การเกษตรจีน-อาเซียน ส่งผลดีต่อสินค้าผลไม้ไทย

21 ก.ค. 2563 | 21:03 น.
1.3 k

ความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างจีน-อาเซียน ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อไทย โดยเฉพาะการส่ง “ทุเรียน-มะม่วง-ลำไย” ไปขายที่จีน

พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ และผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างจีน – อาเซียน กับผลประโยชน์ของไทย ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

 

1.การเกษตรเป็นพื้นที่สำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างทั้งสองฝ่าย ที่กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดีภายใต้กรอบของโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างจีน-อาเซียน ในช่วงของการต่อสู้กับโรคระบาด

 

ทั้งนี้ กรมศุลกากรของจีนได้แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ การนำเข้าและส่งออกของจีนไปยังอาเซียนยังคงเติบโต โดยมีมูลค่ารวม 2.09 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 5.6 % ซึ่งการค้าสินค้าเกษตรคิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่

 

2. ในขณะที่ปริมาณการค้าสินค้าเกษตรยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรก็กำลังเพิ่มขึ้น ทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบของความร่วมมือ ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังคงเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีและพหุภาคีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในการค้าสินค้าเกษตร การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเกษตรและนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียนในการลงทุนด้านการเกษตรการค้าและเทคโนโลยีได้บรรลุผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ยิ่ง ดังกรณีผลประโยชน์ของไทย กล่าวคือ

    

2.1 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรของไทย ได้แถลงเมื่อเร็วๆ นี้ว่า แรงหนุนจากความต้องการของตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศจีน ได้มีความต้องการผลผลิตทุเรียนจากประเทศไทย โดยคาดว่าจะสูงถึง 588,000 ตันในปีนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบเป็นรายปี และโรคระบาดก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทย ดังสถิติที่แสดงให้เห็นว่า ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกทุเรียนของไทยไปยังประเทศจีนสูงถึง 567 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 78% เมื่อเทียบเป็นรายปี

 

2.2 จากสถิติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของประเทศไทย พบว่า จีนเป็นคู่ค้าผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของไทยติดต่อกันมา 3 ปี โดยไทยส่งออกผลไม้จำนวน 1.2251 ล้านตันไปยังจีนในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะทุเรียน มะม่วงและลำไย ซึ่งผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้ากระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า จากความต้องการที่แข็งแกร่งในตลาดจีนคาดว่ายอดส่งออกผลไม้ของไทยในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน และเมื่อปีที่แล้วพบว่า 57.1% ของการส่งออกผลไม้สดแช่แข็งและแห้งของไทย ได้ถูกส่งขายไปยังตลาดจีน 

 

2.3 การพัฒนาด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน ได้ให้โอกาสใหม่สำหรับประเทศไทยในการขยายการส่งออก ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพิ่งเปิดตัวผลไม้ไทยแก่ผู้บริโภคชาวจีนในการถ่ายทอดสดของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจีน โดยนายจุรินทร์ฯ ได้กล่าวว่า ความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของไทย-จีน มีศักยภาพที่ดีและได้ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของไทยมากขึ้น

 

3. ข้อสังเกต

 

3.1 ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรได้กลายเป็นพื้นที่สำคัญของความร่วมมือจีน-อาเซียน โดยจีนได้แบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรกับประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างแข็งขัน และได้เปิดตัวโครงการสาธิตเช่น การปลูกข้าวโพดการเพาะปลูกพืชสวนการแปรรูปอาหารสัตว์ ฯลฯ โดยเฉพาะการสร้างความนิยมในสายพันธุ์ที่ยอดเยี่ยม รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคนิคการจัดการในการเพาะปลูก ขณะเดียวกันก็ได้เปิดตัวโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน-อาเซียน โดยมีการจัดหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี และการจัดการทางการเกษตร ซึ่งได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตรระหว่างทั้งสองฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

3.2 ในปัจจุบันความร่วมมือด้านการเกษตรของจีน-อาเซียน ยังคงขยายตัวต่อไป รวมถึงการแปรรูปคลังสินค้าโลจิสติกส์การค้าและการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ข้าวและพืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ฯลฯ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ก็กำลังแสดงแนวโน้มการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ประเทศจีนมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ลงทุนในด้านการเกษตรในประเทศกลุ่มอาเซียน โดยมีข้อมูลแสดงให้เห็นว่าในปี 2018 (พ.ศ.2561) กระแสการลงทุนทางการเกษตรของจีนไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนคิดเป็น 27.5% ของกระแสรวมทั่วโลก

 

 

บทสรุป ประเทศไทยและจีนยังมีช่องทางสำหรับความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรอีกมาก ภายใต้พิธีสารเพื่อยกระดับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับจีน (ACFTA Upgrading Protocol) ในขณะที่จีนมีเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง เงินทุนที่แข็งแกร่งและประสบการณ์อันยาวนานในอุตสาหกรรมการเกษตร

 

ดังนั้น ความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีน-อาเซียน จะสามารถเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและยกระดับการเกษตรในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะความร่วมมือตามข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ที่จะทำให้ความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างจีน-อาเซียนมีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ อาเซียนและจีนยังสามารถส่งเสริมการเจรจาความก้าวหน้าของข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) อันเอื้อต่อการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต่อไป