บ้านรังนก ชุมชน และการอยู่ร่วมกัน

22 ก.ค. 2563 | 11:10 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2563 | 18:11 น.
1.2 k

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ "บ้านรังนก ชุมชน และการอยู่ร่วมกัน" โดย...ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,594 หน้า 5 วันที่ 23 - 25 กรกฎาคม 2563

โดย ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

รังนกที่เรานำมาบริโภคทุกวันนี้เป็นผลผลิตที่เกิดจากต่อมนํ้าลายของนกแอ่นกินรัง (Edible-nest swiftlet) เป็นสินค้าที่มีราคาสูงและมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกายตามความเชื่อของผู้บริโภคชาวจีน

 

ในปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกรังนกได้เป็นอันดับสามของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย 

 

ในอดีตรังนกที่เก็บได้ทั้งหมดของประเทศไทยจะมาจากถํ้าที่อยู่ตามเกาะในทะเลทางภาคใต้ ที่เกิดจากการให้สัมปทานของรัฐแก่เอกชนผู้ที่ชนะการประมูล แต่ปัจจุบัน ด้วยอุปสงค์ของ รังนกที่เพิ่มขึ้น เป็นที่ต้องการของชาว จีนมากขึ้น จึงก่อให้เกิดธุรกิจบ้านรังนกหรือคอนโดรังนก ซึ่งเป็นเคหสถานที่นกแอ่นมาทำรัง 

 

ปัจจุบันบ้านรังนกมีจำนวนมาก กว่า 10,000 หลังทั่วประเทศ ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก โดยรวมตลาดรังนกบ้านมีมูลค่าในประเทศประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผ่านระบบตลาดลานประมูล ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก

 

รังนกบ้านมีจุดกำเนิดมาจากความบังเอิญในระยะแรก คือ มีนกแอ่นมาสร้างรังนกที่บ้านคน ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏครั้งแรกอยู่ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และต่อมา ยังพบได้ที่วัดสุทธิวาตวราราม (วัดช่องลม) ท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร จากหลักฐานตรงนี้แสดงว่านอกเหนือจากเกาะแก่งในท้องทะเลแล้ว นกแอ่นมีการเลือกพื้นที่เข้ามาสร้างรังในแผ่นดินอีกด้วย ต่อมาจึงเริ่มมีการสร้างอาคารพาณิชย์เพื่อ รองรับการมาอยู่ของนกแอ่น หรือที่เรียกกันว่าคอนโดรังนกในปัจจุบัน

 

ผลจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้เกิดตึกร้างขึ้นจำนวนมาก จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การเปลี่ยนรูปแบบมาใช้ในการทำบ้านรังนก ประกอบกับมีเทคโนโลยีที่สามารถเรียกนกแอ่นเข้ามาทำรังในอาคาร และการสร้างองค์ความรู้ในการประกอบการธุรกิจบ้านรังนกมาเรื่อย กลายเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟู สร้างรายได้สูง 

 

แต่การขยายธุรกิจบ้านรังนกในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งในชุมชนเมืองและนอกชุมชนนั้น ก่อให้เกิดปัญหาที่ตามมา นั่นก็คือ ผลกระทบทางเสียงที่มาจากทั้งนกแอ่นและเครื่องเสียงเรียกนก ผลกระทบจากมูลสัตว์ที่เกิดจากนกจำนวนมากที่บินอยู่ในเมือง รวมไปถึงกลิ่นและผลกระทบที่เกิดจากความกลัวต่อโรคที่มากับสัตว์ 

 

ดังที่เราจะได้เห็นจากข่าวว่าเกิดกรณีข้อพิพาทระหว่างกลุ่มนายทุน ผู้เป็นเจ้าของบ้านรังนกและกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ดังเช่นในเทศบาลตำบลมาบอำมฤต อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ในปี 2562 ที่ชาวบ้านรวมตัวกันเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

 

