขบวนการต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงขณะนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองจึงพัฒนาไปสู่ความรุนแรง ซึ่งอาจจะเป็นไปโดยความต้องการของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ เพราะหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ไทย  และกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ยิ่งใหญ่เข้มแข็งที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งมา จนก่อสงครามสู้รบกับอำนาจรัฐไทยในขอบเขตทั่วประเทศ 

          นี่คือความจริงด้านหนึ่งที่สำคัญ ที่พวกนักวิชาการ หรือคนที่ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ไม่มีใครยอมพูดถึง แต่อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายอำนาจรัฐก็ต้องยอมรับความจริงด้วยว่า รัฐบาลขณะนั้นผิดพลาดและมีความชั่วร้าย ผิดพลาดอย่างยิ่ง ที่ใช้กำลังปราบปรามนักศึกษาอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน ใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยมิได้จำแนกแยกแยะ โดยมิได้ดำเนินการด้วยความเป็นธรรมตามกฎหมาย และมีมนุษยธรรม มองประชาชนเป็นศัตรู

          ส่วนม็อบแนวร่วมธรรมศาสตร์ กับม็อบเยาวชนปลดแอก ที่เกิดขึ้นและดำเนินการเคลื่อนไหวในขณะนี้ อาจซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ได้ หากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยความบริสุทธิ์และสุจริตใจของนักศึกษา ประชาชนส่วนหนึ่งเมื่อเริ่มแรก ปล่อยให้พวกซ้ายจัด ขบวนการล้มเจ้า ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ เข้าครอบงำ แทรกแซง แทรกซึม ชิงการนำในการเคลื่อนไหวของมวลชน เพราะแกนนำพวกซ้ายจัดตกขอบพวกนี้แหละ กำลังจะพาประชาชนไปเผชิญหน้ากับประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมรับการกระทำของพวกเขา  

​​​​​​​          การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ห้าม 3 แกนนำพวกต้านสถาบันขึ้นเวที ในงานรำลึก 44 ปี 6 ตุลาฯ จึงถูกต้องสมควรแล้ว และขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มอื่นๆ ก็ควรแยกตัวออกห่างจากขบวนการซ้ายจัด ล้มเจ้าเหล่านี้โดยสิ้นเชิง แยกการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยโยสุจริต ออกจากม็อบล้มเจ้าซ้ายจัดเหล่านั้นเสีย ควรหยุดม็อบสามานย์ หยุดเหตุซ้ำรอย 6 ตุลาฯ เพราะประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องแลกด้วยเลือดเสมอไป ประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงได้โดยสันติวิธี ภายใต้รัฐธรรมนูญ