บ้านรังนก ชุมชน  และการอยู่ร่วมกัน

 

ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาดังกล่าวเรียกว่า เป็นปัญหาผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Negative Externalities) เป็นความล้มเหลวของตลาดประเภทหนึ่งที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มหนึ่งสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนรอบข้าง จำเป็นต้องอาศัยภาครัฐเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง 

 

 

แม้ว่าปัญหาการประท้วงบ้านรังนกของชาวบ้านจะเกิดขึ้นไม่กี่พื้นที่ของประเทศ แต่วิธีการที่ทำให้ปัญหานั้นไม่รุนแรงมีหลากหลายวิธี ซึ่งแนวทางที่ใช้แก้ปัญหาหลัก คือการนำประโยชน์ที่ได้จากรังนกบ้านกลับคือสู่ชุมชนนั้นๆ 

 

เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจบ้านรังนกต้องมีจิตสำนึก ตระหนักถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ บ้านรังนกของตน การจัดกิจกรรมคืนสู่สังคม การชักชวนให้ชาวบ้านดัดแปลงบ้านมาเพื่อทำบ้านรังนกเหมือนกัน การบริการตรวจสุขภาพ การจ้างงานในธุรกิจรังนกให้คนในพื้นที่ เป็นต้น 

 

ถึงแม้ว่าธุรกิจดังกล่าวจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่สูง แต่ก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบและความรับผิดชอบที่ตามมาด้วยเช่นกัน  

 

ในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามในการผลักดันกฎหมายบ้านรังนก ให้ทำถูกต้องตามกฎหมายเพื่อเพิ่มความสามารถในการส่งออกรังนกไปประเทศจีนมาก ขึ้น ปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมายโดยการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สามารถเก็บและครอบครองรังนกได้ ซึ่งทำให้รังนกที่ซื้อขายผ่านลานประมูลเป็นรังนกที่ค้าขายได้ถูกกฎหมาย 

 

แต่ในประเด็นของกฎหมายควบคุมอาคารยังไม่สามารถทำได้ เนื่อง จากบ้านหรือโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ต้องสร้างให้ห่างไกลชุมชนออกไป (zoning) เช่น โรงเลี้ยงหมู หรือไก่ 

 

 

จากปัญหาในส่วนนี้ นกแอ่นไม่ได้มีวิธีการเลี้ยงแบบสัตว์ประเภทอื่น เช่น หมูหรือไก่ กล่าวคือ เราไม่สามารถเคลื่อนย้ายนกแอ่นจากในเมืองไปเลี้ยงในตึกใหม่ได้ วิธีการที่ย้ายตึกออกไปจากเมืองจึงไม่ใช่วิธีที่สามารถปฏิบัติได้จริง ดังนั้นวิธีการที่จะแก้ปัญหาในส่วนนี้อาจมีหลากหลายรูปแบบ อาจจะต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ 

 

เช่น ให้ผู้ประกอบการเสียอากรเพิ่มขึ้นจากการทำธุรกิจรังนกและให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับชุมชนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสวัสดิการ หรือสาธารณะประโยชน์ หยุดการดัดแปลงอาคารเพื่อสร้างรังนกเพิ่มขึ้นและเริ่มให้ไปสร้างอาคารใหม่ในพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ห่างไกลชุมชน โดยไม่ต้องเสียค่าชดเชยให้สังคมแบบบ้านรังนกที่สร้างในเมือง ซึ่งวิธีดังกล่าวน่าจะช่วยให้ชุมชน และบ้านรังนกอยู่ร่วมกันได้ในท้ายที่สุด

 

หมายเหตุ : บทความนี้มาจากส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง “โครงสร้างตลาดของอุตสาหกรรมรังนกในประเทศ ไทย” ของผู้เขียนที่ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) และผู้เขียนขอขอบคุณคุณศรัณยพงศ์ วงษ์วิชาพานิช สำหรับการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลสำหรับการเขียนบทความนี้